posttoday

"ปลดแอกโรงสี-ขายข้าวเอง" ทางรอดชาวนา

13 พฤศจิกายน 2559

ปัญหาข้าวที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงแต่รัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหาเท่านั้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ทางรอดชาวนาไทยในยุคราคาข้าวเปลือกวิกฤต “ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” ในฐานะนักวิชาการที่ผันตัวเองมาตั้งกลุ่มปลูกข้าวเครือข่ายนาข้าวคุณธรรม เป็นกลุ่มชาวนาจริงๆ ที่ปลูกข้าวอินทรีย์ อนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองและทำนาเองแบบครบวงจรตั้งแต่ปลูก แปรรูป และจำหน่ายเอง ที่สำคัญไม่พึ่งระบบโรงสี กล่าวว่า ทางรอดของชาวนาไม่ใช่วิธีการที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในตอนนี้ ทางรอดของชาวนา คือ การจัดโครงสร้างขายข้าวใหม่ทั้งระบบแบบถาวรด้วยการช่วยส่งเสริมชาวนาลดต้นทุนการผลิตข้าว พร้อมกับการพัฒนาชาวนาไทยให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ได้นั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องจริงใจสนับสนุน หาหนทางลดต้นทุนการผลิตข้าวให้กับชาวนา

วิธีการหนึ่ง คือ การสนับสนุนให้ชาวนารวมกลุ่มกันเล็กๆ ภายในหมู่บ้านละ 4-5 ครัวเรือน เพื่อจัดซื้อเครื่องสีข้าวขนาดเล็กที่ราคาย่อมเยาเครื่องละหมื่นกว่าบาทสีข้าวไว้บริโภคเองในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่ายในครอบครัว และผลผลิตที่เหลือนำมารวมกันเอาไปจำหน่ายออกสู่ตลาด แทนการขายข้าวเปลือกให้กับโรงสีเพียงอย่างเดียว   

“ถูกต้องแล้วที่รัฐหรือประชาชนทั่วไปช่วยกันสนับสนุนให้ชาวนาขายข้าวต่อผู้บริโภค อาจขายผ่านระบบหมู่บ้าน สหกรณ์ หรือขายทางออนไลน์ ดังนั้นเมื่อชาวนามีเครื่องสีข้าวเป็นของตัวเองก็สามารถสีข้าวไว้กินเองช่วยลดค่าใช้จ่าย จากนั้นเมื่อผลผลิตข้าวเหลือกิน จึงค่อยๆ รวมตัวกันต่อยอดนำผลผลิตออกไปจัดจำหน่ายกันเอง ไม่จำเป็นต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหรือโรงสีอีกต่อไป”

ปัญหาข้าวที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงแต่รัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหาเท่านั้น เพราะปัญหาข้าวมี 2 ส่วน คือ โครงสร้างตลาดข้าวกับชาวนา โครงสร้างตลาดข้าวในประเทศไทยสัดส่วนโรงสีกับชาวนาไม่สัมพันธ์กัน เพราะชาวนาส่วนใหญ่เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้วจะนำไปขายให้กับโรงสีทันที โดยที่ตัวเองไม่ได้เก็บข้าวไว้สีกินเอง ยิ่งปัจจุบันชาวนาใช้ระบบจ้างเครื่องจักรเกี่ยวข้าว แถมข้าวที่เกี่ยวได้ก็มีความชื้นสูงย่อมถูกโรงสีกดราคาตามมา

“ข้าวเปลือกที่ปลูกได้ทั้งหมดของชาวนาไปขายให้โรงสี แต่ตัวชาวนาต้องไปซื้อข้าวสารแพงๆ กิน พูดง่ายๆ ชาวนาผลิตข้าวเพื่อขายโรงสีอย่างเดียว เพราะชาวนาไม่มีโรงสีเป็นของตัวเอง ข้าวเปลือกทุกเมล็ดที่ผลิตได้จึงไปอยู่ในมือโรงสี จึงทำให้มีอำนาจต่อรองสูง”

ณรงค์ กล่าวว่า ตลาดข้าวภายในประเทศประมาณ 55% กินในประเทศ ที่เหลือ 45% ส่งออกต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อข้าวเปลือกอยู่ในมือโรงสีที่แปรรูปเป็นข้าวสารจึงมีราคาแพง เพราะอำนาจต่อรองอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางและโรงสี ขณะที่ปัจจุบันต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกขั้นตอนการผลิตชาวนาจ้างหมดตั้งแต่ไถ หว่าน หรือเกี่ยว จ้างเครื่องจักรทั้งสิ้น เพราะชาวนาขาดแคลนแรงงาน ยิ่งต้นทุนการผลิต อาทิ ปุ๋ย สารเคมี ยาปราบศัตรูพืช และพันธุ์ข้าว ต้องซื้อจากนายทุนซึ่งมีบริษัทยักษ์ใหญ่คุมตลาดสินค้าเหล่านี้อยู่เพียงไม่กี่รายในประเทศ ดังนั้นราคาข้าวที่ตกต่ำแท้จริงคือ ราคาขาดทุนจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมากกว่าราคาตลาดที่เป็นอยู่เสียด้วยซ้ำ เพราะถึงแม้ราคาข้าวตกต่ำจริง ถ้าต้นทุนการผลิตต่ำ ชาวนาก็อยู่รอดได้

