posttoday

บูมเทศกาลเลขสวย สีสันออนไลน์กระทุ้งยอดขาย

11 ธันวาคม 2559

วันเวลาเลขสวยยังคงเป็นกิจกรรมกระตุ้นการใช้จ่ายบนช่องทางอี-คอมเมิร์ซได้อย่างต่อเนื่อง

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ, โชคชัย สีนิลแท้

ผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์เชื่อกิจกรรมลดราคาพิเศษมากๆ ผ่านวันเวลาเลขสวย 9/9 กับ 11/11 และ 12/12 ยังคงกระตุ้นการใช้จ่ายบนช่องทางอี-คอมเมิร์ซได้อย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นกิจกรรมที่นักช็อปต่างรอคอย เพราะมีแคมเปญที่น่าสนใจและดึงดูดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะการให้บริการในปัจจุบันสะดวกสบาย ชำระเงินง่าย และไม่ต้องเดินทาง

จิดานันท์ ตันพิทักษ์สิทธิ์ รองประธานฝ่ายบริหารแบรนด์ ประชาสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างองค์กร บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย เปิดเผยว่า พฤติกรรมการช็อปปิ้งออนไลน์ของคนไทยมีแนวโน้มเยอะขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการจัดกิจกรรมพิเศษอย่างเทศกาลคนโสด 11/11 นั้น ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว ผลตอบรับยังดีอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าในปีนี้ลาซาด้าจะเลื่อนการจัดเทศกาล 11/11 หรือเทศกาลคนโสดที่การซื้อขายสินค้าออนไลน์บนเว็บไซต์อาลีบาบา ซึ่งเป็นบริษัทแม่ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลเพียงวันเดียวทำยอดขายไปกว่า 1.78 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (6.23 แสนล้านบาท) ในขณะที่ประเทศไทยแม้จะเลื่อนกิจกรรมไปเป็นวันที่ 21/11 ก็ตาม การขายช่วง 12 ชั่วโมงแรก สามารถขายสินค้าได้กว่า 1.3 แสนชิ้น และเมื่อครบ 24 ชั่วโมง ทำได้ถึง 2.7 แสนชิ้น ในขณะที่ปี 2558 มียอดการสั่งซื้อรวมอยู่ที่ 1.4 แสนชิ้น ถือว่าเป็นการขายที่ทำได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จึงเรียกได้ว่าไม่กระทบกับภาพรวมการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม นักช็อปออนไลน์หน้าใหม่ในไทยยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งดีลที่บริษัททำไว้กับคู่ค้ายังคงได้รับความสนใจต่อเนื่อง เพราะเป็นดีลแบบเอ็กซ์คลูซีฟระหว่างลาซาด้ากับแบรนด์สินค้าชั้นนำของไทย แต่ปีต่อไปจะยังมีกิจกรรม 11/11 ในช่วงเวลาเดิมถือว่าเป็นการสานต่อเทศกาลนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนการจัดงานออนไลน์ซูเปอร์เซลส์ในวันที่ 12-14 ธ.ค.นั้น เชื่อว่าจะยังมีการเติบโตของนักช็อปออนไลน์ครั้งแรกเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากช่วงเวลาปกติ

ในปีที่ผ่านมา ลาซาด้าได้เพิ่มหมวดหมู่ให้แก่นักช็อปจาก 14 หมวด เป็น 17 หมวด ซึ่งการเพิ่มหมวดสินค้าเข้ามานั้นเป็นเพราะพฤติกรรมของนักช็อปยังคาดเดายาก จึงต้องหาประเภทและร้านค้าที่มีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองนักช็อปทุกกลุ่มที่ส่วนใหญ่ยังคงต้องการความสะดวกสบายด้านบริการ ขนส่ง ชำระเงิน และคืนสินค้า

ทั้งนี้ การจัดงานในเทศกาลพิเศษต่างๆ นั้น ลาซาด้ามองว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซยังมีโอกาสเติบโตได้เรื่อยๆ หากมองในแง่ของร้านค้า สินค้า และจำนวนนักช็อปที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งปี ซึ่งการจัดกิจกรรมทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ร่วมกันนั้นถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์อีกรูปแบบหนึ่ง แต่การที่ร้านค้าหน้าใหม่ต้องการจะเข้ามาทำตลาดออนไลน์นั้น ร้านค้าเองควรมองหาช่องทางที่มีความสะดวกสบาย เช่น บริการ จัดส่ง การคืนสินค้าและการชำระเงิน เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ซื้อเชื่อมั่นในแบรนด์และอยากสั่งซื้อสินค้าซ้ำมากขึ้น

