posttoday

เปิดวิชั่นกฎหมาย พิทักษ์ขุมทรัพย์ทางทะเล

26 กันยายน 2559

อนาคตจะมีการจัดทำผังทะเลลักษณะคล้ายผังเมือง อันนำไปสู่การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ทางทะเลอย่างมั่นคง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประเทศไทยมีชายฝั่งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามันยาวเกือบ 3,000 กิโลเมตร ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมีมูลค่ามหาศาลราว 22 ล้านล้านบาท

ทะเลเป็นแหล่งอาหาร อุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว การขนส่ง และพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์แบบผิดกฎหมาย หรือธุรกิจสีเทา เส้นทางลักลอบขนสิ่งผิดกฎหมาย

เช่น ยาเสพติด สินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อนด้วย ที่สำคัญ ไทยถูกเพ่งเล็งเรื่องประมงผิดกฎหมาย หรือ “IUU Fishing” การค้ามนุษย์ รวมถึงการจับสัตว์น้ำที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ... ออกมาในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ต้องการใช้กฎหมายฉบับนี้แก้ปัญหาดังกล่าวแบบเบ็ดเสร็จ

แม้กฎหมายฉบับนี้ผลักดันโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แต่กองทัพเรือถือเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน โดยมี พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เป็นมือยกร่างกฎหมายฉบับนี้

พล.ร.ท.จุมพล เปิดเผยว่า รูปแบบการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการทางทะเลทั้งหมด 16 หน่วยงานให้ทำงานเป็นเอกภาพ โดยหน่วยงานทั้งหมดอยู่ภายใต้การบูรณาการโดยกองทัพเรือ ที่ทำหน้าที่บูรณาการการรักษาและคุ้มครองผลประโยชน์ โดยมีศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ “ศรชล.” มีอำนาจสั่งการเบ็ดเสร็จได้ทุกหน่วยงาน

“การทำงานมีลักษณะเช่นเดียวกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. แต่ ศรชล. เป็น กอ.รมน.ทางทะเล ที่ครอบคลุมการทำงานทั้งภายในน่านน้ำไทยและน่านน้ำระหว่างประเทศ” พล.ร.ท.จุมพล กล่าว

พล.ร.ท.จุมพล กล่าวว่า  ในการทำงานเพื่อให้เป็นเอกภาพ ยังมีการจัดตั้ง ศรชล.ภาค โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือภาคเป็นผู้อำนวยการ และ ศรชล.จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการ มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเขตพื้นที่รับผิดชอบของจังหวัดชายทะเล และในระดับนโยบายและยุทธศาสตร์กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายทางทะเลแห่งชาติ พร้อมกับมีการจัดตั้งคณะที่ปรึกษา โดยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ด้าน ในการร่วมกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการทำงาน คือ

1.ด้านความมั่นคง โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาความมั่นคงทางทะเลเพื่อกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์ในการรักษาความมั่นคงทางทะเล ในด้านความมั่นคง เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาโจรสลัด การลักลอบขนยาเสพติด หรือสินค้าหนีภาษีทางทะเล พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

2.ด้านความมั่งคั่ง จะมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาความมั่งคั่งทางทะเล เน้นด้านเศรษฐกิจทางทะเลเป็นหลัก เพราะทะเลเป็นแหล่งอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทางด้านประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมิคอล รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว และระบบขนส่ง ฯลฯ

3.ด้านความยั่งยืน จะมีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาความยั่งยืนทางทะเล เน้นงานศึกษาวิจัยเพื่อดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดทำผังทะเลเพื่อกำหนดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

4.ด้านกฎหมาย จะมุ่งเน้นการออกกฎหมายทั้งภายในและนอกน่านน้ำทางทะเลที่เกี่ยวข้องทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง หรือกฎหมายระหว่างประเทศทางทะเล เช่น ประมงผิดกฎหมาย หรือ “IUU Fishing” เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และการประมงผิดกฎหมาย รวมถึงการจับสัตว์น้ำที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงเชิงพาณิชย์

เปิดวิชั่นกฎหมาย พิทักษ์ขุมทรัพย์ทางทะเล พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์

พล.ร.ท.จุมพล ยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ซ้ำซ้อนกับกฎหมายของหน่วยงานปกติ เพราะในสภาวะปกติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางทะเลจะทำงานไปตามปกติ แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทาง ศรชล. หรือ กอ.รมน.ทางทะเล โดยมีกองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักจะเข้ามาบูรณาการและสั่งการเพื่อแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน เช่น ภัยพิบัติทางทะเล พายุถล่มชายหาด หรือเกิดสึนามิ อุบัติเหตุทางทะเลเรือขนสารเคมีอันตรายรั่วไหล เรือนักท่องเที่ยวล่ม น้ำมันหรือก๊าซรั่วกลางทะเล

“ศรชล.จะเป็นแกนกลางในการบูรณาการหน่วยงานปกติมาทำงานร่วมกัน อาทิ ปภ. ตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า กรมประมง ทั้งหมดจะระดมสรรพกำลังคน เครื่องมืออุปกรณ์ หรืองบประมาณ โดยมีนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล. เป็นผู้บัญชาการสูงสุดและสั่งการโดยผู้อำนวยการ ศรชล.ภาค และ
ผู้อำนวยการ ศรชล.จังหวัด รับมอบคำสั่งไปปฏิบัติและดำเนินการในระดับพื้นที่ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ได้ต่อยอดการทำงานทุกหน่วยงานเข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่งเดียว”

ทั้งนี้ อนาคตจะมีการจัดทำผังทะเลลักษณะคล้ายผังเมือง อันนำไปสู่การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ทางทะเลอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เช่น การกำหนดพื้นที่ปะการัง พื้นที่อุทยานทางทะเล พื้นที่สัตว์น้ำสงวน การกำหนดพื้นที่ประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์แต่ละจังหวัด ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันต้องมีระยะทาง หรือกฎเกณฑ์อย่างไรในการจับสัตว์น้ำ การดูแลการกัดเซาะชายฝั่ง ปิดอ่าวเพื่อเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ พื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเล การแก้ปัญหาขยะ รวมถึงระบบขนส่งทางทะเล เป็นต้น

โดยเชิญ พล.ร.อ.ชุมพล ปัจจุสานนท์ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ และเผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมกำหนดยุทธศาสตร์และ นโยบายผังทะเล เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับทะเล