posttoday

เปิดกรุสะสมเหรียญ-ธนบัตร สิ่งรำลึกถึง"ในหลวงภูมิพล"

20 ตุลาคม 2559

บรรยากาศการแสดงความไว้อาลัย การเฟ้นหาเหรียญและธนบัตรเพื่อเก็บสะสมเป็นที่ระลึกถึงช่วงการสูญเสียครั้งสำคัญ ตามร้านค้าและจุดต่างๆกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ภาพประชาชนจำนวนมากเข้าคิวแลกธนบัตรเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค. 2554 เพื่อเก็บเป็นที่ระลึก ที่ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม เมื่อวันที่ 17 ต.ค. และข่าวประชาชนจำนวนมากเช่นกันบางรายต้องรอหน้าธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ สะพานควาย เปิดให้แลกธนบัตรที่ระลึก ที่จัดทำขึ้นในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา ตั้งแต่ช่วงตี 2 ของวันที่ 18 ต.ค. ล้วนเป็นประจักษ์พยานอีกด้านหนึ่งของการร่วมแสดงความไว้อาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

ท่ามกลางบรรยากาศการแสดงความไว้อาลัย การเฟ้นหาเหรียญและธนบัตรเพื่อเก็บสะสมเป็นที่ระลึกถึงช่วงการสูญเสียครั้งสำคัญ ตามร้านค้าและจุดต่างๆ กำลังกลายเป็นเรื่องราวมุมเล็กๆ ที่กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์สำคัญ

ณัฐพงษ์ ชวาลรัตนสกุล หรือที่วงการนักสะสมวัตถุมงคลและเหรียญที่ระลึก รู้จักกันดีในชื่อ “ต้นท่า พระจันทร์” ระบุว่า วัตถุมงคลและเหรียญสะสมที่ระลึกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มนักสะสมแลกเปลี่ยนนั้นแบ่งออกเป็นสองส่วน คือกลุ่มที่เป็นวัตถุมงคลกับเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึก

ในส่วนของวัตถุมงคลซึ่งเป็นที่ต้องการของนักสะสมมานานหลายสิบปี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี คือ พระสมเด็จจิตรลดา หรือพระกำลังแผ่นดิน หรือเดิมเรียกว่าพระพิมพ์ที่ฐานพระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ในช่วงระหว่างปี 2508-2513 มีทั้งสิ้นประมาณ 2,500 องค์

สาเหตุที่ทำให้พระรุ่นนี้เป็นที่ต้องการของนักสะสม คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง มีเอกสารส่วนพระองค์ หรือใบกำกับพระ แสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์

เปิดกรุสะสมเหรียญ-ธนบัตร  สิ่งรำลึกถึง"ในหลวงภูมิพล"

และที่รู้จักกันในหมู่นักสะสมเช่นกัน คือ เหรียญอนุสรณ์มหาราช ครบ 3 รอบ เป็นเหรียญที่ระลึกที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระชนมพรรษาครบ3 รอบ หรือ 36 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2506 เป็นเหรียญที่ได้ผ่านพิธีการปลุกเสก ณ อุโบสถวัดราชบพิธถึง2 วาระด้วยกัน โดยพระคณาจารย์ที่โด่งดังในปี 2506 เช่น อาจารย์ทิม วัดช้างให้ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อเต๋ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ ฯลฯ หากใครนึกถึงเหรียญรุ่นนี้ไม่ออก ให้นึกไปถึงเหรียญที่มักจะเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรติดตรงกระเป๋าเสื้อด้านซ้ายนั่นเอง

ต้น ท่าพระจันทร์ บอกว่า นอกจากนี้อีกเหรียญที่นักสะสมจะถามหา คือ เหรียญทรงผนวช ความจริงแล้ว เหรียญทรงผนวชไม่ใช่เหรียญที่จัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกเมื่อครั้งทรงผนวชโดยตรง ด้วยจัดสร้างขึ้นภายหลังจากที่ทรงลาผนวชแล้วถึง 9 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงผนวชในปี  2499 แต่ “เหรียญทรงผนวช” สร้างขึ้นในปี  2508 เพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จฯ พระราชกุศล จาตุรงคมงคล เป็นเหรียญหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและเป็นที่แสวงหาของนักสะสม ออกโดยวัดบวรนิเวศวิหาร ช่วงปีนี้จะมีเหรียญและวัตถุมงคลที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาโดยตรงเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นช่วงที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระทัยในวงการพระสงฆ์ และถือเป็นกลุ่มเหรียญซึ่งเป็นที่ต้องการของนักสะสมมานาน

อีกเหรียญที่จะมีนักสะสมมาถามหา คือ เหรียญพระมหาชนก ซึ่งเป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมมาก ผลิตออกมาเมื่อปี 2539 เป็นเหรียญที่แสดงถึงหนึ่งในสิบชาติก่อนที่พระองค์จะเกิดเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีทั้งแบบพิมพ์ใหญ่ หรือพิมพ์เล็ก ออกแบบโดย ศ.นนทิวรรธน์ จันทนะผลิน คณบดีคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งจัดทำขึ้นคู่กับหนังสือพระมหาชนกฉบับพระราชนิพนธ์

เหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึกนั้นมีการรวมกลุ่มกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว เหรียญหลายรุ่นถือเป็นที่ต้องการของนักสะสมมานาน จนเรียกได้ว่าแม้ไม่มีเหตุการณ์สำคัญก็มีผู้สนใจสะสมมาโดยตลอด บางรุ่นมีการแลกเปลี่ยนราคาหลักแสนบาทมานานแล้ว

เปิดกรุสะสมเหรียญ-ธนบัตร  สิ่งรำลึกถึง"ในหลวงภูมิพล"

ขณะที่ในส่วนของธนบัตร นักสะสมที่ตั้งใจเก็บจะเก็บกันเป็นคอลเลกชั่นครบชุดเรียงตามมูลค่าบนธนบัตร เป็นธนบัตรที่ไม่ผ่านการใช้มาก่อนเลย และเลขที่กำกับบนธนบัตรจะต้องเป็นชุดเดียวกัน คนที่จะเก็บธนบัตรเป็นชุดตามที่กล่าวมาได้ มักจะเป็นนักสะสมที่ทราบหลักเกณฑ์ในการเก็บดี และทราบว่าแม้จะเป็นธนบัตรที่ใช้ชำระหนี้ได้จริง แต่ต้องเก็บอย่างดีไม่มีตำหนิ หากผิดไปจากหลักเกณฑ์การเก็บเป็นชุดก็จะทำให้ราคามูลค่าลดลง

ณัฐพงษ์ บอกด้วยว่า หากใครชื่นชอบ มีความเคารพ ศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเก็บสะสม วัตถุมงคล เหรียญที่ระลึก หรือธนบัตรรุ่นต่างๆ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  รุ่นไหน ทั้งเก่าและใหม่ ต่างก็ถือว่ามีคุณค่าทางจิตใจและทางประวัติศาสตร์ที่เท่ากัน

อริยา สิทธิบุศย์ นักสะสมเหรียญกษาปณ์ เล่าว่า เริ่มสะสมเพราะเดิมพ่อทำงานในกรมธนารักษ์ ที่บ้านจึงมีเหรียญที่ระลึกค่อนข้างเยอะ แต่ตอนที่ยังเป็นเด็กไม่ได้สนใจสะสมมากนัก แต่เมื่อโตมาได้เห็นได้รับรู้ถึงเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เห็นว่าท่านทรงงานหนักเพื่อประชาชนชาวไทยและประเทศชาติอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทำให้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง จึงเริ่มสนใจเก็บสะสม โดยเหรียญกษาปณ์ที่สะสมไว้มีทั้งเหรียญที่ระลึกในราชพิธีต่างๆ รวมทั้งเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนเก่าๆ จำนวนหนึ่ง

“สิ่งที่สะสมนั้นรู้สึกว่าเป็นคุณค่าทางใจอย่างบอกไม่ถูก ถ้าจะถามว่าชอบเหรียญไหนเป็นพิเศษคงตอบยาก เพราะรักทุกอย่างที่มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านก็ว่าได้ และจะเก็บรักษาไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานดูสืบต่อไป เพื่อให้พวกเขาได้รู้ว่าเราเคยมีพระมหากษัตริย์ที่เป็นดั่งพ่อหลวงของเราชาวไทยทุกคน” อริยา กล่าว

เปิดกรุสะสมเหรียญ-ธนบัตร  สิ่งรำลึกถึง"ในหลวงภูมิพล"