posttoday

ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ พาประเทศพ้นวิกฤต

17 ตุลาคม 2559

หนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญ คือ พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีอย่างมากมาย ซึ่งแต่ละพระราชกรณียกิจล้วนเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อคนไทยทั้งประเทศ และหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญ คือ พระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

โดยหนังสือ “พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย : 60 ปีสิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย” ของอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เรียบเรียงเนื้อหาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2489 แต่เนื่องจากยังทรงมีพระราชภารกิจด้านการศึกษา พระองค์จึงต้องเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 19 ส.ค. 2489 เพื่อทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์

สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย แม้ว่าการเสด็จขึ้นครองราชย์จะดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย แต่ในช่วงเวลาต่อมาปรากฏว่าสถานการณ์ทางการเมืองกลับทวีความยุ่งยากมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มทหารและรัฐบาลพลเรือน ซึ่งได้ดำเนินมาตั้งแต่การยุติสงครามโลกครั้งที่สอง

จากนั้นเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2490 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงกังวลพระราชหฤทัยและทรงห่วงใยสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ แม้ว่าจะทรงพำนักอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็ตาม

เดือน ก.ย. 2491 พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสทางโทรเลขเรียกพระวร วงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต หนึ่งในองค์อภิรัฐมนตรีให้เข้าเฝ้าฯ ยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงซักถามความเป็นไปของบ้านเมืองและทุกข์สุขของปวงประชาราษฎร์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ได้เสด็จไปเข้าเฝ้าฯ และเสด็จกลับสู่ประเทศไทยในปลายปี 2491 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงแถลงให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วกันว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสซักถามความเป็นไปของราชการบ้านเมืองอย่างละเอียดถี่ถ้วน”

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่สถานการณ์โลกที่อิทธิพลของคอมมิวนิสต์กำลังแผ่ขยาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงกังวลพระราชหฤทัยอย่างมากกับสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่กำลังจะกลายเป็นคอมมิวนิสต์

“เราเองมีความห่วงใยท่านทั้งหลายอยู่ไม่น้อย คราวใดที่ได้ทราบเหตุการณ์อันผันผวนอยู่ใกล้เคียงประเทศไทยก็ให้มีความกังวลใจถึงผลกระทบกระเทือนซึ่งอาจจะมีขึ้นต่อความสงบสุขของท่านทั้งหลาย” (ส่วนหนึ่งจากพระราชดำรัสพระราชพิธีสมโภช เนื่องในโอกาสเสด็จนิวัตพระนคร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันที่ 19 ม.ค. 2504) 

การเสด็จพระราชดำเนินไปยังชนบทที่ห่างไกลนับเป็นจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นถึงพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ณ ช่วงเวลาที่สถานการณ์ปัญหาทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศมีความไม่น่าไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง และยิ่งสถานการณ์โดยรวมมีความตึงเครียดเท่าใด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ได้ทรงแสดงบทบาทในฐานะประมุขและผู้ปกป้องประเทศมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ปี 2516 เกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาเพื่อต่อต้านการกระทำของรัฐบาล เพื่อต้องการให้รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร คืนอำนาจให้กลับคืนสู่ประชาชน และต้องการให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด เกิดเหตุการณ์จับกุมนักศึกษาและอาจารย์ในข้อหามั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง

ด้านศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการจับกุมของรัฐบาล การประท้วงเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และขยายตัวเพื่อให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมและเคลื่อนขบวนไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักศึกษาจัดผู้แทนเข้าเฝ้าฯ โดยรัฐบาลจะปล่อยตัวบุคคลที่ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไขและจะทำการร่างรัฐธรรมนูญและประกาศใช้ภายในปี พ.ศ. 2517 แต่กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเมื่อเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างนิสิตนักศึกษากับตำรวจและทหาร

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเข้ามาเป็นผู้ระงับเหตุการณ์ และจอมพลถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้ทรงแต่งตั้งให้ สัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

พร้อมกันนี้ยังทรงพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่ประชาชนทางโทรทัศน์ในคืนวันที่ 14 ต.ค. 2516 เพื่อให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้ง มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปรกติเร็วที่สุด”

จากเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นจุดศูนย์รวมและเป็นที่เคารพรักของประชาชนอย่างเท่าทวีคูณ อันเป็นการแก้ไขปัญหาและนำพาประเทศชาติให้พ้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี 2489 เป็นต้นมา