posttoday

"สนามเด็กเล่นอันตราย"...มัจจุราชร้ายใกล้บ้าน

11 เมษายน 2559

เมื่อช่วงปิดเทอมของลูกอาจกลายเป็นฝันร้ายของพ่อแม่ จาก"ความไม่ปลอดภัย"ใกล้บ้าน

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล 

"ช่วงปิดเทอม" ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของเด็กๆ ทุกคนต่างพร้อมใจออกมาวิ่งเล่นนอกบ้านอย่างอิสระเสรี ไกลหูไกลตาผู้ใหญ่

แต่แล้วไม่นาน เสียงวี้ดว้ายคึกคะนองแปรเปลี่ยนเป็นเสียงกรีดร้องตื่นกลัว เมื่อเด็กน้อยประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน เช่น ตกน้ำ ร่วงหล่นจากต้นไม้ ตกจากเครื่องเล่น รถเฉี่ยวชน โชคดีอาจได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เนื้อตัวฟกช้ำถลอกปอกเปิก โชคร้ายถึงขั้นหัวร้างคางแตก แขนขาหัก กระทั่งเสียชีวิต

ทั้งหมดนี้คืออันตรายที่แอบแฝงอยู่ใกล้บ้าน เป็นโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปิดเทอม

"3 เดือนอันตราย" โศกนาฏกรรมของเด็กไทยช่วงปิดเทอม

คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า เมืองไทยมีแต่ "7 วันอันตราย"สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น นั่นคือ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลปีใหม่ หารู้ไม่ว่าเด็กๆก็มีช่วง "3 เดือนอันตราย" เหมือนกันนั่นคือ ช่วงปิดเทอมใหญ่ เดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี

ข้อมูลของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ระบุว่า ในรอบ10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548 -2557 มีเด็กไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและความรุนแรง จำนวนทั้งสิ้น 32,297 ราย เฉลี่ย 3,500 รายต่อปี หรือ 250 รายต่อเดือน โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมใหญ่ 3 เดือน ประกอบด้วยเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม มีเด็กเสียชีวิตมากกว่า 1,000 ราย คิดเป็น 35 % ของการตายตลอดทั้งปี

"สนามเด็กเล่นอันตราย"...มัจจุราชร้ายใกล้บ้าน

 

"สนามเด็กเล่นอันตราย"...มัจจุราชร้ายใกล้บ้าน

ที่น่าตกใจกว่านั้นพบว่า ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุดคือ ช่วง 12 วันของกลางเดือนเมษายน ระหว่างวันที่ 12-23 มีเด็กอายุ 4-12 ขวบเสียชีวิตมากที่สุด เมื่อเทียบเท่ากับช่วงเวลาอื่นๆ

สาเหตุการตายของเด็กอายุ 4-12 ปีในช่วงเดือนเมษายนคือ 56 % ตายจากการจมน้ำ แหล่งน้ำเสี่ยงอยู่ละแวกชุมชน เช่น บ่อขุด สระน้ำสาธารณะ ห้วยหนองคลองบึงและแม่น้ำใกล้บ้าน / 25 % เกิดจากอุบัติเหตุจราจร ขับหรือซ้อนมอเตอร์ไซค์แล้วพลิกคว่ำ ถูกเฉี่ยวชน / 8 % ตกจากที่สูง เช่น ตกจากระเบียง หลังคา ต้นไม้ แป้นบาส เสาฟุตบอล หรือถูกของแข็งกระแทก เช่น เล่นสเก็ต ถูกเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นหล่นทับจนศีรษะได้รับกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อวัยวะภายในแตกแหลกเหลว / 7 % ถูกทำร้าย / 3 % ไฟดูดไฟช๊อต และอื่นๆอีก 1 % เช่น ขาดอากาศหายใจ น้ำร้อนลวก เป็นต้น

"สนามเด็กเล่นมรณะ" ภัยร้ายใกล้บ้าน

"สนามเด็กเล่น" ถือเป็นสถานที่สุดอันตรายที่มีเด็กบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก บอกว่า สาเหตุการเสียชีวิตของเด็กในสนามเด็กเล่นมีอยู่ 2 ประการคือ "อุปกรณ์เครื่องเล่นติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน" และ "ขาดการบำรุงรักษา"

