posttoday

เรื่องเล่าจากในวัง...พระราชอารมณ์ขันของในหลวง

19 ตุลาคม 2559

เรื่องราวพระราชอารมณ์ขันที่ประทับตราตรึงอยู่ในหัวใจของข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดและปวงพสกนิกร

เรื่องราวพระราชอารมณ์ขันที่ประทับตราตรึงอยู่ในหัวใจของข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดและปวงพสกนิกร

กว่า 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรชาวไทย ทรงออกเยี่ยมเยียนบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรทั่วทุกหมู่เหล่า ไม่เว้นแม้แต่ถิ่นทุรกันดารพระองค์ท่านยังฝ่าฟันย่ำเดินพบปะประชาชนในฐานะ “ลูกของพ่อหลวง” และทุกครั้งจะมีชาวบ้านต่างพร้อมจิตพร้อมใจตั้งแถวรอรับเสด็จด้วยความตื่นเต้น และแววตาแห่งความผาสุกที่เปล่งประกายแม้แดดลมจะร้อนเพียงใดก็ตาม

หนังสือ :"เรื่องเล่าจากในวังและพระราชอารมณ์ขันของในหลวง"  จัดทำโดยกลุ่มพิทักษ์รักราชันย์  และส่วนหนึ่งคัดลอกบางตอนมาจากหนังสือ “พระราชอารมณ์ขัน” เขียนโดย วิลาศ มณีวัต ตีพิมพ์เมื่อปี 2555 นำเสนอเรื่องพระอารมณ์ขันกับประชาชน  ที่เกิดขึ้นมากมายระหว่างเสด็จฯลงพื้นที่ หรือแม้แต่เสด็จฯอยู่ภายในวังก็ทรงมีเรื่องราวที่สร้างรอยยิ้มให้กับข้าราชบริพารหรือผู้ติดตามเช่นกัน 

ย้อนไปเมื่อครั้งสมัยพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร ทางภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส  ซึ่งทางใต้นี้มีปัญหาเรื่องดินเป็นกรดมีความเค็ม พระองค์จึงทรงรับสั่งถามชาวบ้านที่มาเฝ้ารับเสด็จว่า “ดินหลังบ้านเป็นอย่างไร เค็มไหม?” ชาวบ้านก็มองหน้ากันแล้วทำหน้างงก่อนตอบกลับมาว่า “ไม่เคยชิมซักที” ในหลวงก็รับและทรงสั่งกับข้าราชบริพาร ที่ตามเสด็จว่า “ชาวบ้านแถวนี้เขามีอารมณ์ขันกันดีนะ”

ครั้งเหตุการณ์ในหลวงเสด็จพร้อมสมเด็จพระเทพฯ เพื่อไปทอดพระเนตรกิจการตามพระราชดำริ ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับข้าวกล้องอยู่ด้วย ในหลวงทรงตรัสว่า “ข้าวกล้องนี้ดี เรากินข้าวกล้องทุกวัน” สมเด็จพระเทพฯ เห็นว่าน่าสนใจแต่นักข่าวไม่สนใจเท่าไร  จึงตรัสว่า “น่าสนใจนะ น่าจะเก็บไว้” ก็เลยมีการทูลขอให้ทรงตรัสอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ก็ทรงช่วยเหลือ และนำมาซึ่งคำตอบที่ไม่คิดว่าจะได้  “ข้าวกล้องนี้ดี  มีประโยชน์  คนอื่นเขาว่าเป็นข้าวของคนจน  เรากินข้าวกล้องทุกวัน  เรานี่แหละคนจน”

เมื่อหมุนเข็มเวลาเปิดปฏิทินไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2528 เป็นวันสุดท้ายของพระราชทานปริญญาบัตรของบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันนั้นเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศในตอนบ่าย เป็นผลให้บัณฑิต 6 คน ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในช่วงนั้นหมดโอกาสที่จะถ่ายภาพตอนเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ไว้เป็นที่ระลึก  แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเสร็จพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งกับอาจารย์ที่หมอบถวายปริญญาอยู่ข้างๆ ที่ประทับว่า “ให้ไปตามบัณฑิต 5-6 คนนั้นขึ้นมารับปริญญาใหม่อีกครั้งหนึ่ง” เพื่อจะได้ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก เรื่องราววันนั้นได้สร้างความตื้นตันให้กับนิสิตและคณาจารย์กันทั่วทั้งหอประชุม

