posttoday

เลือกเลขาฯ สปสช.ไม่คืบ ศึกสธ.สะท้านถึงบัตรทอง

03 สิงหาคม 2559

ฝุ่นตลบหลังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติไม่รับรอง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ฝุ่นตลบหลังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติไม่รับรอง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช. ให้เป็นเลขาธิการคนใหม่ ดูจะยังเป็นปัญหาไปยัง สปสช.ลามไปถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข

ท่าทีแข็งกร้าวของ นพ.ประทีป ด้วยการตัดสินใจ “ชน” รัฐมนตรี โดยยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครอง ได้สะท้อนชัดว่า แคนดิเดตเลขาฯ คนเดิมยังสู้อยู่ ด้วยคิดว่าคงสู้ได้ รวมถึงมีแนวร่วมสำคัญอย่างภาคประชาชน ชมรมแพทย์ชนบทเดินเคียงข้าง

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงแรกภาคประชาชนภายในบอร์ด ซึ่งประกอบไปด้วย สารี อ๋องสมหวัง กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สุนทรี เซ่งกิ่ง จึงปฏิเสธที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมกระบวนการสรรหาเลขาธิการคนใหม่ เพราะยัง “กังขา” กับมติบอร์ดที่ไม่รับรองชื่อหมอประทีป

กระบวนการจึงชะงักงัน เพราะ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขียนไว้ชัดว่าจะต้องมีสัดส่วนของภาคประชาชนร่วมกรรมการสรรหาด้วยเท่านั้น ทำให้เรื่องคาราคาซังอยู่นานนับเดือน

ในเวลาเดียวกันก็เริ่มมีอีกหนึ่งกระแสข่าวสอดแทรกขึ้นมาว่าด้วยขบวนการ “ล้มบัตรทอง” โดยเริ่มจากการขวาง “หมอประทีป” เป็นหมุดหมายแรก

สอดรับกับการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่จะแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว รวมถึงแก้สัดส่วนบอร์ดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นรองประธาน ให้มีตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังกัด สธ. เข้ามานั่งอยู่ด้วยไม่น้อยกว่า 7 คน รวมถึงข้อเสนอล่าสุดจากเครือข่ายสภาวิชาชีพ ที่ขอให้มี “คณะกรรมการ” กำกับการทำงานของเลขาธิการ สปสช.

พูดง่ายๆ คือ จำกัดการทำงานของสำนักงานให้อยู่ใน “กรอบ” ของกระทรวงและรัฐราชการมากขึ้น

ยังไม่นับรวมร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่งมีถ้อยความว่าด้วยการให้ “ผู้ยากไร้” เท่านั้นที่จะมีสิทธิรับบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งแม้จะมีการชี้แจงในภายหลังให้ดูมาตราในหมวดปฏิรูปประกอบด้วย
ว่าจะมีการให้สิทธิทุกกองทุนสุขภาพ “มีคุณภาพทัดเทียมกัน” ก็ยังคงเป็นการเซ็น “เช็คเปล่า” อยู่ดี

นั่นเพราะยังมีปัจจัยสำคัญคือ ต้องรอดู “พิมพ์เขียว” ปฏิรูประบบสาธารณสุข ซึ่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นคนจัดทำ ซึ่งก็มีเหตุให้น่ากังวล เพราะรู้กันดีว่า สปท.นั้น นอกจากทหารจะเป็น
ใหญ่แล้ว ยังมีคนอย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เคยเสนอเรื่องรื้อระบบบัตรทอง นั่งเป็นตัวหลักอยู่ในกรรมาธิการของ สปท.ด้วย

ข่าวแว่วๆ ว่าจะปรับโครงสร้างให้ สปสช. ถูกควบคุมหลายชั้นมากขึ้นโดยกระทรวง รวมถึงการเสนอเรื่องให้หลักประกันสุขภาพเป็นของ “ผู้ยากไร้” เท่านั้น ส่วนคนชั้นกลางหรือคนที่มีรายได้ “พอสมควร” ต้อง “ร่วมจ่าย” จึงเป็นไปได้เสมอ

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยหลุดคำพูดเหล่านี้ออกมาเองว่า ประเทศไทยอาจ “จน” เกินไป และยังไม่พร้อม

ช่วงเดือนที่ผ่านมา จึงมีการปลุกชื่อของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช.คนแรก และผู้คิดค้นนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ล่วงลับ ขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้ชื่อเฟซบุ๊ก “คิดถึงหมอหงวน” เล่าประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างนโยบายบัตรทอง เรียกยอดไลค์-แชร์ ได้มากมาย

เมื่อประเมินสถานการณ์ทั้งหมด ก็จะพบว่า สปสช. และภาคประชาชน กำลังเจอพายุโหมกระหน่ำจากหลายทาง ไม่ใช่แค่การรักษาตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.เท่านั้น แต่คือการรักษาระบบใหญ่ไว้ ไม่ให้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญไปจากเดิม

การประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ท่าทีของภาคประชาชนจึงไม่ได้ดุเดือดอย่างที่หลายคนกังวล ขณะเดียวกัน แม้กลุ่มนี้จะตัดสินใจไม่ส่งตัวแทนเข้าสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ แต่ก็ยังยินยอมปล่อยให้ใช้ผู้แทนสัดส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมคณะกรรมการสรรหาแทน เพื่อให้ขั้นตอนยังพอเดินไปได้

เพราะยิ่งเดินเกมป่วนจนการทำหน้าที่ของบอร์ดไม่สามารถเกิดมรรคผลอะไรได้ ย่อมไม่เป็นผลดีอะไรกับระบบ ไม่เป็นผลดีอะไรกับองค์กร และความเสี่ยงในการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้คำสั่งมาตรา 44 ฟาดเปรี้ยงลงมารื้อบอร์ด-รื้อโครงสร้างองค์กร ก็ยิ่งสูงมากขึ้น

เมื่อถึงเวลานั้น ภาคประชาชนอาจไม่เหลืออำนาจต่อรองอะไร คงได้แต่อมพะนำ ยอมรับชะตากรรม เพราะรู้กันดีว่าในสถานการณ์ขณะนี้ อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ คสช.