posttoday

"บางสะพานโมเดล" ก้าวเล็กๆสะท้อนปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์รพ.รัฐ

08 ธันวาคม 2559

โครงการก้าวคนละก้าวของตูน บอดี้สแลม สะท้อนปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐขนาดกลางทั่วประเทศ

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

โครงการ “ก้าวคนละก้าว” ของร็อกเกอร์หนุ่ม ตูน บอดี้สแลม ระยะทาง 400 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ - บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อระดมทุนช่วยเหลือโรงพยาบาลบางสะพานที่กำลังขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ สร้างกระแสไปทั่วสังคม 

ล่าสุดยอดบริจาคพุ่งสูงถึง 30 ล้านบาทแล้ว ตูนบอกว่า เป้าหมายของการวิ่งครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อแข่งความเร็วกับใคร แต่เป็นการกระจายปัญหานี้ให้คนได้รับรู้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

คำถามน่าสนใจคือ สถานการณ์การขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศนั้นเป็นอย่างไร

ปรากฏการณ์"วิ่งเพื่อ รพ.บางสะพาน"

จุดเริ่มต้นของโครงการ "ก้าวคนละก้าว" มาจาก นพ.เชิดชาย ชยุวัฑโฒ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพาน ที่มีไอเดียอยากจัดงานวิ่งเพื่อสุขภาพขึ้นใน อ.บางสะพาน โดยต้องการเชิญคนดังมาเป็นสีสันดึงดูดผู้คน 

“กระแสการวิ่งเพื่อสุขภาพกำลังมาแรง พอเราประชุมกันว่าจะจัดงาน ผมนึกถึงคุณตูนเลย เพราะเขาวิ่งประจำ มีบ้านพักอยู่ที่นี่ แถมด้วยความที่รู้จักกับคุณแดงเจ้าของร้านเบเกอรี่ในพื้นที่ด้วย ทำให้การติดต่อประสานงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผมบอกคุณตูนว่า ต้องการให้คนบางสะพานได้วิ่งออกกำลังกาย ถ้ามีเงินเหลือก็จะเอามาซื้อเครื่องมือแพทย์ที่กำลังขาดแคลน” 

หมอเชิดชาย บอกว่า ตูนตอบตกลงและขออนุญาตเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ซึ่งตอนแรกตั้งใจว่าจะวิ่งกันแค่เฉพาะในพื้นที่บางสะพานเท่านั้น แต่สุดท้ายเขาต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อส่งมอบประโยชน์ให้กับรพ. เลยกลายเป็นวิ่งคนเดียวจากกรุงเทพฯไปบางสะพาน จนเกิดเป็นกระแสวงกว้างดังที่เห็น

คำกล่าวของคุณหมอสอดคล้องกับที่ร็อกเกอร์หนุ่มให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า หลังจากมานั่งคิดและคำนวณต้นทุนการจัดการหลายอย่างแล้ว การวิ่งคนเดียวจากกรุงเทพฯ เพื่อปลุกกระแสและเรี่ยไรเงิน นำไปให้ที่บางสะพาน น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด 

“เราจะใช้การวิ่งนี้สื่อสารปัญหาที่มีอยู่ให้กับคนได้รับรู้ในวงกว้างที่สุด สาระไม่ได้อยู่ที่การวิ่ง 400 กิโลเมตร ไม่ต้องไปถึงเร็วที่สุด ไม่ต้องแข่งกัน แต่สาระคือเราใช้การวิ่งเป็นเครื่องมือในการบอกกล่าวส่งสารออกไปว่าตรงนี้ต้องการความช่วยเหลือและขาดแคลน”  

สำหรับ รพ.บางสะพานมีขนาด 90 เตียง เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อระดับกลาง (Middle – level Hospital)  หรือโรงพยาบาลแม่ข่าย M2 เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนประเทศที่กำลังพัฒนา 

“โรงพยาบาลขนาดกลางมีอยู่กว่า 80 แห่งทั่วประเทศ ตั้งอยู่ตามอำเภอขนาดใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น ปัญหาคือโรงพยาบาลประเภทนี้มีแพทย์เฉพาะทางจำนวนน้อย บางแห่งไม่ครบทุกสาขา ที่สำคัญยังขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือในการรักษา ซึ่งต้องเข้าใจว่า แม้จะเป็นขนาดกลาง แต่ความคาดหวังของคนไข้นั้นสูงเทียบเท่ากับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ถือเป็นแรงกดดันให้กับแพทย์และพยาบาลมาก” 