จิดานันท์ กล่าวว่า ในปี 2560 ลาซาด้าเชื่อว่าจะมีร้านค้าใหม่ๆ เข้ามาในระบบมากขึ้นทั้งอินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์โลคัลแบรนด์และอินดิวิดัลแบรนด์ ซึ่งบริษัทยังคงต้องการร้านค้าหน้าใหม่เข้ามาในระบบอยู่ตลอด รวมทั้งเพิ่มดีลใหม่ๆ ที่น่าสนใจเพื่อเอาใจผู้บริโภคและกระตุ้นการใช้จ่ายในช่องทางออนไลน์มากขึ้น

เช่นเดียวกับ ชัยกรณ์ รอดรัก ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ท็อปแวลู คอร์ปอเรท ผู้ให้บริการเว็บไซต์ท็อปแวลู กล่าวว่า ท็อปแวลูเพิ่งเปิดให้บริการไม่นาน แต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะยังเป็นนักช็อปกลุ่มเดิมที่มีความคุ้นเคยในช่องทางออนไลน์อยู่แล้ว และยังคงกลับมาซื้อซ้ำเรื่อยๆ เพราะทราบว่าท็อปแวลูมีส่วนลดมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในกลุ่มองค์กรที่ซื้อสินค้าจำนวนมาก เพื่อนำไปจับรางวัล เช่น ทีวี ตู้เย็น มือถือ เป็นต้น

การขายสินค้าในช่วงวันที่ 11/11 นั้นถือว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติเพียงวันเดียวจาก 200-300 ออร์เดอร์เป็น 400 ออร์เดอร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 20% โดยในปีนี้ท็อปแวลูจะไม่ได้ขายสินค้าในวันที่ 12/12 แต่จะขายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสตั้งแต่วันนี้-ต้นปีหน้า เพราะเชื่อว่าลูกค้าต้องการสินค้าเพื่อนำไปใช้ในช่วงปลายปีจำนวนมากและต้องวางแผนเตรียมตั้งแต่ล่วงหน้า

แม้ว่าคนไทยจะเสพสื่อโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนกลุ่มนี้จะมั่นใจและซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งหมด เพราะคนไทยยังคุ้นเคยกับการเดินห้างสรรพสินค้า และซื้อสินค้าได้ทันทีไม่ต้องรอการจัดส่งที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยหลายชั่วโมงจนถึงหลายวัน แม้ว่าบริการด้านขนส่งของภาคเอกชนจะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่มูลค่าตลาดช็อปออนไลน์ก็ไม่ได้เติบโตมากเหมือนในต่างประเทศ ขนาดที่ผู้ให้บริการด้านการขนส่งต้องแข่งขันกันเอง เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการขนส่งขนาดนำโดรนมาใช้ในการจัดส่งสินค้า

มูลค่าในการใช้จ่ายแม้ว่าผู้บริโภคชาวไทยผ่านท็อปแวลูนั้น จะเห็นได้ว่ามีความกล้าที่จะซื้อสินค้าราคาแพงขึ้น เพราะมีโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิต และมีการรับประกันที่น่าเชื่อถือจึงเป็นแนวโน้มที่ดี ส่วนไตรมาสแรกของปีหน้าผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลสทุกราย จะมีการจัดเยียร์เซลส์เพื่อแข่งขันและกระตุ้นให้นักช็อปออนไลน์ทั้งหน้าเก่าและใหม่หันมาช็อปออนไลน์มากกว่าเดิม

ขณะที่ เทเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการช็อปปี้ (Shopee) แอพพลิเคชั่นซื้อขายออนไลน์บนมือถือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน กล่าวว่า การซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในมุมของช็อปปี้เองเพิ่งเปิดให้บริการมาเพียง 1 ปี มียอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นไปใช้งานแล้วกว่า 3 ล้านดาวน์โหลด ถือว่ามีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพราะช็อปปี้เข้ามาในช่วงที่สมาร์ทโฟนบูม จึงนำเสนอช่องทางการขายผ่านมือถือก่อนและเพิ่งเปิดให้บริการเว็บไซต์บนพีซีไม่นานมานี้

