posttoday

ดราม่าไล่แรงงานเมียนมา เมื่อคนไทย "ไม่เข้าใจ" เพื่อนบ้าน

28 มิถุนายน 2559

เสียงสะท้อนจากองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ด้านแรงงานข้ามชาติ ต่อกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ ข้อเสนอในการบริหารจัดการแรงงานเมียนมา

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

“แม่ครับพวกเราถูกคุกคามและละเมิดสิทธิหลายอย่าง” “แม่คือความหวังของเรา” “เรารักแม่”  ข้อความบนป้ายเรียกร้องจากพี่น้องชาวเมียนมาถึง อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐแห่งสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา ขณะเดินทางมาเยือนประเทศไทยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความผิดหวังในสถานะที่เป็นอยู่ในเมืองไทย

วันนี้สังคมกำลังถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและดุเดือดถึง “ข้อเสนอต่อการบริหารจัดการและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ” หลังมีหลายคนเห็นว่า การเรียกร้องครั้งนี้นั้นมากเกินไปหรือเปล่า ?

ขอเรื่องเดิม สิทธิพื้นฐานที่ควรได้รับ

เนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์กันนั้น ข้อเท็จจริงก็คือ ไม่ได้ออกมาจากปาก ออง ซาน ซูจี แต่ถูกเสนอโดย NGO หรือ องค์กรเอกชนเพื่อสาธารณประโยชน์ด้านแรงงานข้ามชาติหลายองค์กร ซึ่งจะยื่นข้อเรียกร้องผ่านเจ้าหน้าที่ทางการเมียนมาที่เดินทางมากับซูจี

โดยประเด็นหลัก 5 ข้อที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางคือ

1.ขอให้รัฐบาลไทยร่วมกับเมียนมาเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามรอบใหม่ โดยพัฒนากระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามให้เป็นผู้ที่มีสถานะคนเข้าเมืองที่ถูกกฎหมาย ลดขั้นตอนที่มีความสลับซับซ้อน เพื่อความสะดวกต่อการดำเนินการของแรงงานข้ามชาติ

2.ขอให้ทางการเมียนมาประสานงานกับทางการไทยติดตามและบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างไทยจ่ายค่าจ้างตามข้อกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

3.ขอให้เมียนมา ประสานทางการไทยเพื่อให้สิทธิแรงงานเมียนมาที่มีบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราวหรือบัตรสีชมพูสามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ ได้ แทนที่จะอยู่เพียงแค่ในพื้นที่จังหวัดที่ทำงานเท่านั้น

4.ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างไทยและเมียนมานำเข้าแรงงานมาทำงานในไทยโดยผ่านระบบรัฐต่อรัฐ เพื่อตัดวงจรนายหน้าและขบวนการค้ามนุษย์

5.ขอให้ประเทศไทยจัดระบบสาธารณะสุขให้กับแรงงานเมียนมา และระบบการศึกษาแก่เด็กๆ รวมทั้งสามารถเทียบโอนวุฒิการศึกษาระหว่างทั้งสองประเทศได้

ดราม่าไล่แรงงานเมียนมา เมื่อคนไทย "ไม่เข้าใจ" เพื่อนบ้าน

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ บอกว่า ข้อเสนอทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้วตามกฎหมาย เพียงแต่การบังคับใช้ยังไม่ทั่วถึงและจริงจัง จนทำให้เกิดการเรียกร้องขึ้นในวาระการเดินทางมาของซูจี คนจำนวนมากไม่เข้าใจและคิดว่าเป็นเรื่องใหม่

เรื่องค่าแรง 300 บาท ตามกฎหมาย พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 คุ้มครองแรงงานอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันหมดไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือต่างด้าว แต่ปัจจุบันนายจ้างผู้ประกอบการบางกลุ่มจ่ายไม่ถึง 300 บาท เขาเลยเรียกร้องให้เร่งรัดหรือจัดการตรวจสอบและบังคับให้ปฎิบัติตามกฎหมาย

เรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ข้อเสนอนี้กำลังเรียกร้องให้ทางการเมียนมาร่วมมือกับรัฐบาลไทย จัดทำเอกสารส่วนบุคคลพิสูจน์ตัวตนให้รวดเร็วมากขึ้น เพื่อนำแรงงานเข้าสู่ระบบจนสามารถตรวจสอบติดตามได้ มองอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ดี เป็นประโยชน์ของทั้งสองประเทศ

เรื่องการขออนุญาตเดินทางออกนอกพื้นที่ของแรงงานเมียนมาที่มีบัตรอนุญาตทำงานชั่วคราวหรือบัตรสีชมพู เเม้จะถือเป็นเรื่องใหม่แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ พวกเขาต้องการที่จะเดินทางได้ทั่วประเทศเหมือนกับกลุ่มที่ถือพาสปอร์ตเข้ามา เรื่องนี้อยู่บนพื้นฐานที่รัฐบาลไทยพิจาณาได้ ประเด็นสำคัญคือทุกวันนี้หลายคนเดินทางออกนอกพื้นที่ด้วยความจำเป็นมักจะถูกเรียกเก็บเบี้ยใบ้รายทางจากเจ้าหน้าที่บางส่วน

เรื่องการนำเข้าแรงงานระหว่างรัฐต่อรัฐ ข้อนี้เรียกร้องเพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ หรือกลุ่มนายหน้า ซึ่งประเทศไทยถูกทั่วโลกจับตาและเฝ้าระวังมาตลอด โดยนายหน้าพวกนี้อาจมีความเชื่อมโยงไปยังเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

เรื่องการศึกษา ทุกคนนั้นสามารถเรียนได้หมดอย่างเสมอภาคจนถึงระดับสูงสุดตามกฎหมายของคณะรัฐมนตรีที่ประกาศตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เพียงแต่มีสถานศึกษาบางแห่งเท่านั้นที่ยังไม่ปฎิบัติตาม ส่วนเรื่องการเทียบวุฒิก็ถือเป็นเรื่องพื้นฐาน เหมือนกับชาวไทยไปเรียนตะวันตก และเทียบวุฒิกลับมาเรียนต่อในเมืองไทย

“ทั้งหมดเป็นข้อเรียกร้องพื้นฐานมาก เพียงแต่หลายคนไม่มีความเข้าใจ มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนเมียนมา ใจดำและเห็นแก่ตัวมากเกินไป เราต้องยอมรับว่า สังคมที่อยู่กันอย่างสงบสุข ต้องมีความใจกว้าง คบคนมาก เข้าใจคนมาก คุณก็จะได้รับสังคมที่ดีกว่า ที่ผ่านมาเราเองนั่นแหละที่เริ่มต้นไปดึงชาวเมียนมาเข้ามาทำงาน ต้องการเขาจนเกิดขบวนการหากินกับเรื่องเหล่านี้แบบผิดกฎหมาย”

ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สรุปว่า คนไทยไม่รู้จักตัวเองดีพอ ถกเถียงบนข้อมูลที่ผิดพลาด เช่น เรื่องแรงงานเมียนมาไม่เสียภาษีให้รัฐ ทั้งที่ข้อเท็จจริง เสียทั้งทางตรงและทางอ้อม ถูกเรียกเก็บจากสินค้าและบริการต่างๆ เท่าคนไทย ส่วนทางตรงพวกเขามีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายให้สรรพากร ซึ่งก็เหมือนคนไทยจำนวนมากเช่นกัน

ใครมีรายได้บนแผ่นดินนี้มากก็เก็บมาก มีน้อยก็เก็บน้อย ภาษีไม่ได้เลือกชนชั้น คนที่ไล่เขาวันนี้ ไม่ใช่พวกผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ได้คลุกคลีและเห็นว่าแรงงานพวกนี้คือคนสำคัญ

ดราม่าไล่แรงงานเมียนมา เมื่อคนไทย "ไม่เข้าใจ" เพื่อนบ้าน

คนเมียนมาเข้าใจดีว่า “คนไทย” ไม่ชอบเขา

ความฝันของแรงงานชาวเมียนมาทุกราย คือการได้รับสิทธิตามกฎหมาย ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรม และถูกคนไทยมองเป็นมนุษย์เท่าๆ กัน

อดิศร เกิดมงคล ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ จากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ยืนยันว่า ข้อเสนอต่างๆ ที่ออกมา เกิดจากการคลุกคลีติดตามและลงลึกเกี่ยวกับ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ของแรงงาน อย่างไรก็ตามการถกเถียงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทำให้เห็นว่าเริ่มมีคนเข้าใจประเด็นแรงงานมากขึ้นแล้ว

“ผมเห็นว่ามีคนเข้าใจเรื่องนี้กว่าในอดีตมาก ถึงแม้จะมีคนต่อต้านจำนวนมากอยู่ด้วยก็ตาม สิ่งที่ถกเถียง เป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า คนเหล่านี้รู้สึกว่า ถ้าคุณเป็นคนนอก ไม่ควรมาเรียกร้องอะไรเยอะแยะในบ้านเมืองเรา ซึ่งหากเราเปิดใจมองข้อเท็จจริง จะพบว่า ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ได้เกินเลยจากที่กฎหมายมีอยู่ และเป็นเพียงการเรียกร้องให้บังคับใช้อย่างเข้มงวดเท่านั้นเอง ฉะนั้นสภาวะที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของความเข้าใจสังคมที่แตกต่างกัน”

