posttoday

ชำแหละงบปี 2560 "กลาโหม" ได้2แสนล้านเพื่อความมั่นคง

22 มิถุนายน 2559

วันที่ 23 มิ.ย. สนช. มีวาระพิจารณาเรื่องสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงิน 2,733,000 ล้านบาท

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

วันที่ 23 มิ.ย. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระพิจารณาเรื่องสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงิน 2,733,000 ล้านบาท ในวาระรับหลักการวาระที่ 1 ซึ่งตามขั้นตอนเมื่อ สนช.ลงมติรับหลักการแล้วจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาปรับลดงบประมาณ ก่อนส่งกลับมาให้ สนช.ลงมติให้ความเห็นชอบอีกครั้ง

สำหรับงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2560 ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 4.3 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 1.5% โดยวงเงินงบประมาณดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 18.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2,103,422.2 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 24,356.7 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน 548,391 ล้านบาท ลดลงจากเดิมจำนวน 15,963.3 ล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 81,186.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 19,195.1 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในเอกสารงบประมาณที่สรุปสาระสำคัญของงบประมาณประจำปี 2560 ที่สำนักงบประมาณส่งมาให้ สนช.ได้ระบุถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่า ในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัว 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่มีการขยายตัวในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ การลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลก ค่าเงินบาทที่ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและแข็งค่าหากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐมีความล่าช้า รวมทั้งสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง

ส่วนเศรษฐกิจในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3.7-4.2% ปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะทำให้ภาคการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้มากขึ้น สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2560 ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดี

งบประมาณประจำปี 2560 ได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 6 ด้าน คือ

1.ความมั่นคงและการต่างประเทศ 157,155.5 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ เทิดทูนและพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

2.การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 323,656.4 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

3.การพัฒนาคนและส่งเสริมศักยภาพคน 231,894.4 ล้านบาท เพื่อพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัย ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาด้านสาธารณสุขและสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก

4.การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน 241,149.1 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจรากฐานและชุมชนเข้มแข็ง จัดการปัญหาที่ดินทำกิน

5.การจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 110,156.6 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดความสมดุล เตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

6.การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 330,410.6 ล้านบาท เพื่อลดปัญหาทุจริตในสังคมไทย เพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย และปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวสูง

หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.กระทรวงศึกษาธิการ 519,292.5 ล้านบาท 2.กระทรวงมหาดไทย 324,012 ล้านบาท 3.กระทรวงการคลัง 218,633.1 ล้านบาท 4.กระทรวงกลาโหม 214,347.4 ล้านบาท และ 5.กระทรวงคมนาคม 152,726.4 ล้านบาท

ลงลึกไปในงบประมาณของกระทรวงกลาโหม 214,347.4 ล้านบาท พบว่าเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2559 จำนวน 7,886.1 ล้านบาทหรือ 3.8% โดยมีงบประมาณหลายรายการที่น่าสนใจ ดังนี้

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 9,150 ล้านบาท แบ่งเป็น แผนงานบุคลากรของภาครัฐ 4,744 ล้านบาท แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ 4,186 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้าง ได้แก่ ความมั่นคงสถาบันหลักของชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านความมั่นคง และการป้องกันประเทศ รวม 219.5 ล้านบาท

กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 16,292 ล้านบาท มีงบประมาณสำหรับการเสริมสร้างศักยภาพกองทัพและระบบป้องกันประเทศ 5,790 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อจัดเตรียมกำลัง เสริมสร้าง พัฒนา และบริหารทรัพยากรทางทหารทั้งมวล ให้กองทัพสามารถพึ่งตนเองได้และมีความพร้อมในการใช้กำลังเพื่อการป้องกัน ปราบปราม แก้ไข และยุติความขัดแย้ง และยังมีเงินราชการลับ 54,822,000 บาท

กองทัพบก จำนวน 104,411 ล้านบาท ได้รับการจัดสรรงบประมาณเสริมสร้างศักยภาพกองทัพและระบบป้องกันประเทศ 43,635 ล้านบาท ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการปกป้องอธิปไตยและการรักษาความมั่นคงภายในของประเทศในความรับผิดชอบของกองทัพบก เงินราชการลับ 290 ล้านบาท โครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ เพื่อให้กองทัพบกมีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพจำนวน 1,973 ล้านบาท

กองทัพเรือ จำนวน 41,321 ล้านบาท มีงบประมาณภายใต้แผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคาม จำนวน 19,774 ล้านบาท โครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ 838.5 ล้านบาท โครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพที่ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 6,627 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการตามแผนป้องกันประเทศ 1,870 ล้านบาท

กองทัพอากาศ จำนวน 39,165 ล้านบาท มีรายจ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพกองทัพและระบบป้องกันประเทศ 22,265 ล้านบาท เพื่อป้องกันประเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยจากภัยคุกคามทั้งภายในและนอกประเทศ นอกจากนี้ มีงบประมาณสำหรับเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้าน 247.7 ล้านบาท ทั้งหมดเพื่อให้กองทัพอากาศเป็นกองทัพชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน