posttoday

ผลสำรวจชี้ พ่อแม่หลังแอ่นกู้เงิน ส่งลูกเข้ามหา'ลัย

29 เมษายน 2559

สสค.ทำแบบสำรวจต้นทุนชีวิตเยาวชนต่อการสอบเข้าอุดมศึกษาพบนักเรียนชั้น ม.ปลาย 60%ต้องเรียนพิเศษเฉลี่ยคนละ 19,748 บาท

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

เมื่อบุตรหลานเรียนหนังสือมาถึงชั้นมัธยมปลาย พ่อแม่ผู้ปกครองต่างทราบดีว่าเป็นช่วงสำคัญในการชี้ชะตาก่อนร่ำเรียนในระดับสูงขึ้น ในระดับอุดมศึกษาหรือที่เรียกว่าเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ก่อนการสอบสารพัดจะมาถึง มีค่าใช้จ่ายรอล้วงกระเป๋าอย่างที่คาดไม่ถึง
         
ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ระบุว่า จากที่ สสค.ได้จัดทำแบบสำรวจต้นทุนชีวิตเยาวชนต่อการสอบเข้าอุดมศึกษาต่อปี พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า นักเรียนชั้น ม.ปลาย 60% ต้องเรียนพิเศษ และแต่ละคนมีค่าใช้จ่ายจากการเรียนพิเศษตลอดช่วงชั้น ม.ปลาย (ม.4-6) เฉลี่ยคนละ 19,748 บาท มีรายจ่ายตลอดการเรียนชั้น ม.4-6 ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อศึกษาต่ออุดมศึกษา เฉลี่ยคนละ 61,199 บาท คิดเป็น 6% ของได้ในครัวเรือน
         
รายจ่ายดังกล่าวจำแนกออกเป็นรายจ่ายในโรงเรียน (ค่าเทอม/ค่ารถ/ค่าอาหารกลางวัน) 17,823 บาท รายจ่ายในการเรียนพิเศษ (ค่าเรียนพิเศษ/ค่ารถ/ค่าที่พัก) 22,592 บาท รายจ่ายในการสมัครสอบ (ค่าสมัครสอบ/ค่ามัดจำเพื่อรักษาสิทธิ/ค่ารถ/ที่พัก) 20,040 บาท นอกจากนี้ยังพบค่ามัดจำเพื่อรักษาสิทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 10,610 บาท โดยพบว่ามีการจ่ายเงินค่ามัดจำสูงถึง 9.1 หมื่นบาท
         
ขณะที่ความพร้อมของผู้ปกครองในการสนับสนุนค่าใช้จ่าย พบว่า ไม่ว่าผู้ปกครองจะมีฐานะใดล้วนมีความพร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อให้บุตรหลานได้เรียนต่ออุดมศึกษา แม้ว่าจะต้องไปกู้เงินหรือไม่ก็ตาม โดยพบสัดส่วนการกู้ยืมเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาในครัวเรือนยากจน 52% ฐานะปานกลาง 27% และค่อนข้างมีฐานะ 19%
         
ทั้งนี้ หากจำแนกตามสถานะทางเศรษฐกิจ พบว่า นักเรียน ม.ปลายในกลุ่มรายได้ปานกลางและค่อนข้างมีฐานะมากกว่าครึ่งที่เรียนพิเศษ โดย 5 สาเหตุหลักที่ต้องไปเรียนพิเศษ คือ อยากได้เทคนิคการทำข้อสอบ 36% อยากได้เกรดดีๆ เพื่อเรียนต่อ 36% เรียนที่โรงเรียนไม่เข้าใจ/ไม่รู้เรื่องต้องเรียนเพิ่มเติม กลัวสอบตก 33% ต้องเตรียมตัวสอบหลายอย่างเพื่อสอบเรียนต่อ เรียนที่โรงเรียนอย่าง 29% และบางวิชาที่โรงเรียนไม่ได้สอนแต่ต้องใช้ในการสอบเพื่อเรียนต่อ เช่น ความถนัดทาง  สถาปัตย์ วิศวะ เป็นต้น 16% ซึ่งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนพิเศษ นักเรียนชั้น ม.ปลายในแต่ละระดับชั้น  ม.4-ม.6 มีการลงเรียนพิเศษ/กวดวิชาเฉลี่ย 2-3 วิชา/ปีการศึกษา โดยพบว่าในแต่ละระดับชั้นมีการลงเรียนพิเศษสูงสุดถึง 7 วิชา และต่ำสุด 1 วิชา
         
ศ.สมพงษ์ ระบุว่า ผลการวิจัยที่ได้สำรวจมีข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐดำเนินการ คือ 1.เรื่องการกวดวิชา รัฐต้องมีนโยบายที่จริงจังถ้าต้องการให้ลดต้องลดจริง 2.เรื่องหลักสูตร ข้อสอบยากเกินไป การเรียนรู้ในโรงเรียนไม่สามารถช่วยให้เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ทำอย่างไรให้ครูสอนได้เต็มที่ ดังนั้นนโยบายการคืนครูสู่ห้องเรียน กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ทำได้จริงแค่ไหน
         
3.การจัดตั้งกองทุน เพื่อช่วยเหลือค่าเดินทาง ค่าสมัครสอบ ค่าอาหาร ค่าที่พัก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศได้มีความสุขมากขึ้น เมื่อลูกหลานเรียน ม.4 ผู้ปกครองต้องรับกรรมกับค่าใช้จ่ายมหาศาล ตรงนี้คือคอขวดสำคัญกับระบบการศึกษา รัฐควรควบคุมค่าสมัครสอบโดยการกำหนดให้เป็นมาตรฐานเพื่อลดค่าใช้จ่าย และลดจำนวนการสอบเข้าเรียนต่อในอุดมศึกษา
         
