posttoday

ศึกชิงเก้าอี้ "ผบช.น." สุดท้าย...จบที่เด็กบิ๊กป้อม

27 กรกฎาคม 2559

การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 ก.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 ก.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นอกจากหัวข้อที่ต้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธาน ก.ตร. รับทราบและเคาะเกลี่ยตำแหน่งระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และตำแหน่งระดับ พล.ต.ท. และ พล.ต.ต.อีกจำนวนหนึ่ง

รวมถึงการกำหนดตำแหน่งและปรับลดตำแหน่งระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาทิ รอง ผบ.ตร.หลักมีอยู่ 7 ตำแหน่ง ปรับลดเหลือ 5 ตำแหน่ง และที่ปรึกษา (สบ 10) จากเดิมมี 5 ตำแหน่ง ปรับเพิ่มเป็น 10 ตำแหน่ง เป็นต้น

แต่ที่ต้องบอกให้จับตา เพราะยังมีเรื่องสำคัญ คือ วาระการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ ผบช. และ ผบก. นอกวาระประจำปี หรือที่เรียกว่านายพลนอกฤดูกาล ตำแหน่งสำคัญของตำรวจอย่างผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) อาจจะมีการสับเปลี่ยนตัวนายตำวจผู้คุมเก้าอี้ในการประชุมครั้งน้ีด้วย

เพราะดูเหมือน “แป๊ะเล็ก” พล.ต.ท.ศานิตย์มหถาวร รักษาราชการแทน ผบช.น. ผู้ที่นั่งเก้าอี้ตำรวจเมืองหลวงแค่ครึ่งก้นมาเกือบ 10 เดือน การทำงานแม้จะหนักหน่วง จับกุมผู้ต้องหารายวันแถลงให้สังคมเห็น แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่เข้าตา “แป๊ะใหญ่” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ที่ยังไม่สั่งให้เป็นตัวจริงในตำแหน่ง ผบช.น. พร้อมกระแสที่เกิดขึ้นตลอดขณะที่ พล.ต.ท.ศานิตย์ นั่งทำงานว่าจะมีการโยกย้ายออกจากตำแหน่ง

กอปรกับยังมีเรื่องเกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่ตำรวจนครบาล ทั้งกรณีพนักงานสอบสวนบกพร่องต่อหน้าที่ หรือการทลายอาบอบนวดผิดกฎหมายรายใหญ่ในพื้นที่รัชดาภิเษก ทั้งหมดปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดในพื้นที่ต้องรับผิดชอบด้วย

แต่กระนั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ก็ต้องเกรงใจอยู่บ้าง เนื่องจาก พล.ต.ท.ศานิตย์ ถือเป็นนายตำรวจที่ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกทั้งก็ยังนับถือเป็นน้องรักของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ด้วย และหากทำอะไรลงไปกำแพงที่หนาของบิ๊กตู่และบิ๊กป้อมก็พร้อมป้องกัน พล.ต.ท.ศานิตย์ อย่างทันที อีกทั้ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ก็ต้องทำงานภายใต้คำสั่งรัฐบาล คสช.อย่างขัดขืนไม่ได้ด้วย เพราะหากยังรักที่จะนั่งเก้าอี้ตัวใหญ่สุดในรั้วปทุมวันอยู่ อะไรที่ต้องยอมก็ต้องยอม

แต่หากกำแพงที่ว่าเกิดใช้งานไม่ได้ และต้องมีการเปลี่ยนบิ๊กตำรวจเมืองกรุงจริงๆ สาดส่องไปหาคนที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ น่าจะไว้ใจและทำงานตอบสนอง ผบ.ตร.ได้เป็นอย่างดี คงหนีไม่พ้น “บิ๊กหยม” พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (ผบช.ภ.7) ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่น 36 มาด้วยกัน อีกทั้งยังทำงานร่วมกัน การสั่งการหรือการบังคับบัญชาน่าจะคล่องตัวและราบรื่นมากกว่า พล.ต.ท.ศานิตย์

อีกทั้ง พล.ต.ท.ชาญเทพ ยังถือว่าเป็นนายตำรวจที่ครบเครื่อง ทั้งงานสืบสวน งานป้องกันปราบปราม และงานบริหารก็ไม่น้อยหน้า บวกกับประสบการณ์ที่เคยคุมงานสืบสวนและสอบสวนขณะที่เป็นรอง ผบช.น. ก็ทำให้คุ้นชินกับพื้นที่ และพร้อมที่จะเข้ามาเมืองกรุงเพื่อคุมตำรวจทั้ง 88 โรงพัก

ดังนั้น เสียงซุบซิบภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พอจะทำให้คาดเดาได้ว่าในที่ประชุม ก.ตร.ครั้งนี้ ชื่อของ “บิ๊กหยม” น่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาให้คณะกรรมการพิจารณาเป็นรายแรก หากว่าการพูดคุยเรื่องสับเปลี่ยน ผบช.น.เป็นผล

แต่อีกคนที่มองข้ามไม่ได้ เพราะถือเป็นม้ามืดที่ชื่อโผล่ออกมา คือ พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง รักษาราชการแทน ผบช.ภ.9 คุมพื้นที่ภาคใต้ ที่ว่ากันว่าเป็นชื่อที่ พล.อ.ประยุทธ์ เสนอเข้าไปให้ ก.ตร.พิจารณา โดยเฉพาะหากการพูดคุยเรื่องเปลี่ยน ผบช.น.ไม่ลงตัว พล.ต.ท.จิตติ อาจจะต้องเก็บกระเป๋าขึ้นมากรุงเทพฯ ได้เหมือนกันหากรัฐบาลต้องการตัว

ชื่อนายตำรวจทั้ง 3 นาย จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะไม่ว่าใครก็มีสิทธิจะถูกเลือกได้ทั้งหมด อีกทั้งทุกคนต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขที่ช่วยรัฐบาลรักษาความสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับช่วงใกล้วันออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค.นี้ ที่ต้องดูแลความเรียบร้อย เพราะครั้นรัฐบาลจะให้ทหารออกมาควบคุม ก็เกรงว่าภาพออกมาจะไม่เหมาะสม ดังนั้นการใช้ตำรวจจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ทั้งนี้การทำงานของตำรวจก็ต้องเป็นเอกภาพด้วยเช่นกัน

รูปแบบของ ผบช.น.อาจจะต้องเด็ดขาด ทำงานราบรื่นในระนาบเดียวกันระหว่างรั้วปทุมวัน และกองบัญชาการตำรวจนครบาล

แน่นอนว่าตำแหน่ง ผบช.น. ถือเป็นเก้าอี้หลักที่ตำรวจหลายนายถวิลหา เพราะชื่อเสียง บารมี ผลประโยชน์ และการเติบใหญ่ในอาชีพสีกากี แต่การนั่งเก้าอี้ ผบช.น.ในภาวะปัจจุบัน นายตำรวจที่เข้ามาทำงานต้องครบเครื่องทั้งบู๊และบุ๋น และพร้อมรับมือกับความเห็นต่างที่ขัดแย้งรัฐบาลได้ด้วย