posttoday

"ห้องประทับชั้น 16 รพ.ศิริราช"...วันที่พ่อไม่อยู่

20 ตุลาคม 2559
1.1 m

"ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ" เรื่องเล่าจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้ดูแลลิฟท์ที่ขึ้นไปยังที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เรื่องและภาพโดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

13 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่พสกนิกรชาวไทยโศกเศร้าอย่างหาที่สุดมิได้ หลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

วันนี้ผ่านมาจนครบหนึ่งสัปดาห์ บรรยากาศภายในโรงพยาบาลศิริราชซึ่งเต็มไปด้วยประชาชนจำนวนมากเดินทางมาเพื่อถวายพระพร

เวลานี้ช่างดูเงียบเหงา ...

นิพนธ์ ชาติปรีชากุล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยโรงพยาบาล รับผิดชอบดูแลอาคารเฉลิมพระเกียรติซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เล่าว่า ทำงานที่ศิริราชมา 17 ปีแล้ว เคยถวายงานรับใช้พระบรมวงศานุวงศ์มาแล้วหลายพระองค์ ตั้งแต่ช่วงที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จฯมาประทับที่ศิริราช เรื่อยมาจนกระทั่งในหลวงเสด็จมาประทับตั้งแต่ปี 2552 จวบจนถึงปัจจุบัน

"ครั้งแรกที่ทราบข่าวว่าพระองค์ทรงพระประชวรต้องมาพักรักษาที่ศิริราช ผมกับเพื่อนก็ตกใจ แต่ขณะเดียวกันก็ภาคภูมิใจ เพราะได้รับเลือกเป็นหนึ่งในรปภ. 18 คนที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ โดยทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ลิฟต์ คอยถวายงานรับส่งเสด็จพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นลงอาคาร มีอยู่ครั้งหนึ่งผมกดลิฟต์รับส่งเสด็จ ซึ่งอยู่ภายในลิฟต์เดียวกับพระองค์ พอถึงชั้นล่างในหลวงท่านทรงเสด็จออก และได้หันกลับมาตรัสว่า 'ขอบใจนะ' แม้เพียงคำสั้นๆก็ถือว่าเป็นความภูมิใจมากที่สุดในชีวิต

"ห้องประทับชั้น 16 รพ.ศิริราช"...วันที่พ่อไม่อยู่ นิพนธ์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยถ่ายรูปคู่กับลิฟท์โดยสารหมายเลข 7

นิพนธ์ เล่าอีกว่า ในหลวงทรงมีพระเมตตามาก ครั้งหนึ่งเป็นวันพระคล้ายวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม ช่วงกลางวันหลายหน่วยงานจะนำเค้กและแจกันดอกไม้มาถวายจำนวนมาก แต่วันนั้นช่วงดึกหลังจากที่ทุกคนที่มาถวายพระพรกลับหมด พระองค์ก็ให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังตัดแบ่งเค้กมาพระราชทานให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ถวายงานตั้งแต่เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ทหาร ตำรวจ รวมถึงพวกตนที่เป็น รปภ. ทำให้ทุกคนรู้สึกทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ส่วนแจกันกอกไม้พระองค์ จะพระราชทานให้ตามห้องพยาบาล (วอร์ด)คนไข้ในอาคารต่างๆ นอกจากนี้ทุกปีพระองค์มักจะพระราชทาน ส.ค.ส. ให้แก่เจ้าหน้าที่ด้วย

"การปฏิบัติงานช่วงที่พระองค์ประทับอยู่ศิริราช รปภ.ที่มี 18 คน จะแบ่งกำลังกันเป็น 3 ชุดโดยจะทำงานวันละ 2 ชุด ผลัดแรกเริ่มตั้งแต่ 07.00-19.00 น. และผลัดสอง 19.00-07.00 น. สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน วันใดได้รับแจ้งว่าพระองค์จะเสด็จไปข้างนอก จะต้องเตรียมลิฟต์หมายเลข 7 ขึ้นไปรอรับพระองค์ที่ชั้น 16 ซึ่งเป็นชั้นที่ประทับ แต่ถ้าวันใดพระองค์ไม่เสด็จออกข้างนอกเจ้าหน้าที่ รปภ.ประจำอาคารจะทำหน้าที่กดลิฟต์รับส่งประชาชน เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังตามปกติ เพราะพระองค์เคยรับสั่งว่า ไม่อยากทำให้ประชาชน และผู้ป่วยที่มาติดต่อรักษาต้องเดือดร้อน"

"ห้องประทับชั้น 16 รพ.ศิริราช"...วันที่พ่อไม่อยู่ ทีมรปภ.ประจำอาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.ศิริราช