อิทธิพล ฉิมงาม นักเรียนโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าผู้ปกครองของตัวเองต้องแบกค่าใช้จ่ายหลายด้าน ทั้งค่ากวดวิชา ค่ารถ ค่าสมัครสอบ ค่าสนามสอบ 7-8 แห่ง ซึ่งมีค่าแต่ละวิชาต้องเรียนถึง 3 รอบ เพราะข้อสอบคนละแบบ และมีเนื้อหามาก เพื่อรับมือกับข้อสอบ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนพิเศษ
         
"ปัจจุบันข้อสอบ โจทย์ 1 หน้า ตัวเลือก 1 หน้า สมมติว่าเป็นวิชาเคมี-ชีววิทยา เราต้องเรียนถึงวิชาละ 20 กว่าบท เพื่อทำข้อสอบบทละแค่เพียงสองข้อ ถ้าไม่เรียนพิเศษใครจะทำได้ ที่ผ่านมาผมไปสมัครสอบรับตรงตามที่มีมหาวิทยาลัยบางแห่งเปิดโดยสถาบันดังกล่าวไม่มีการบอกผลคะแนนต่ำสุด เมื่อคะแนนออกมา ปรากฏว่า คะแนนไม่ถึง ก็เข้าเรียนไม่ได้ กรณีนี้ไม่เข้าใจว่าทำไมแต่ละสถาบันไม่มีการคุยประสานกันเพื่อช่วยไม่ให้ต้องวิ่งรอกสอบหรือทำให้เด็กต้องเลือกที่นั่งเผื่อ เมื่อประกาศผลได้ที่นั่ง 3 มหาวิทยาลัยก็ต้องสละที่ไม่อยากเรียนไป" อิทธิพล กล่าว
         
อิทธิพล ระบุด้วยว่า จากที่ได้ประเมินเนื้อหาทั้งจากการเรียนในชั้นและการกวดวิชาจากความเห็นจากเพื่อนนักเรียน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่า แม้ทุกคนจะรู้ว่าการกวดวิชาเป็นภาระของผู้ปกครองแต่ก็ต้องเรียน เพราะหากไม่เรียน โอกาสการแข่งขันในการสอบเข้าเรียนอุดมศึกษาจะมีความเสี่ยงสูงและเป็นไปได้ที่น้อยมาก
         
"นักเรียนส่วนใหญ่ต่างก็เคยลองสอบหรือศึกษาข้อสอบมาก่อนเข้าสนามจริงทั้งนั้น เราจึงพบว่าข้อสอบนั้นยากขึ้นๆ จนการเรียนการสอนในชั้นวิวัฒนาการตามไม่ทัน ที่น่าเศร้ากว่านั้น คือ เมื่อเราขอดูข้อสอบจากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติก็จะได้มาแค่เพียงกระดาษคำตอบที่เราฝนดินสอตอบแต่ไม่ได้ข้อสอบมาด้วย เพราะ สทศ.บอกว่าจะไม่เผยแพร่ข้อมูล จนเริ่มมีเด็กบอกเล่าต่อกันแล้วว่าพบข้อสอบซ้ำ และมีโรงเรียนกวดวิชาที่วิเคราะห์ข้อสอบได้ใกล้เคียงกว่าที่โรงเรียนหรือชั้นเรียนจะให้คำตอบหรือความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ ที่แย่กว่านั้นคือปัญหาการสอบทั้งหลายยังไม่เคยมีหน่วยงานรัฐหน่วยไหนออกมาช่วยพวกเราได้เลย ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยคืออะไร" อิทธพล ระบุ
         
พงศธร นามพิลา นักเรียนโรงเรียนโซ่พิสัยพิทยาคม จ.บึงกาฬ เล่าว่า แม้จะอยากเรียนกวดวิชา แต่ต้นทุนเศรษฐกิจฐานะครอบครัวไม่ดี และที่ จ.บึงกาฬ ไม่มีสถาบันกวดวิชา หากจะเรียนต้องไปเรียนข้ามจังหวัด
         
"ผมเป็นลูกเกษตรกร เงินไปเรียนแต่ละวันก็ยังยาก การจะไปแข่งขันจึงต้องใช้ความพยายามมาก ไม่มีเงินรองรับ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงระดับอุดมศึกษา อยากให้แก้ไขที่ระบบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โดยการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในเรื่องการเรียนรู้ เนื้อหา สอดคล้องกับสิ่งที่จะนำไปใช้ได้จริงและเป็นเนื้อหาที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ จะได้ไม่ต้องไปเรียนกวดวิชา แค่ตั้งใจเรียนในห้องเรียนก็พอแล้ว การจะให้ไปสอบรับตรงผมก็คงสู้ไม่ได้ จึงอยากให้เปิดโอกาสให้เด็กชนบท ยากจน ไม่มีทุน บางคนเรียนเก่ง แต่ขาดโอกาสบ้าง รวมทั้งอยากให้มีครูแนะแนวมีหลักสูตรชัดเจนจริงจัง เพื่อเด็กจะได้รู้จักตัวตนของตนเอง ไม่ต้องเรียนกันแบบหว่านแห แต่มุ่งตรงไปยังเป้าหมายของตนเองเลย" พงศธร กล่าว.