posttoday

ผวา...แผ่นดินไหว เมืองใหญ่ทั่วไทยตั้งทับรอยเลื่อน

26 สิงหาคม 2559

ประเด็นน่าสนใจของการแถลงข่าวครั้งนี้ คือ ข้อมูลการศึกษาทางธรณีวิทยา ซึ่งพบว่าเมืองใหญ่ต่างๆ ในประเทศไทยล้วนมีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว เพราะล้วนแต่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อน

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.2 แมกนิจูด ที่ประเทศอิตาลี เมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 ส.ค. ตามเวลาท้องถิ่น และช่วงเย็นวันเดียวกัน อีกซีกโลกเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.8 แมกนิจูด ใกล้กับเมืองพุกามของประเทศเมียนมา จนทำให้อาคาร วัด เจดีย์ เสียหายจำนวนมาก สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาครั้งนี้ แรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ไกลไปถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ รวมถึงผู้คนในประเทศไทยทางภาคเหนือ และบนอาคารสูงของกรุงเทพฯ ดังนั้นนี่จึงเป็นประเด็นที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดแถลงข่าวเรื่อง “แผ่นดินไหวอิตาลี-พม่า ผลกระทบตึกสูง-โบราณสถานในประเทศไทย” เพื่อเป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจ อย่างถูกต้องในการเตรียมรับมือการเกิดแผ่นดินไหว

ประเด็นน่าสนใจของการแถลงข่าวครั้งนี้ คือ ข้อมูลการศึกษาทางธรณีวิทยา ซึ่งพบว่าเมืองใหญ่ต่างๆ ในประเทศไทยล้วนมีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว เพราะล้วนแต่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อน

ผศ.ภาสกร ปนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฉายภาพว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา และเมื่อไปชนกับแผ่นเปลือกโลกอื่น จึงเกิดการสะสมพลังงาน และเมื่อถึงจุดแตกหักจึงทำให้เกิดแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวที่อิตาลีเกิดจากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวหลายทิศทาง จึงทำให้ภูเขาหลายลูกมีลักษณะที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการเปิดของมหาสมุทรในบริเวณโดยรอบ ส่วนแผ่นดินไหวในเมียนมาเกิดจากแผ่นเปลือกโลกทวีปอินเดียเคลื่อนตัวไปชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียในรูปแบบการมุดตัว เมื่อเกิดการสะสมพลังงานเต็มที่จึงเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้น

ผศ.ภาสกร ระบุว่า แผ่นดินไหวในอิตาลีไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เมียนมาเกิดตามมา เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในอิตาลีรุนแรงน้อยกว่าเมียนมา และระยะห่างไกลกันถึง 8,000 กิโลเมตร ไม่สามารถที่จะเป็นแรงกระตุ้นดันได้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้พบผู้เสียชีวิตที่อิตาลีจำนวนมากนั้นเนื่องจากเกิดเหตุเวลา 03.30 น. ซึ่งเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่หลับอยู่

แม้แผ่นดินไหวในเมียนมาจะมีความแรงมากกว่า แต่ไม่น่าเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวได้ในไทย เพราะระยะที่ค่อนข้างไกลกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ผศ.ภาสกรกังวล คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย และเกือบทุกเมืองใหญ่ของไทยมีรอยเลื่อนอยู่ ตั้งแต่ปี 2518 มาถึงปัจจุบันไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวมามากกว่า 10 ครั้งแล้ว แต่ไม่เคยมีการศึกษากันมาก่อนเลยว่ารอยเลื่อนในประเทศไทยมีการสะสมพลังงานมากน้อยเท่าไรแล้ว และจะแตกหักเมื่อไหร่ ดังนั้นประเทศไทยจึงเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว จึงควรเตรียมองค์ความรู้ด้านนี้ให้พร้อมมากขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์

ขณะที่ รศ.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิตาลีและเมียนมาที่มีความเสียหายต่างกัน เพราะจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวมีความลึกต่างกัน ที่อิตาลีจุดศูนย์กลางอยู่ตื้น จึงทำให้เกิดความเสียหายหนัก ส่วนในเมียนมาจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ลึก ทำให้เกิดความเสียหายน้อย แต่สาเหตุแรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ถึงประเทศอินเดียและกรุงเทพฯ เนื่องจากการที่จุดศูนย์กลางอยู่ลึกจึงทำให้แรงสั่นสะเทือนกระจายออกไปไกล แม้ทำให้ประเทศไทยรับรู้ได้ในหลายอาคารใหญ่ แต่ประเมินว่าระดับความรุนแรงยังคงน้อยกว่าครั้งที่เกิดขึ้นที่ จ.เชียงราย เมื่อปี 2557 เล็กน้อย ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้โครงสร้างของอาคารเสียหาย

รศ.นคร ภู่วโรดม อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมียนมาสามารถรับรู้ได้ง่าย โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่บนอาคารสูง ส่วนอาคารที่สูง 5-7 ชั้น ไม่ค่อยรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน ภาพรวมครั้งนี้ก็ยังไม่ถือว่ารุนแรง

"สาเหตุที่ทำให้โครงสร้างโบราณสถานหลายแห่งเสียนั้น เพราะโบราณสถานส่วนใหญ่ก่อสร้างมาเป็นระยะเวลานาน ใช้วัสดุที่มีค่าความแข็งแรงต่ำ หากเทียบกับวัสดุที่มีอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้วัด เจดีย์ หลายแห่งเสียหาย ควรมีการบูรณะโบราณสถานให้มั่นคง ตั้งแต่ขั้นตอนวางแผนการบูรณะ ซึ่งในปัจจุบันไทยยังไม่มี และไทยยังขาดองค์ความรู้ที่ทันสมัยที่จะเข้าไปดูแล รวมถึงขาดกำลังบุคลากร งบประมาณ และกำลังบุคลากรที่จะเข้าไปบำรุงรักษา ส่วนการดูแลความพร้อมตามอาคาร สถานที่ต่างๆ ควรติดตั้งสถานีตรวจวัดการสั่นสะเทือนบนพื้นดิน บนอาคาร เพื่อประเมินสถานการณ์เมื่อเกิดแผ่นดินไหว และต้องคอยศึกษาพฤติกรรมการขยายคลื่นแผ่นดินไหวของแอ่งดินในเขตเมืองใหญ่อยู่ตลอด"

ด้าน ผศ.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากหลายพื้นที่ที่เกิดเหตุพบว่าอาคารที่ถล่มเป็นอาคารที่ไม่มีความแข็งแรง แต่ภาพรวมในประเทศไทยโครงสร้างอาคารส่วนใหญ่ก่อสร้างด้วยไม้และคอนกรีตเสริมเหล็ก ถือว่าภาพรวมมีความแข็งแรง แต่ไม่ควรก่อสร้างในรูปแบบที่ผิดปกติจากหลักวิศวกรรม ซึ่งอาจมีความเสี่ยงได้