แม้ รพ.บางสะพาน จะระบุว่า มีขนาดรองรับผู้ป่วยได้ 90 เตียง แต่สภาพความเป็นจริง ต้องรองรับผู้ป่วยเฉลี่ย 150 เตียง สูงสุดถึง 180 เตียงในแต่ละวัน รองรับผู้ป่วยนอกอีกวันละ 400 ราย และมีคนไข้คลอดบุตรเฉลี่ยเดือนละ 90-100 คน

หมอเชิดชาย เปิดเผยว่า อุปกรณ์การแพทย์เร่งด่วนที่ต้องใช้งบประมาณจำนวน 4-5 ล้านบาทในการจัดซื้อ ประกอบด้วย 1.โคมไฟส่องรักษาแก้ภาวะตัวเหลืองในทารก มูลค่า 2.5 แสน ความต้องการ 1-2 เครื่อง 2.เครื่องบันทึกการบีบตัวของมดลูกและอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ มูลค่า 3.5 ความต้องการ 2 เครื่อง 3.เครื่องนึ่งฆ่าเชื้อด้วยแรงดันไอน้ำ มูลค่า 4.6 แสนบาท ความต้องการ 1 เครื่อง

4.ตู้อบเด็กแบบเคลื่อนย้าย มูลค่า 6.5 แสนบาท ความต้องการ 1 เครื่อง 5.เครื่องรักษาด้วยคลื่นกระแทก-เครื่องช็อคเวฟ มูลค่า 8 แสนบาท ความต้องการ 1 เครื่อง 6.เครื่องตรวจอวัยวะภายในด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง มูลค่า 2 ล้านบาท ความต้องการ 1 เครื่อง 

ส่วนงบประมาณที่เหลือจากโครงการ จะนำไปจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับการขยายโรงพยาบาลต่อไป

ผอ.รพ.บางสะพาน กล่าวว่า โครงการก้าวคนละก้าว เป็นปรากฎการณ์ใหม่ของสังคมไทย สะท้อนมิติของความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งตูน สามารถสร้างกระแสให้คนทั้งประเทศเห็นพ้องต้องกันในปัญหาใหญ่นี้ได้ 

“ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจ ร่วมมือกันแก้ปัญหา ซึ่งเราเห็นแล้วว่า เพียงแค่คนละไม้คนละมือ เมื่อรวมกันก็กลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้”

"บางสะพานโมเดล" ก้าวเล็กๆสะท้อนปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์รพ.รัฐ ภาพจากเฟซบุ๊ก bodyslam

"เงินไม่มี เครื่องมือไม่พอ"ปัญหาใหญ่โรงพยาบาลขนาดกลาง

กระทรวงสาธารณสุข แบ่งโรงพยาบาลออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.โรงพยาบาลรับส่งต่อระดับต้น (First – level Hospital) 2. โรงพยาบาลรับส่งต่อระดับกลาง (Middle – level Hospital) และ 3.โรงพยาบาลรับส่งต่อระดับสูง แต่ละระดับมีปัญหาแตกต่างกันออกไป โดยหลักใหญ่คือ ปัญหาเรื่องการขาดแคลนงบประมาณที่รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรให้ทุกแห่งได้รับตามความต้องการ 

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชระไพบูลย์ อดีตเลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า รพ.ขนาดกลางหรือระดับชุมชน มีรายได้หลักจากงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)  สวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม และ การจ่ายเงินตามความสมัครใจหรือบริจาค

“คนที่มีรายได้มากก็มักเลือกไปโรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ รายได้หลักของโรงพยาบาลขนาดกลาง มาจากบัตรทอง ซึ่งพอหล่อเลี้ยงให้อยู่รอดได้เท่านั้นในแต่ละปี บางแห่งอาจจะมีกำไร สามารถนำเงินไปซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์อื่นๆ ได้บ้าง บางแห่งอาจขาดทุน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ งบประมาณ และความสามารถในการบริหารจัดการ โดยรวมแล้วรายรับไม่มาก พัฒนากันได้เท่าที่มีกำลัง” 

นพ.พงศ์เทพ  บอกต่อว่า งบประมาณที่ภาครัฐจัดให้ในแต่ละปีนั้นไม่สอดคล้องกับการเติบโตของเทคโนโลยีและมาตรฐานการรักษาที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

“เมื่อก่อนเรายังรักษาโรคกระเพาะด้วยยาธาตุน้ำขาว ยาลดความดันอดีตมีเพียง 3 ตัว ปัจจุบันมี 20 ตัว หรือโรคหัวใจ โรคไต ในอดีตมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น เทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้า คนอายุยืนมากขึ้น มาตรฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่งบประมาณประเทศวิ่งตามไม่ทัน ทำให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องดิ้นรน หาเงินเพื่อหล่อเลี้ยงและพัฒนาตัวเอง   

“กระทรวงสาธารณสุขมีภาระมาก เวลาของบประมาณจึงยากที่จะได้รับในแบบที่ตัวเองต้องการ นึกภาพพ่อแม่มีลูกเยอะ แต่มีเงินจำกัด ให้พี่น้องก็ไม่ได้ ทุกคนต้องพัฒนา แต่มันไม่เพียงพอ อยู่กันแบบประคับประคอง อดทนกันไป ใช้จ่ายตามความจำเป็น มีน้อยใช้น้อย”

งบประมาณที่ไม่เพียงพอ นอกจากทำให้ความสามารถในการรักษาต่ำลงแล้ว อีกหนึ่งปัญหาสำคัญก็คือ การหนีหายของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากไม่มีเครื่องมือในการรักษาและพัฒนาตัวเองไปสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

“นึกภาพอย่าง โรงพยาบาลบางสะพาน มีหมอกระดูก มีหมออายุรกรรม มีหมอผ่าตัด แต่อุปกรณ์ขาดแคลน หมออยู่ 2 ปี เขาก็ขอย้ายเลย เพราะอยากมีความชำนาญในเรื่องนั้น ดึงคนเก่งไว้ไม่ได้ มันก็เสียระบบ  นี่คือภาพความจริงของโรงพยาบาลขนาดกลางที่ถูกคาดหวังสูงในดูแลรักษา เหมือนเด็กที่กำลังเติบโต ต้องการอาหารเยอะ แต่ทรัพยากรจากภาครัฐมีไม่เพียงพอ” 

อดีตเลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท บอกว่า ไม่สามารถเจาะจงได้แน่ชัดถึงอุปกรณ์การแพทย์ที่โรงพยาบาลขนาดกลางขาดแคลน เนื่องจากความต้องการแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ดีส่วนมากหนีไม่พ้น เครื่องมือวินิจฉัยพื้นฐาน เช่น  เครื่องช่วยหายใจ เครื่องโมนิเตอร์ตรวจวัดการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด

“ความต้องการอุปกรณ์ขึ้นอยู่กับความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์เดิม หรือความต้องการพัฒนาการทำงานด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆ ที่ทันสมัย”

"บางสะพานโมเดล" ก้าวเล็กๆสะท้อนปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์รพ.รัฐ

อยู่รอดได้ด้วยการ"ร่วมจ่าย ร่วมบริจาค"

“วิธีจัดการงบประมาณ ที่ผ่านมาหลักๆ มีสองอย่างคือ หนึ่งลดการบริโภคและสองหาเงินเพิ่มผ่านกิจกรรมการกุศลต่างๆ เงินที่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของงานและพื้นที่ชุมชนแต่ละแห่ง อย่าง โครงการก้าวคนละก้าวของตูน ถือเป็นการหารายได้ขนาดใหญ่ สร้างการรับรู้ในวงกว้าง นับว่าน่าสนใจมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้เเบบนั้น” 

นพ.พงศ์เทพ บอกว่า การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์การแพทย์ในภาพใหญ่ อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการ “ให้ประชาชนร่วมจ่ายในลักษณะบริจาค”

“ต้องร่วมกันจ่ายในลักษณะบริจาคหรือความสมัครใจ ไม่ได้กำหนดเป็นเปอร์เซนต์ เพราะ 10 เปอร์เซนต์ของคนรวยและคนจนนั้นมีความหมายแตกต่างกัน จึงต้องกำหนดเป็นรูปแบบบริจาคซึ่งอาจมีสิทธิประโยชน์บางอย่างตอบแทนให้ เช่น สิทธิด้านการลดหย่อนภาษี และทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจกับการเสียสละ”

อดีตเลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท ทิ้งท้ายว่า ทางออกที่ยั่งยืน รัฐบาลต้องหาวิธีและการสื่อสารที่ทำให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า โรงพยาบาลรัฐในประเทศเรากำลังแย่ เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเหมือนกับที่ตูน บอดี้สแลมทำ