อีกเรื่องเมื่อครั้งในหลวงท่านทรงโทรศัพท์ไปหาหม่อมคนนึง พอดีหม่อมคนนั้นไม่อยู่บ้าน คนใช้ของหม่อมถามว่านั่นใครค่ะ  อยากจะฝากข้อความไว้หรืออยากจะพูดกับเจ้านายต้องบอกชื่อมาก่อน  ในหลวงทรงตรัสว่า “ฉันชื่อภูมิพลเคยได้ยินบ้างไหม ยังไงรบกวนเจ้านายโทรหาฉันกลับด้วยแล้วกันนะ” เท่านั้นล่ะคนใช้คนนั้นเป็นลมต้องปฐมพยาบาลกันใหญ่

ช่วงปี พ.ศ. 2513 วันนั้นในหลวงท่านทรงเสด็จไปหมู่บ้านท้ายดอยจอมหด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่  ผู้ใหญ่บ้านลีซอกราบทูลชวนให้ไปแอ่วบ้านเฮา ท่านก็ทรงเสด็จฯตามเขาเข้าไปในบ้าน  ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่และมุงหญ้าแห้ง เขาเอาที่นอนมาปูสำหรับให้พระองค์ประทับแล้วก็รินเหล้าทำเองใส่ถ้วยที่คงไม่ค่อยจะได้ล้างจนมีคราบดำๆจับอยู่  ทางผู้ติดตามรู้สึกเป็นห่วงพระองค์ท่าน เพราะปกติไม่ทรงใช้ถ้วยที่มีคราบ จึงกระซิบทูลว่าควรจะแค่ทำท่าเสวย แล้วส่งถ้วยมาพระราชทานผู้ติดตามจะจัดการเอง แต่ท่านก็ทรงดวดเองกร้อบเดียวเกลี้ยง  หลังจากนั้นจึงทรงรับสั่งว่า “ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้นเชื้อโรคตายหมด”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องให้เกิดอารมณ์ขันและความประทับใจไว้อีกไม่น้อย อย่างเมื่อตำรวจประจำตู้ยามบางคนคับแค้นใจ เกี่ยวกับเรื่องปัญหาครอบครัว ปัญหาการครองชีพ เมื่อเสพสุราแล้วครองสติไม่ได้ ไม่รู้จะระบายความในใจกับใคร จึงได้พล่ามบรรยายมาทางวิทยุ บางคนหลับยามไม่พอกดคีย์ไมโครโฟนค้างไว้ ทำให้มีเสียงกรนออกอากาศมาด้วย บางคนตะโกนร้องเพลงลูกทุ่งออกอากาศมาเป็นการแก้เหงาก็มี 

ในยามดึกวันหนึ่งพนักงานวิทยุคนหนึ่งได้ระบายความเดือดร้อน เนื่องจากหิวโหยไม่สามารถหาอาหารรับประทานได้เพราะต้องเข้าเวร  เมื่อทรงรับฟังแล้วทรงสงสารจึงได้รับสั่งทางวิทยุกับพล.ต.ต.สุชาติ  เผือกสกนธ์ อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ในฐานะผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นโดยตรงว่า “โปรดเกล้าฯ พระราชทานตู้เย็นเพื่อเก็บอาหารสำรองสำหรับเวรยามดึก 1 ตู้”

เรื่องเล่าจากในวัง...พระราชอารมณ์ขันของในหลวง

หรืออย่างเรื่องที่ท่านผู้หญิงบุตรี  วีระไวทยะ  รองราชเลขาธิการ เคยเล่าว่าด้วยพระบุญญาธิการและพระบารมีในพระองค์นั้นมากล้นจนบางที่ถึงกับไม่อาจระงับอาการกิริยาประหม่ายามกราบบังคมทูลจึงมีการผิดพลาดเสมอ  แม้จะซักซ้อมาเป็นอย่างดีก็ตาม 

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน มีข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งกราบบังคมทูลรายงานว่า “ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อมข้าพระพุทธเจ้า พลตรีภูมิพลอดุลยเดช  ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต กราบบังคมทูลรายงานฯลฯ" 

เมื่อคำกราบบังคมทูลจบ ในหลวงทรงแย้มพระสรวลอย่างมีพระอารมณ์ดีและไม่ถือสาว่า “เออ ดี เราชื่อเดียวกัน”  ข่าวว่าวันนั้นผู้เข้าเฝ้าฯต้องซ่อนตัวหัวเราะขำขันกันทั้งศาลาดุสิดาลัย เพราะผู้กราบบังคมทูลรายงานตื่นเต้น จนกระทั่งจำชื่อตนเองไม่ได้

ด้วยความที่ในหลวงทรงทำงานตลอดเวลา มีหลายหนที่พระองค์ท่านทรงติดพันงานจนมืดสนิท ท่ามกลางฝูงยุงที่รุมตอมเข้ามากัดบริเวณพระวรกาย รอบพระศอ พระกร พระพักตร์ รวมทั้งแมลงต่างๆ ที่เข้ามารุมรบกวนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะยังทรงทอดพระเนตรแผนที่อยู่ภายใต้แสงไฟฉายที่มีผู้ส่องถวายอย่างไม่สะดุ้งสะเทือน  อย่างมากที่ทรงทำคือโบกพระหัตถ์ปัดไล่เบาๆ เท่านั้น 

ครั้งหนึ่งทรงมีรับสั่งเล่าเรื่อง “ยุง” ด้วยพระราชอารมณ์ขันว่า “ที่บางจากแต่ไม่มีจากหรอกนะ ยุงชุมมากเลย ไปยืนดูแผนที่ เลยโดนยุงรุมกัดขาทั้งสองข้าง  กลับมาขาบวมแดง ไปสกลนครกลับมาแล้วถึงได้ยุบลง มองเห็นเป็นตุ่มแดง ลองนับดูได้ข้างละร้อยห้าสิบตุ่ม สองข้างรวมสามร้อยพอดี”

เช่นเดียวกันกับตอนที่มีช่างไปทำฝ้าเพดานในวังคนนึงกำลังยืนบนบันได ส่วนหัวอยู่ใต้ฝ้า อีกคนคอยจับบันไดอยู่ด้านล่าง พอดีในหลวงเสด็จมา คนอยู่ข้างล่างเห็นในหลวงก็ก้มลงกราบ คนอยู่ด้านบนไม่เห็นก็บอกว่า “เฮ้ย จับดีๆ หน่อยสิ อย่าให้แกว่ง” ในหลวงก็ทรงจับบันไดให้ เขาก็บอกว่า “เออ ดีๆ เสร็จงานนี้จะให้เป็นช่างจริง” พอเสร็จก็ก้าวลง พอเห็นในหลวงเป็นคนจับบันไดให้ ถึงกับเข่าอ่อนจะตกบันไดรีบลงมาก้มกราบ ก่อนที่ในหลวงจะทรงตรัสกับช่างว่า “แหม ดีนะที่ชมว่าใช้ได้ แถมจะปรับตำแหน่งให้เป็นช่างอีกด้วย”

กระทั่งในกลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีอาการไข้ขึ้นสูง พระหทัยเต้นไม่เป็นปกติแต่ก็ยังทรงมีพระอารมณ์ขันอยู่ตลอดเวลา  ในฐานะนักดนตรี ได้รับสั่งกับหมอว่าจังหวะการเต้นของพระหทัยนี้ คล้ายๆกับจังหวะห้าสี่ในทางดนตรี และหลังจากทรงหายพระประชวรแล้ว พระองค์ท่านก็ทรงแต่งเพลงแจ๊ส จังหวะห้าสี่ขึ้นเพลงหนึ่งใช้ชื่อว่า “High Fever” น่าชื่นชมในพระอัจฉริยภาพของพระองค์อย่างมาก

เรื่องราวอารมณ์ขันเพียงเศษเสี้ยวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงสร้างความประทับใจ  รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ให้กับพสกนิกร และข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิด ได้รู้สึกอิ่มเอมใจในความสุข  จะยังคงตราตรึงใจของปวงชนชาวไทยทั้งผองตลอดไป