การจัดแคมเปญ “ช็อปปี้ ไนน์.ไนน์ โมบาย ช็อปปิ้ง เดย์" ในวันที่ 9 เดือน 9 นั้น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งการเลือกใช้วันที่ 9 เดือน 9 นั้น เป็นเพราะเลขสวยและประเทศไทยมีความชื่นชอบในเลขนี้ก็เลยจัดกิจกรรมขึ้นมา ซึ่งมีการสั่งซื้อในวันเดียวถึง 2 หมื่นออร์เดอร์ ยอดขายเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า แต่ก็มีการจัดกิจกรรมมาก่อนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1-8 ก.ย.แล้ว

ทั้งนี้ ในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ก็จะมีการจัดงาน Biggest 12.12 ever เป็นระยะเวลา 4 วัน คือ 12-15 ธ.ค. ซึ่งมีส่วนลดสูงสุดถึง 90% แฟลชเซลส์ทุก 3 ชั่วโมง โดยจะเป็นการขายสินค้าจากแบรนด์ดังชั้นนำประเภทเครื่องสำอาง เสื้อผ้าผู้ชายและผู้หญิง สินค้าแม่และเด็ก เป็นต้น ซึ่งเทรนด์การช็อปสินค้าปีหน้านั้น ช็อปปี้คาดว่าจะมีการเติบโตในทิศทางที่ดี เพราะคนไทยเปิดรับเทรนด์ใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว

การช็อปออนไลน์สำหรับคนไทยนั้นยังเรียกได้ว่าช็อปได้ทุกเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นวันสำคัญหรือวันเลขสวย ถือว่าเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายที่ดีอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อลดปัญหาการเดินทาง รวมทั้งสะดวกสบายในการสั่งซื้อสินค้า และภาคเอกชนก็มีระบบการสั่งซื้อ เก็บเงินและจัดส่งที่รัดกุมและน่าเชื่อถือมากขึ้น เรียกได้ว่าช็อปผ่านผู้ให้บริการเอกชน ปลอดภัยกว่าสั่งซื้อจากโซเชียลมีเดียที่ไม่มีความแน่นอน แต่ผู้ให้บริการด้านมาร์เก็ตเพลสเองก็ควรที่จะทำให้นักช็อปรู้สึกว่าเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้ เพื่อซื้อใจลูกค้าได้มากขึ้น

ด้านผู้ประกอบการขายตรงเครื่องสำอางยี่ห้อมิสทิน ซึ่งนำวันเลขสวยมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเป็นปีแรก อัญชลี สุวัฒน์วงศ์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ฟาริส บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) เจ้าของเครื่องสำอางมิสทินกล่าวว่า บริษัทได้เห็นความสำเร็จจากการอาลีบาบา ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจากประเทศจีนจัดกิจกรรมการตลาดออนไลน์แล้วประสบความสำเร็จในวันที่ 11 เดือน 11 ซึ่งเป็นวันคนโสดช็อปสินค้าราคาพิเศษจำนวนมากและประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงได้นำกลยุทธ์ดังกล่าวมาใช้ผ่านรูปแบบอี-คอมเมิร์ซเฉพาะผลิตภัณฑ์ฟารีส ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นจากมีระดับราคาขายหลัก 200-300 บาท จนถึง 9,000 บาท/ชิ้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 12 เดือน 12 เฉพาะผลิตภัณฑ์ฟาริสจะจัดให้มีการขายสินค้าผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซต่ำกว่าทุน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางราคาต่อชุด 1 ชุด จำนวน 12 ชิ้น ราคา 1,212 บาท จากปกติราคาขาย 4,700 บาท โดยจะเปิดขายในวันที่ 12 เดือน 12 ธ.ค. 2559 เพียงวันเดียว ตั้งแต่เที่ยงวันเวลา 12.12 น. ถึงเที่ยงคืน 12.12 น. หรือ 12 ชั่วโมง คาดว่ากิจกรรมดังกล่าวจะทำให้มียอดขายไม่ต่ำกว่า 1,000 ชุด โดยผู้สนใจสามารถสั่งซื้อผ่านทางไลน์ของฟาริส หรือผ่านสาวจำหน่ายมิสทิน ซึ่งสาวจำหน่ายมิสทินหากมีการสั่งซื้อสินค้าไปจำหน่ายราคาขายทางบริษัทจะลดลงต่อชุดเพิ่มอีก 12% ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่สนใจของสาวมิสทินหากจะมีการสต๊อกสินค้า หรือนำสินค้าที่ซื้อในโปรโมชั่นชุดนี้ไปแยกเป็นชิ้นขายต่อ โดยผู้ซื้อสามารถชำระผ่านบัตรเครดิตได้ทันทีและรับสินค้าได้ที่บ้าน

"การขายสินค้าในยุคปัจจุบันหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วที่จะไม่ใช้ช่องทางออนไลน์แม้แต่การซื้อเนื้อสัตว์ หรือของสดไปเพื่อทำอาหารในต่างประเทศก็มีให้เห็นแล้ว ขณะที่ในไทยนั้นถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่ก็มีแนวโน้มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจากระบบโทรคมนาคมได้พัฒนาระบบสัญญาณที่ดีขึ้น หลังจากเกิด 4จี พัฒนาไปสู่ 4.5จี ส่งผลให้การซื้อสินค้าออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซนั้นทำได้สะดวกมากขึ้น รวมไปถึงนโยบายของภาครัฐที่เดินหน้าสนับสนุน ยิ่งจะทำให้ช่องทางการขายแบบอี-คอมเมิร์ซนั้นเติบโต" อัญชลี กล่าว

สำหรับในปี 2560 จะเห็นรูปแบบกิจกรรมการตลาดของบริษัทหันมาให้น้ำหนักกับช่องทางการขายผ่านอี-คอมเมิร์ซและออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางการขายที่กำลังมาแรง ซึ่งการทำกิจกรรมการตลาดในรูปแบบนี้นั้นจะต้องทำให้มีการพูดแบบปากต่อปาก กระแสการซื้อสินค้าผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซนี้จึงจะเกิดขึ้นแรง ปัจจุบันผลิตฟาริสมีฐานสมาชิกอยู่ประมาณ 1 แสนคน ขณะนี้ฐานสมาชิกทั้งหมดสาวมิสทินและแค็ตตาล็อก ฟรายเดย์ จำนวนกว่า 6 แสนคน ที่มียอดจำหน่ายแอ็กทีฟหรือมีการซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง

โอกาสของออนไลน์

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2559 พบว่า ในภาพรวมคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือ 6.4 ชั่วโมง/วัน โดยสมาร์ทโฟนยังคงเป็นอุปกรณ์หลักที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากถึง 85.5% และมีจำนวนชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ย 6.2 ชั่วโมง/วัน สูงกว่าปี 2558 ที่มีผู้ใช้งาน 82.1% และใช้งานโดยเฉลี่ย 5.7 ชั่วโมง/วัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลปีล่าสุด กิจกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่หรือสมาร์ทโฟน พบว่า ใช้เพื่อซื้อสินค้าและบริการ 38.4% และเพื่อขายสินค้าและบริการ 22.3% ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี และสะท้อนถึงจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจของตลาดออนไลน์ที่มากขึ้นและมีมูลค่ามหาศาล หากสามารถเข้าถึงลูกค้าออนไลน์ที่มากขึ้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าในงาน Thailand Online Mega Sale 2016 พบว่า นักช็อปในงานนี้มีอายุระหว่าง 20-29 ปี มากที่สุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 44% รองลงมาคือช่วงอายุ 30-39 ปี มีสัดส่วน 30% สำหรับวัย 40-49 ปี มีสัดส่วนเพียง 14%

สำหรับสินค้าที่นิยมซื้อมากที่สุด คือ สินค้าสุขภาพและความงาม คิดเป็นสัดส่วนการซื้อสินค้า 41% ขณะที่สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต (ปีที่แล้วติดอันดับ 1) และสินค้าแฟชั่น มีผู้ช็อป 29% เท่ากัน สำหรับทางด้านช่องทางการชำระเงิน 3 อันดับแรก พบว่า มีการซื้อสินค้าผ่านบัตรเครดิตมากที่สุด 37% การโอนเงินผ่านธนาคาร 29% การโอนเงินออนไลน์ 18%

นี่คือภาพสะท้อนพฤติกรรมการช็อปปิ้งออนไลน์ของคนไทย ซึ่งถือเป็นช่องทางแห่งอนาคต แต่จะทำอย่างไรจะให้โดนใจผู้บริโภค