posttoday

แผนปฏิรูปท้องถิ่น ไม่ยุบแต่ใช้วิธีควบรวม

29 สิงหาคม 2559

เปิดสาระสำคัญแผนการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เน้นการควบรวม

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันทีว่า จะมีการยุบการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลังจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา 163 เสียง เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปกครองท้องถิ่น สปท. เรื่อง “โครงสร้างและอำนาจหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.ปฏิรูปรูปแบบโครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างใหม่เป็น 2 รูปแบบ (1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิรูปโดยเปลี่ยนบทบาทให้เป็นหน่วยงานอำนวยการ สนับสนุน บูรณาการ ประสานงาน ส่งเสริม การดำเนินการให้กับเทศบาล การดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล หรือส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน เมื่อหน่วยงานของรัฐร้องขอ (2) เทศบาล กำหนดให้มีการปรับปรุงเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ ปรับปรุงจำนวนเขตเลือกตั้งและจำนวนสมาชิกที่มีความแตกต่างกันระหว่างเทศบาลในเขตพื้นที่ชนบทกับเทศบาลในเขตพื้นที่ที่มีความเจริญ ให้มีความเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เทศบาลในเขตพื้นที่ชนบทได้รับการดูแลเท่าเทียมกันกับเทศบาลในเขตพื้นที่ที่มีความเจริญและมีภาระงบประมาณใกล้ เคียงกัน

โดยยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศเป็นเทศบาล ขณะเดียวกันเมื่อเป็นเทศบาลรูปแบบเดียวกันทั้งหมดแล้วจะดำเนินการให้มีการ ควบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลที่ยกฐานะเป็นเทศบาลข้างต้น ซึ่งอาจควบรวมกันเอง หรือควบรวมกับเทศบาลเมือง หรือควบรวมกับเทศบาลนคร หรืออาจควบรวมกันเป็นจำนวนกี่แห่งก็ได้เพื่อให้เป็นเทศบาลขนาดใหญ่ โดยให้มีความสามารถด้านรายได้หรืองบประมาณและขนาดที่มีประสิทธิภาพในการบริหารงาน เพื่อสนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร

2.ปฏิรูปการเข้าสู่ตำแหน่ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของผู้บริหาร สมาชิกสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง โดยกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เพิ่มเติมจากของเดิม เช่น เกิดในอำเภอที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยรับราชการ หรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นต้น

3.ปฏิรูปการเงิน การคลัง และการงบประมาณ แก้ไขกฎหมาย การเพิ่มฐานภาษีใหม่ๆ การถ่ายโอนภารกิจการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมจากรัฐไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การปรับปรุงภาษีป้ายที่มีอักษร ภาพเคลื่อนไหว ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างแทนภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง การถ่ายโอนการออกใบอนุญาตจำหน่ายยาสูบและสุรา ภาษี สิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 

4.ปฏิรูปการจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรควบรวมกัน เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะภายในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพ ดูแลราษฎรได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน  

ขณะที่ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีประเด็นสำคัญตรงที่การกำหนดขั้นตอนการควบรวมการปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาตรา 15 โดยมีเนื้อหาว่า “ให้ควบรวมเทศบาลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่ายี่สิบล้านบาท หรือมีจำนวนประชากรต่ำกว่า 7,000 คน เข้าด้วยกันหรือกับเทศบาลแห่งอื่นที่มีพื้นที่ติดกันและในอำเภอเดียวกันภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีผลใช้บังคับ โดยให้ทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย การควบรวมกับเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตเทศบาลที่ควบรวมนั้น การสำรวจเจตนารมณ์ของประชาชนให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด...”