นิพนธ์ เล่าอีกว่า วันนี้ที่พระองค์ไม่ได้ประทับอยู่ที่ศิริราชอีกแล้ว ทุกอย่างเงียบเหงาอ้างว้างมาก ต่างจากช่วงเวลาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เพราะปกติมักจะมีผู้คนเดินทางมาลงนามลงนามถวายพระพรและรอเฝ้ารับเสด็จจำนวนมาก ซึ่งเป็นบรรยากาศที่คุ้นเคย แต่วันนี้พระองค์ไม่อยู่ส่วนตัวก็ยังคงต้องมาประจำจุดที่เดิม คอยดูแลตรวจตราให้บริการประชาชนตามเดิม แม้บรรยากาศที่นี่จะเปลี่ยนไป แต่ประสบการณ์ที่เคยได้รับใช้พระองค์จะเก็บไว้ในความทรงจำตลอดไป

"วันนี้อยากบอกพระองค์ท่านว่า ผมและเพื่อนๆดีใจที่มีโอกาสรับใช้ถวายงานให้กับในหลวง ถึงแม้ว่าต่อจากนี้จะไม่มีโอกาสนั้นแล้ว แต่ยังไงทุกคนจะจดจำภาพนั้นไปตลอดชีวิต และจะยึดมั่นปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์"

ศุภกิจ สุวรรณไตรย์ อาจารย์สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำงานอยู่ที่คลินิกอายุรเวทแพทย์แผนไทยประยุกต์ ชั้น 7 ของอาคารศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งเป็นสถานที่หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มักเสด็จมาพักผ่อนอิริยาบถระหว่างเข้ารับการรักษา เล่าว่า ตั้งแต่พระองค์เสด็จมาประทับที่ศิริราชปี 2552 ได้เดินทางมาเยี่ยมชมคลินิกแห่งนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2554

ครั้งแรกที่พระองค์เสด็จมาจำได้ดีว่า ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่ได้เตรียมตัวรับเสด็จก่อนล่วงหน้ามาก รู้เพียงก่อนเวลาเสด็จเพียง 15 นาทีเท่านั้นซึ่งก็เป็นเช่นนี้ทุกครั้งจากนั้นเรื่อยมา และเมื่อเสด็จขึ้นมาถึงชั้น 7 เจ้าหน้าที่จะเตรียมพื้นที่บริเวณห้องโถง ซึ่งเป็นจุดที่มองเห็นทัศนียภาพรอบโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา พระบรมมหาราชวัง และฝั่งพระนครทั้งหมดให้พระองค์ได้ประทับ โดยช่วงเวลาที่พระองค์มักเสด็จมาประมาณ 16.00น. หรือ 17.00 น. โดยใช้เวลาอยู่ 50 นาที เพื่อพักผ่อนอิริยาบถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่คณะผู้ติดตามที่มาเพียงไม่กี่คน และตนมาทราบภายหลังว่า พระองค์เสด็จมาทรงงานด้วย โดยจะมาคอยดูระดับการขึ้นลงของน้ำ เพื่อมานำไปประกอบการทรงงานของพระองค์ บางครั้งพระองค์จะแวะเยี่ยมชมบริเวณชั้น 7 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรายงานเรื่องการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์แผนไทยให้พระองค์ทราบ ส่วนการถวายบริการทางแพทย์แผนไทยแก่พระองค์ จะเป็นหน้าที่ของพยาบาลผู้ที่ดูแลใกล้ชิด ซึ่งจะเข้ามาอบรมเรียนรู้ที่คลินิก ก่อนนำความรู้ด้านแพทย์แผนไทยนำไปนวดถวายพระองค์

"ห้องประทับชั้น 16 รพ.ศิริราช"...วันที่พ่อไม่อยู่ สุกิจ สุวรรณไตรย์

 

"ห้องประทับชั้น 16 รพ.ศิริราช"...วันที่พ่อไม่อยู่ ชั้น 7 อาคารศิริราชปิยมหาราชการุณย์ จุดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมาทอดพระเนตรดูวิวทิวทัศน์เป็นประจำ

“เมื่อพระองค์ขึ้นลิฟต์มาถึงชั้น 7 เจ้าหน้าที่ทุกคนจะออกมารับเสด็จ จากนั้นเมื่อท่านเข้าไปยังบริเวณห้องโถงริมแม่น้ำ จะกั้นพื้นที่เฉพาะบริเวณนั้น ส่วนบริเวณอื่นในชั้นเดียวกัน เจ้าหน้าที่ประชาชนที่มาใช้บริการจะทำงานตามปกติ เพียงแต่เมื่อไหร่ที่จะเสด็จกลับทุกคนจะหยุดชั่วครู่ และมาคอยส่งเสด็จกลับ จากนั้นทุกคนจะทำงานตามปกติ เนื่องจากพระองค์ประสงค์ไม่อยากให้ทุกครั้งที่เสด็จมา ต้องรบกวนประชาชนผู้อื่น”

อาจารย์แพทย์แผนไทยรายนี้ เล่าต่อว่า ไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตหนึ่งจะมีโอกาสได้อยู่ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ แต่เมื่อมาถึงจุดนี้ตนและเจ้าหน้าที่ทุกคนรู้สึกปลาบปลื้ม บางครั้งน้ำตาไหลออกมาโดยไม่ได้รู้สึกตัว เพราะทุกครั้งที่เห็นพระองค์เสด็จมาจะภูมิใจที่ได้เห็นรูปแบบการดำเนินชีวิตเรียบง่ายของพระองค์ไม่เอิกเกริกใหญ่โต มีเพียงผู้ติดตามไม่กี่คน แต่ในวันนี้เมื่อไม่ได้มีโอกาสถวายงาน ส่วนตัวก็รู้สึกเสียใจเพราะเมื่อก่อนทุกวันที่มาทำงาน จะเห็นบรรยากาศในโรงพยาบาลมีคนจำนวนมากเดินทางมาเพื่อลงนามถวายพระพร สวดมนต์ทำกิจกรรมอื่นโดยที่เจ้าหน้าที่ในศิริราช มักร่วมกิจกรรมเป็นประจำ

ถึงอย่างไรพระองค์ท่านได้ฝากสิ่งดีๆไว้มากมายให้กับประชาชนรุ่นหลัง ทั้งเรื่องความเรียบง่าย การทำงาน หลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประชาชนคนรุ่นหลัง ได้นำไปปรับใช้ในชีวิตซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด"

สมพงศ์ ลาดมี อายุ 50 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป ซึ่งเดินทางมาที่ศิริราชเพื่อชื่นชมพระบารมีฯเป็นประจำ เล่ว่า ตนป่วยเป็นโรคหัวใจจึงต้องมารักษาที่ศิริราชตลอดหลายปี ทุกครั้งหลังจากพบแพทย์มักจะชอบมานั่งอยู่ที่บริเวณด้านหน้าศาลาศิริราช 100 ปีถึงช่วงเย็นก่อนเดินทางกลับบ้าน ระหว่างรอก็มักจะร่วมกับเพื่อนๆ คอยช่วยเหลืองานในโรงพยาบาล เช่น ล้างห้องน้ำ กวาดพื้น เก็บขยะ ดูแลคนป่วยที่ชรา งานจิตอาสาอื่นๆ นอกเหนือจากการร่วมสวดมนต์เพื่อถวายพระพรฯ และนั่งมองตึกที่พระองค์ท่านเคยประทับ ซึ่งสิ่งที่ทำอาจไม่มาก แต่เมื่อนึกว่าทำเพื่อในหลวงก็รู้สึกสบายใจ เพราะตลอดชีวิตที่เกิดมาก็เห็นพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ ดูแลช่วยเหลือประชาชนให้หมดทุกข์เป็นสุขมาตลอด โดยที่ไม่เคยแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนาขอเพียงให้อยู่ในแผ่นดินไทย พระองค์ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ

"ห้องประทับชั้น 16 รพ.ศิริราช"...วันที่พ่อไม่อยู่ พระบรมฉายาลักษณ์ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ

 

"ห้องประทับชั้น 16 รพ.ศิริราช"...วันที่พ่อไม่อยู่ บรรยากาศช่างดูเงียบเหงา วันที่พ่อไม่อยู่

“จำได้ตอนที่ฉันอายุ 8 ขวบได้มาดูในหลวงหว่านเมล็ดข้าวแบบใกล้ชิด ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ครั้งนั้นเมื่อเห็นก็รู้สึกประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะท่านทำให้ตนนึกถึงความพอเพียง ซึ่งทรงเป็นแบบอย่างให้ประชาชนนำไปเป็นหลักของการดำเนินชีวิต การที่พระองค์จากไปเสมือนเป็นการสูญเสียเสาหลักไม่มีที่ยึดเหนี่ยว เพราะตลอดชีวิตเท่าที่จำความได้พระองค์จะคอยดูแลประชาชนเหมือนลูกมาโดยตลอด และตอนนี้ตนก็ยังรู้สึกเหมือนว่าพระองค์ยังอยู่ เพราะพระเจ้าแผ่นดิน ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ฉะนั้นตนและประชาชนคนไทยทุกคน จะระลึกถึงพระองค์ตลอดไป"

ความคืบหน้าล่าสุด ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาเปิดเผยว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีแนวคิดตั้งใจจะเก็บห้องประทับชั้น 16 ขณะรักษาพระอาการประชวรไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากศิริราชได้ถวายการรับใช้มาตลอดนานกว่า 20 ปีแล้ว แต่คงต้องปรึกษาหารือและขออนุญาตจากทางสำนักพระราชวังก่อน

ข่าวนี้สร้างความปลาบปลื้มยินดียิ่งนัก เพราะนอกจากจะเดินทางมารักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่รพ.ศิริราชแล้ว หลายคนยังต้องการมาเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ในหลวงทรงมีแก่ประชาชน พร้อมเงยหน้าไปยังชั้น 16 ของอาคารเฉลิมพระเกียรติ อันเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ด้วยความจงรักภักดีอย่างหาที่สุดมิได้.

"ห้องประทับชั้น 16 รพ.ศิริราช"...วันที่พ่อไม่อยู่ อาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.ศิริราช