posttoday

เสียงร้องแรงงานประมง ช่วยพาพวกเขาขึ้นฝั่งกลับบ้าน

29 เมษายน 2559

ช่วงปีที่ผ่านมา สังคมไทยให้ความตื่นตัวสนใจกับประเด็นเรื่องแรงงานเป็นอย่างมาก

โดย ...วิรวินท์ ศรีโหมด

ช่วงปีที่ผ่านมา สังคมไทยให้ความตื่นตัวสนใจกับประเด็นเรื่องแรงงานเป็นอย่างมากหลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยให้อยู่ที่อันดับ3 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดและเป็นการบ่งบอกเป็นนัยยะว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้แก้ปัญหาอย่างจริงจังเกี่ยวกับสถานกาณ์การค้ามนุษย์ที่มีอยู่ในมากในประเทศ โดยเฉพาะแรงงานในภาคประมง และขณะนี้ก็ใกล้เข้าสู่ “วันแรงงานแห่งชาติ 1พฤษภาคม” หน่วยงานองค์กรภาครัฐ เอกชนต่างๆจึงออกมาระดมสมอง เสนอแนวคิดถึงการแก้ปัญหาเพื่อให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น  

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) จึงร่วมกับศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง และศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ARCM) ร่วมกันจัดงานเสวนาเพื่อระดมความคิดภายใต้หัวข้อเรื่อง “เครือข่ายความร่วมมือภาคประชาสังคมจะยกระดับการแก้ไขปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหา ด้านแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ค้ามนุษย์ และประมงผิดกฎหมายได้อย่างไร และทิศทางแรงงานไทยแรงงานข้ามชาติอีก 5 ปี ข้างหน้า” เพื่อเป็นอีกกระบอกเสียงหนึ่งให้ส่งไปถึงผู้มีอำนาจของประเทศให้หันมาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นายธนพล ธรรมรักษา แรงงานประมงผู้ประสบปัญหาจากการค้ามนุษย์ เล่าให้ฟังว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในแรงงานเรือประมงนี้เกิดจากผู้ประกอบการที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่รายได้ทางธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของแรงงาน ซึ่งจุดเริ่มต้นของปัญหาค้ามนุษย์ในภาคประมงมีหลายรูปแบบและทำกันเป็นขบวนการ เริ่มจากนายหน้าจะไปหาแรงงานในพื้นที่ที่มีแรงงานเดินทางมารวมตัวกัน อาทิ สถานีขนส่งหมอชิต สายใต้ หัวลำโพง หรือสนามหลวง เพื่อหลอกนำแรงงานเหล่านี้ไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการประมงโดยตลาดใหญ่จะอยู่ที่มหาชัย

จากนั้นเมื่อไปถึงกลุ่มนายหน้าจะดำเนินขั้นตอนทางเอกสารให้ทุกอย่างเพื่อให้ผู้ที่ถูกหลอกได้ลงไปอยู่บนเรือทัวร์ขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่กลางทะเลในนานน้ำไทยและประเทศเพื่อนบ้านเป็นเวลานาน 4-6เดือนถึงได้กลับเข้าฝั่งแต่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้   ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจและช่วยเหลือแก้ปัญหาแรงงานประมงเหล่านี้ให้ได้กลับบ้าน

เสียงร้องแรงงานประมง ช่วยพาพวกเขาขึ้นฝั่งกลับบ้าน

นายแล ดิลกวิทยรัตน์ ประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ อธิบายว่า ปัญหาในภาคแรงงานประมงนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่สังคมพึ่งให้ความสนใจ เพราะที่ผ่านมาแรงงานกลุ่มประมงมักไม่ได้รับความสนใจ แต่เมื่อเสียงของนานาชาติเริ่มเข้ามากำหนดระเบียบจนทำให้ไทยประสบปัญหาทางด้านการค้า การส่งออกจนกระเทือนต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ นี่จึงสะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมาสังคมไม่ได้สนใจชีวิตของแรงงานจริงๆ ถึงแม้แรงงานกลุ่มนี้จะเชื่อมโยงทางด้านการค้าระหว่างประเทศ

“เมื่อปัญหาเกิดขึ้นที่ นายจ้างพยายามทำการแข่งขันในเรื่องราคาต้นทุนให้มีราคาถูก และใช้แรงงานต้นทุนต่ำเพื่อแสวงหากำไรที่สูงจึงทำให้เป็นการแข่งขันของประเทศเป็นไปในทิศทางแนวดิ่ง ดังนั้นรัฐควรแก้ปัญหาอุดช่องว่างนี้โดยการควบคุมนายจ้างให้ดำเนินการตามระเบียบให้ได้ รวมถึงหน่วยราชการก็ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน “นายแล กล่าว

นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคแรงงานประมงโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ สิ่งที่เป็นปัญหากับบุคคลกลุ่มนี้เมื่อได้รับผลกระทบ จากอุบัติเหตุหรือสูญเสียอวัยวะจากการทำงาน มักไม่ได้รับสิทธิคุมครองดูแลตามระเบียบ ดังนั้นรัฐควรสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้สามารถร่วมตัว เพื่อเรียกร้องการดูแลสิทธิ และควรกำหนดกฎระเบียบเรื่องสิทธิให้ชัดเจนครอบคลุมและต้องสามารถนำไปบังคับใช้ได้จริง

สมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางด้านแรงงานตามนโยบายและกฎหมายที่รัฐบาลดำเนินการที่ผ่านมา ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่ทางกลับกันการนำมาบังคับใช้บางเรื่อง อาทิ การจดทะเบียนทำงานภาคประมงบางครั้งผู้ประกอบการก็จดแจ้งไม่ตรงกับข้อมูลแรงงานที่มีอยู่ รวมถึงแรงงานที่นำเข้าแบบอาศัยความร่วมมือกับประเทศเพื่อบ้าน (เอ็มโอยู)

เขาบอกว่า บางครั้งแรงงานเหล่านี้ที่เข้ามามีความเสี่ยงที่ ว่าจะเจอบริษัทนายหน้าดี หรือและไม่ที่จะเอาเปรียบ ดังนั้นส่วนตัวมองว่ามูลนิธิ และเครือข่ายต่างๆที่ทำงานด้านนี้จะต้องร่วมกันเป็นตัวกลางประสานงานกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายร่วมกันตรวจสอบในเชิงลึก และเชิงรุกมากขึ้น รวมถึงจะต้องวางแนวทางว่าการแก้ไขให้ชัดเจน จริงจัง

ขณะที่นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สิ่งที่รัฐทำอยู่ถือว่าถูกต้องแล้ว  แต่การทำงานจะต้องให้เชื่อมโยงทั้งเรื่องการทำงานและระบบข้อมูล  ส่วนเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องทางทะเลถือว่ามีความแตกต่างจากกฎหมายอื่นและที่ผ่านมามีการผ่อนปรนมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวจึงมองว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร่วมกันพิจารณาดำเนินในขั้นตอนการบริหารจัดการให้เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพส่วนเรื่องทางกฎหมายทางทะเลที่ถือว่าแตกต่างจากกฎหมายอื่นต้องปรับปรุงให้มีความทันสมัย ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาเชิงปฏิบัติให้ครอบคลุมทั้งระบบโดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ของแรงงาน

เสียงร้องแรงงานประมง ช่วยพาพวกเขาขึ้นฝั่งกลับบ้าน

นส.พิชญ์สินี มูลพฤกษ์ ที่ปรึกษานักการทูตชำนาญการพิเศษ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงฯ ทำงานประสานข้อมูลในการแก้ไขปัญหาประมงของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการไปชี้แจงทำความเข้าใจกับสหรัฐอเมริกา รวมถึงนำข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างประเทศมาเผยแพร่เพื่อให้หน่วยงานของไทยมีการพัฒนาปรับปรุง แต่ถึงอย่างไรมองว่าภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ที่ทำงานในเชิงลึกต้องเข้ามาร่วมกันตรวจสอบและทำงานเชื่อมโยงเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การทำประมงที่ผิดกฎหมายให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ไม่ใช่ทำเพียงแค่เป็นเพียงเสียงสะท้อนเท่านั้น

สำหรับการจัดงานดังกล่าวนอกจากมีการพูดคุยเสวนาสถานกาณ์ และการแก้ปัญหาเรื่องแรงงาน ยังมีการเปิดตัวเครือข่าย 4กลุ่มที่จะเข้ามาทำงานด้านนี้ อาทิ กลุ่มสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ (TMFG) ,เครือข่ายความร่วมมือแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย (MUNT-SCPM) เครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ (ATN) และเครือข่ายความร่วมมือเพื่อความโปร่งในภาคการประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (MAST) ซึ่งเครือข่ายเหล่านี้สมาชิกมีทั้งนักวิชาการ แรงงานประมงไทยและต่างชาติที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยมาร่วมกันสร้างเป็นเครือข่ายเพื่อที่อนาคตจะได้พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้เกิดประสิทธิภาพทั้งระบบอย่างจริงจัง