posttoday

แผนผลิตคนป้อนแรงงาน4.0 อุดรูรั่วมิติสังคมชี้อนาคตประเทศ

25 กรกฎาคม 2559

การเตรียมกำลังคนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่จะมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นโจทย์สำคัญ

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการด้านการศึกษาทั่วโลก คาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อเนื่องไปถึงอนาคตอันใกล้นี้ได้เข้ามามีบทบาทกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนและระบบเศรษฐกิจเพื่อรองรับยุคที่ถูกเรียกว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือยุค Economy 4.0 ” ถูกให้นิยามว่า คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่ “Value-Based Economy” หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์เป็นเชิงนวัตกรรม จากที่เคยขับเคลื่อนประเทศด้วยอุตสาหกรรม เปลี่ยนเป็นขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

การเตรียมกำลังคนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่จะมาถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลายเป็นโจทย์สำคัญที่ย้อนกลับมาถามว่า สังคมไทยมีความพร้อมในเรื่องนี้แค่ไหน

ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ระบุว่า การศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเตรียมกำลังคนรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค Economy 4.0 แต่การวางระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ ต้องเปลี่ยนหลายด้านให้สอดรับกันอย่างเป็นระบบในการศึกษาทุกระดับ ต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอน ระบบการประเมิน และผู้สอน

ทั้งนี้ การศึกษาตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการสอน ลดการเรียนรู้เชิงเทคนิค การเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำ แต่ให้น้ำหนักกับการสร้างทักษะการเรียนรู้และปรับตัวของผู้เรียนให้สามารถพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต และจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่และกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง เมื่อการเรียนการสอนได้เปลี่ยนวิธีการวัดประเมินผลหรือความรู้ที่ได้จากการเรียน ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่การสอบเพื่อวัดการท่องจำ หรือแค่วัดเพียงเนื้อหาในหลักสูตร

ไกรยส กล่าวว่า เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หลายประเทศเริ่มหันไปสอนให้เด็กคิดเชิงระบบ สิ่งที่เพิ่มขึ้นและถูกพูดถึงในการสอนยุคใหม่ คือ การสอนให้เด็กมีคาแรกเตอร์ หรือลักษณะนิสัยที่ชัดเจน ประเทศสิงคโปร์บรรจุเรื่องการสร้างคาแรกเตอร์เด็กไว้ในหลักสูตรการสอนมาตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน เขาสอนให้เด็กรู้จักอดทน อดกลั้น ทำงานเป็นทีมได้ ให้รู้จักสร้างแรงบันดาลใจ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลักสูตรในประเทศไทยยังไม่พูดถึง การสอนต้องเปลี่ยน เพราะงานทักษะการทำซ้ำเป็นประจำ จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี การสอนต้องพุ่งเป้าไปที่ทักษะที่เครื่องจักรทำไม่ได้ เช่น ทักษะคิดสร้างสรรค์ หรือการคิดวิเคราะห์ ที่สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งทางธุรกิจ” ผู้เชี่ยวชาญนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า หลายประเทศให้ความสำคัญกับการปรับระบบศึกษา เพราะเห็นว่าการศึกษากับเศรษฐกิจนั้นใกล้ชิดกัน โดยมองว่าระบบการศึกษากับระบบการผลิตของประเทศส่งผลกระทบถึงกันโดยตรง สิ่งที่ยืนยันว่าระบบการศึกษากำลังให้ความสำคัญกับทักษะ การคิดสร้างสรรค์  คือ โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA ที่จะสอบในปี 2564 จะบรรจุการทดสอบทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) นอกเหนือจากที่เคยสอบ 3 วิชาหลัก ได้แก่ ภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ก่อนที่จะสร้างเด็กอีกรุ่นขึ้นมารองรับความเปลี่ยนแปลง จะต้องทราบก่อนว่าพวกเขาเป็นคนแบบไหน เด็กในยุคที่เกิดหลัง พ.ศ. 2540 ที่เรียกว่า เจเนอเรชั่น ซี (Generation Z) เด็กกลุ่มนี้จะเติบโตมา โดยมองว่าทุกสิ่งเป็นเทคโนโลยีที่สั่งงานง่าย ขณะเดียวกันเด็กรุ่นนี้ยังได้รับการเลี้ยงดูจากคนอื่นมากกว่าพ่อแม่ของตัวเอง มีสิ่งที่คนรุ่นก่อนหน้านี้ไม่มี นั่นคือสังคมกลางอากาศ ซึ่งเป็นโลกไร้พรมแดน ค้นหาสิ่งต่างๆ ผ่านโลกออนไลน์ได้จนทำให้มีความเป็นปัจเจกหรือความเป็นตัวของตัวเองมาก จนพวกเขาไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับคนอื่นแบบพบมีตัวตน แต่สื่่อสารผ่านออนไลน์ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาสถานที่

ทว่าอีกรุ่นที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งถูกเรียกว่า เจเนอเรชั่น อัลฟา (Generation Alfa) นั้นยิ่งมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นไปอีก พวกเขาถูกนิยามไปถึงประชากรในอนาคต เด็กกลุ่มนี้คือกลุ่มที่กำลังเรียนชั้นอนุบาลอยู่กับเทคโนโลยีมากกว่าบ้าน วัด โรงเรียน จึงเสี่ยงมีปัญหาเรื่อง ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทักษะการสื่อสาร และอาจจะมีปัญหาเรื่องคาแรกเตอร์

“เราต้องหาวิธีอุดรูรั่วไม่ให้โลกอนาคตทำลายคนรุ่นนี้ ซึ่งพวกเขาอาจจะทำตัวให้สาบสูญไปจากปฏิสัมพันธ์ในสังคมเลยก็ได้ ถ้าเราไม่เตรียมการรับมือ สิ่งที่เคยเห็นว่าประเทศไทยเป็น สยามเมืองยิ้ม ก็อาจจะหายไปเพราะคนรุ่นนี้ได้ อย่าลืมว่าคนรุ่นก่อนอาจจะหาความรู้ได้จากพ่อแม่ ครูในโรงเรียน แต่เด็กรุ่นนี้สามารถหาความรู้ได้จากโลกไร้พรมแดน จึงอาจจะรู้สึกว่าไม่ต้องเคารพพ่อแม่ ครูอาจารย์ก็ได้”

นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถมีความรู้ได้หลากหลาย มีทักษะการทำงานได้มากกว่าอย่างเดียว มีช่องทางในการทำงานมากกว่าคนในอดีต ความสัมพันธ์ที่มีต่อองค์กรก็อาจจะน้อยลงไปด้วย เขาไม่จำเป็นต้องรักองค์กร สภาพเศรษฐกิจโลกยุคใหม่จะทำให้เกิดมิติทางสังคมที่ไร้ความผูกพันเกิดขึ้น ตีคู่กันมา ยังไม่นับถึงคนในโลกอนาคตที่เริ่มมีลูกน้อยลง คนที่มีจะยิ่งเลี้ยงลูกแบบสำลักความรัก คือปรนเปรอทุกรูปแบบ สิ่งที่ส่งผลตามมา คือ จะเกิดสังคมเห็นแก่ตัวเต็มรูปแบบ ไม่ต้องเอื้ออาทรต่อกัน โลกที่ทันสมัยขึ้นจะยิ่งสร้างสังคมที่บกพร่องมากขึ้น” นพ.สุริยเดว กล่าว