อดิศร เห็นว่า การแสดงออกของคนไทยที่มีต่อชาวเมียนมา นั้นมีเรื่องของการเมืองและชาตินิยมในยุคปัจจุบันเข้ามาปะปนด้วย โดยประเมินว่าหากข้อเรียกร้องเหล่านี้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลอื่น กระแสชาตินิยมไม่น่าจะรุนแรงเหมือนที่เห็น

“เราถกเถียงด้วยเหตุผลน้อยลง และไม่ศึกษาในสิ่งที่เราจะถกเถียง ทั้งที่จริงแล้วข้อมูลเหล่านี้สามารถเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเรื่องภาษี ค่าแรง ระบบสุขภาพ การศึกษา และการพิสูจน์ตัวตน”

ทั้งนี้เรื่องน่าเป็นห่วงในการเเสดงความคิดเห็นทางโซเชียลมีเดียก็คือ คำพูดหยาบคายและไม่ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

อดิศร บอกว่า การพูดและมองคนอื่นแบบกดขี่ ไม่ดีต่อตัวเองและภาพลักษณ์ประเทศไทย โดยเฉพาะการไปต่อว่าต่อขาน อองซาน ซูจี ด้วยข้อความหยาบคาย เป็นการแสดงออกถึงความไม่ให้เกียรติประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่เขาเป็นผู้นำระดับสูง นึกถึงวันหนึ่ง หากผู้นำระดับสูงของประเทศไทย เดินทางไปเมืองนอก แล้วถูกด่าทอ เสียๆ หายๆ ชาวไทยก็คงไม่พอใจเช่นกันเพราะนั่นเท่ากับการไม่ให้เกียรติคนไทย

จากการทำงานร่วมกับแรงงานเมียนมามาเนิ่นนานหลายปี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ รายนี้บอกให้ฟังว่า ชาวเมียนมาเข้าใจดีมาตลอดว่าคนไทยไม่ชอบและรู้สึกไม่ดีต่อพวกเขา แต่ไม่ได้ฝังใจหรือเคียดแค้น เพราะรู้ดีว่ามาอาศัยแผ่นดินคนอื่นหากิน ทำให้พร้อมจะให้อภัยคนไทยและอธิบายเสมอว่าทำไมต้องมาทำงาน รวมทั้งทำไมต้องเรียกร้องสิทธิที่ควรได้รับ ขอเพียงคนไทยเปิดโอกาสรับฟังเสียงของพวกเขาอย่างไร้อคติ

“พวกเขาเข้าใจว่า คนไทยเกลียดเขาเพราะสองเรื่องหลัก คือประวัติศาสตร์การสู้รบในอดีต ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องเกลียดกันถึงวันนี้ด้วย บริบทต่างๆ ในยุคสมัยนั้นแตกต่างอย่างสิ้งเชิง สองคนไทยไม่ชอบที่พวกเขามาแย่งงานอาชีพ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องจริง งานที่เขาทำ คนไทยไม่ทำ ทั้งแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ก่อสร้าง และงานอื่นๆ ที่สกปรกหรือเสี่ยงภัย ทุกวันนี้พวกเขารู้สึกต่ำต้อยไปโดยปริยาย เเต่พูดตรงๆ เขาให้เกียรติคนไทยค่อนข้างมากและไม่ถือสาหาความ ยกเว้นรุนแรงจริงๆ คงไม่ยอม”

ทั้งนี้หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเมียนมา รัฐบาลที่ถูกบริหารโดย ออง ซาน ซูจี กระตือรือร้นมาขึ้นในการจัดการปัญหาแรงงาน โดยอดิศร บอกว่า ข้อตกลงหลายเรื่องที่มีการแก้ไขในสาระสำคัญค่อนข้างก้าวหน้า ตัวอย่างเช่น ให้จัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่าร่วมกับทางการไทย โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการอบรม ให้ความรู้แก่แรงงานที่จะไปทำงานต่างประเทศโดยเฉพาะในเรื่องสิทธิ การเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิในประเทศปลายทาง ตลอดจนภาษา วัฒนธรรม เพื่อสามารถอยู่ในไทยได้อย่างมีคุณภาพ , กำหนดหน้าที่ของบริษัทจัดหางานจากทั้งสองประเทศ โดยมีระบบการตรวจสอบที่ดีและโปร่งใส  ตลอดจนระยะเวลาในการทำงานอยู่ในราชอาณาจักรไทย ที่จะขยายเวลาในการทำงานได้นานขึ้นหรือปรับเวลากลับบ้านเกิดน้อยลง เพื่อตอบสนองวงจรในการทำงาน

“เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น ถึงแม้เราจะไม่ชอบ เนื่องจากผลประโยชน์ทั้งหมดจากการพัฒนาแรงงาน เป็นผลดีต่อสังคมไทยทั้งสิ้น” ชายหนุ่มจากเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) สรุป

ดราม่าไล่แรงงานเมียนมา เมื่อคนไทย "ไม่เข้าใจ" เพื่อนบ้าน

อย่ามองเขาเป็นเพียงกรรมกร เเต่ให้เห็นเป็นมนุษย์

ข้อมูลจากกรมการจัดหางานล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2559 พบว่า ปัจจุบันมีเเรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกว่า 1.4 ล้านคน เเทบทั้งหมดเป็นเเรงงานไร้ฝีมือ โดยมีการประเมินว่าหากรวมเเรงงานที่อยู่นอกกฎหมายด้วยเเล้ว ตัวเลขอาจสูงถึง 4 ล้านคน

สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ แอลพีเอ็น (LPN) มองปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามีสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจบริบทด้านแรงงานที่มีเรื่องชาตินิยมเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นกัน

“ข้อความต่างๆ ทำให้เรามองเห็นภาวะของจิตใจมนุษย์พอสมควร เขาไม่ได้ตระหนักถึงประโยชน์ร่วมกันในอนาคตของทั้งสองประเทศ ทั้งที่มันมีผลในแง่ดีกับเรา ปัจจุบันไทยยังต้องการพวกเขาเข้ามาเป็นแรงงานจำนวนมาก เพราะหลายอาชีพก็ทราบกันดีว่าคนไทยไม่ทำ เมื่อเอาเขามาอยู่ หากไม่มีแนวทางปฎิบิตที่ดีหรือเหมาะสม ประเทศจะเจริญและได้รับการตอบรับที่ดีจากสังคมโลกได้อย่างไร”

ผอ.แอลพีเอ็น เห็นว่า ถึงเวลาที่คนไทยควรเปิดกว้าง ไม่คับแคบในการมองประเด็น ไม่เช่นนั้นจะเท่ากับเลือกปฎิบัติต่อมนุษย์ ซึ่งหมายความว่า คุณพร้อมจะกดขี่หรือปฎิบัติไม่ดีต่อเขา

"ถ้าจะเอาเขาอยู่ คุณก็ต้องดูแลเขา ใช้แรงเขา ก็ต้องตอบแทนด้วยเงินที่เป็นธรรม หากมีลักษณะความคิดกดขี่ กดทับ และเลือกปฎิบัติ เเบบนั้นสังคมไทยไปไม่รอด หรือหากจะมองมิติด้านความมั่นคง ต้องเอาความมั่นคงของมนุษย์ที่ขึ้นอยู่กับรายได้ การศึกษาและสุขภาพเข้าไปรวมด้วย สิ่งที่พัฒนาเป็นความมั่นคงทั้งสิ้น ถ้าดูแลดี เราก็ปลอดภัย ตัวอย่างเช่น จดทะเบียนแรงงาน ที่ทำให้ทราบถึงตัวตนที่ชัดเจน ส่งผลดีต่อการติดตามหากเกิดปัญหา หรือการให้การศึกษา ประกันสุขภาพ เเละพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานกับเขา เรื่องเหล่านี้ ย้อนกลับมาเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจประเทศทั้งสิ้น

ปัญหาเรื่องมนุษย์ ต้องเปลี่ยนมุมมองจากภาระเป็นพลัง จัดการให้เป็นทรัพยากรที่มีค่า อย่ามองเขาเป็นเพียงกรรมกร แต่ให้เห็นคนเป็นคน มีความคิด มีการพัฒนาและเข้ามาทดแทนแรงงานหรืออาชีพทีคนไทยไม่ทำ อย่างน้อยที่สุด ตอบแทนและให้สิทธิตามกรอบกติกาสากลด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน"

ทุกการถกเถียงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและผลประโยชน์ของประเทศชาติ ถอดอคติและการกดขี่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ พูดง่ายๆว่า นึกถึงใจเขาใจเรา

ดราม่าไล่แรงงานเมียนมา เมื่อคนไทย "ไม่เข้าใจ" เพื่อนบ้าน