“เมื่อก่อน เวลาเก็บเกี่ยวข้าว ชาวนาจะมียุ้งฉาง ลานตากข้าว บ่มข้าว เกี่ยวข้าวกันเอง ใช้แรงงานไม่ได้ใช้เครื่องจักร แต่ตอนนี้จ้างเครื่องจักรเครื่องมือกันหมด เช่น จ้างเครื่องเกี่ยวแน่นอนความชื้นย่อมต้องสูง เพราะรีบเอาไปขาย ไม่ได้ตาก หรือบ่มข้าว พอเอาไปขายให้กับโรงสีจึงโดนกดราคา ต่างจากในประเทศเวียดนาม รัฐบาลจัดรถไถ รถหว่าน หรือรถเกี่ยวให้บริการชาวนาของตัวเอง เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ชาวนา”

ณรงค์ กล่าวว่า ความจริงใจของรัฐบาล คือ ภาครัฐข้าราชการต้องสนับสนุน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าข้าราชการบางส่วนสนับสนุนนายทุนบริษัทใหญ่ เช่น พันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทเอกชน จึงไม่สนับสนุนให้ชาวนารวมกลุ่มสีข้าวเอง ปลูกข้าวพันธุ์ที่เพาะเอง หรือปลูกข้าวปลอดสารพิษ หรือออร์แกนิก ซึ่งการปลูกข้าวออร์แกนิก หรือข้าวปลอดสารพิษ เป็นวิธีการลดต้นทุนการผลิตได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นทางรอดสำคัญของชาวนาไทย

กนกพร ดิษฐกระจันทร์ ที่ละทิ้งงานในโรงงานอุตสาหกรรมกลับบ้านเกิดมาปลูกข้าวอินทรีย์ จนได้รับยกย่องให้เป็นประธานกลุ่มส่งเสริมการเกษตร อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี หนึ่งในเครือข่ายนาข้าวคุณธรรม กล่าวว่า ความหมายของสมาร์ทฟาร์มเมอร์จริงๆ ไม่ใช่แค่จำกัดนิยามว่าต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีทุน เทคโนโลยีและมีความรู้แล้วหันมาทำนาปลูกข้าวเท่านั้น แต่ความหมายจริงๆ คือ เกษตรกรที่กล้าเปลี่ยนวิธีคิด และเปลี่ยนวิถีชีวิตในการทำนาปลูกข้าวตั้งแต่กระบวนการผลิต ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ คือ ปลูกข้าวเอง แปรรูป หรือสีข้าวเอง และจัดจำหน่ายข้าวสารเอง โดยไม่พึ่งพิงการขายข้าวเปลือกให้กับโรงสีหรือพ่อค้าคนกลาง ดังนั้นการพึ่งพิงตนเองได้ ชาวนาต้องมียุ้งฉางหรือโรงสีเป็นของตัวเอง หรือการรวมพลังกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนในชุมชนเพื่อผลิต แปรรูปและขายข้าวเอง อาจกล่าวได้ว่า นี่คือทางรอดของชาวนาก็ว่าได้  

“ทุกวันนี้ชาวนาทำข้าวไม่ค่อยได้คุณภาพมากนัก เพราะไปพึ่งพิงพันธุ์ข้าวที่ภาครัฐและบริษัทเอกชนแนะนำ คือ ข้าวอายุสั้น 90-100 วัน ก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว จึงได้ข้าวที่มีคุณภาพแป้งน้อย และที่สำคัญเป็นพันธุ์ข้าวที่อยู่รอดได้ด้วยปุ๋ยกับยาปราบศัตรูพืช นี่คือกับดักที่ชาวนากำลังเผชิญอยู่”

กนกพร กล่าวว่า สมาร์ทฟาร์มเมอร์ต้องไม่ใช่ทำนาเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถอยู่รอดได้ แต่ต้องปลูกพืชทุกอย่างที่กินได้ ตั้งแต่ผักผลไม้ หรือแม้แต่เลี้ยงสัตว์ กล่าวง่ายๆ คือทุกอย่างที่มนุษย์กินได้ชาวนาต้องเพาะปลูก เพื่อสร้างสมดุลต่อธรรมชาติ ถือเป็นวิธีหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิต เพราะปัจจุบันการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวจะทำให้ชาวนาเผชิญกับต้นทุนชีวิตและเผชิญความเสี่ยงที่สูงมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ นโยบายนาแปลงใหญ่ ชาวบ้านถูกมอมเมาให้ปลูกข้าว คือ พืชเชิงเดี่ยว ต้องพึ่งพาพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยา และเทคโนโลยีเก็บเกี่ยว ที่ภาครัฐและบริษัทเอกชนแนะนำทั้งหมด หากเกิดวิกฤตโรคระบาดหรือศัตรูข้าวลงนาก็จะเจ๊งกันยกนา

“ชาวนาบางแห่งปลูกข้าวใส่ปุ๋ย คร็อป หรือรอบการผลิตละ 3-4 ครั้ง พอๆ กับใส่ยาฆ่าหญ้า แรกๆ อาจใช้สูตรหรือยาฤทธิ์อ่อนๆ แต่พอนานไป ต้องเพิ่มปริมาณทั้งปุ๋ยและยามากขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าต้นทุนชีวิตด้านสุขภาพจะเสี่ยงแค่ไหน แล้วใครกันที่ได้ประโยชน์มากที่สุดถ้าไม่ใช่พ่อค้าขายปุ๋ยกับยาฆ่าหญ้า นี่คือกับดักที่ชาวนายังข้ามไปไม่พ้นหากยังทำนาเป็นพืชเชิงเดี่ยวอยู่แบบนี้”