"อุปกรณ์เครื่องเล่นมักติดตั้งไม่ถูกวิธี คิดดูเครื่องเล่นน้ำหนักหลายร้อยกิโลกรัมถูกออกแบบมาเพื่อให้เด็กเล่นอย่างเต็มที่ แกว่งไกว หมุน ปีนป่าย แต่กลับติดตั้งแบบไม่ยึดติดฐานรากจนล้มลงมาทับเด็กตาย ขณะเดียวกันเครื่องเล่นมีความสูง ทำให้เด็กปีนตกลงมาใส่พื้นสนามซึ่งแข็งมาก ส่วนใหญ่เป็นพื้นปูน ยางมะตอย หรือดินแข็งๆ ที่ผ่านมาเราเคยร่วมกับสมาคมคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ออกหนังสือ "คู่มือการติดตั้งเครื่องเล่นอย่างถูกวิธี" โดยหลักๆจะบังคับให้เครื่องเล่นต้องยึดติดฐานราก มีความสูงไม่เกิน 180 ซม. พื้นสนามต้องเป็นยางสังเคราะห์ หรือทรายซึ่งดูดซับพลังงานได้ดี มีความลึก 30 ซม. แต่คนปฏิบัติตามน้อยมาก อ้างว่าไม่มีงบประมาณ ดูแลทำความสะอาดยาก"

"สนามเด็กเล่นอันตราย"...มัจจุราชร้ายใกล้บ้าน

สาเหตุสำคัญอีกประการคือ สนามเด็กเล่นหลายแห่งไม่มีการดูแลซ่อมแซม ปล่อยให้ชำรุดเสียหายจนเป็นที่น่าหวาดเสียว

"ส่วนใหญ่ติดตั้งเครื่องเล่นเสร็จก็จบ ไม่มีการดูแลต่อ สวยงามน่าชมเชยแค่ช่วงแรกๆ แต่ไม่เกิน 6 เดือนก็จะเริ่มทรุดโทรม เพราะเด็กเล่นเยอะ เล่นกันพลิกแพลงผาดโผนตามธรรมชาติของเขา แม้เครื่องเล่นจะถูกออกแบบมาให้คงทนระดับหนึ่ง แต่หากไม่มีการตรวจสอบ บำรุงซ่อมแซมอย่างสม่ำเสมอ ไม่นานก็พัง พอพังแล้วก็ไม่มีการติดป้ายห้าม ปล่อยให้เด็กเล่นกันต่อไปจนเกิดอุบัติเหตุขึ้นในที่สุด"

ยกตัวอย่างโศกนาฏกรรมที่ตกเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ นั่นคือ เหตุแป้นบาสล้มทับเด็กชายวัย 10 ขวบเสียชีวิตที่อ.วังทอง จ.พิษณุโลกเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า แป้นบาสมีสภาพทรุดโทรม แถมยังไม่ถูกติดตั้งแบบยึดติดฐานราก มีเพียงอิฐบล็อกถ่วงไว้ เมื่อเด็กขึ้นไปเก็บลูกบอลที่ติดอยู่ ส่งผลให้แป้นบ้านขนาดสูงกว่า 4 เมตรล้มครืนลงมาจนศีรษะกระแทกตายคาที่

"สนามเด็กเล่นอันตราย"...มัจจุราชร้ายใกล้บ้าน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ทุกครั้งหลังเกิดอุบัติเหตุเด็กเสียชีวิตในสนามเด็กเล่น ผู้เสียหายไม่เคยฟ้องร้องเอาผิดกับใครได้แม้แต่คนเดียว

นักวิชาการด้านความปลอดภัยในเด็กรายนี้ สารภาพว่า  ที่ผ่านมาคดีมักจบลงด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ย จ่ายค่าเสียหายให้ครอบครัวเหยื่อ ยังไม่เคยถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลเอาผิดเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือผู้รับผิดชอบพื้นที่ เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่าง

"ขณะนี้สคบ.กำลังร่างระเบียบเรื่องการเอาผิดต่อผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ปลอดภัย รวมถึงเอาผิดผู้ให้บริการด้วย คำถามคือ แล้วสนามเด็กเล่นถือเป็นการให้บริการสาธารณะหรือเปล่า ควรเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้นำท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งเป็นผู้จัดหาเครื่องเล่นมา แต่กลับติดตั้งไม่ถูกวิธี ไม่ดูแลรักษา ปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมจนเป็นอันตราย พอเกิดเหตุก็โทษพ่อแม่เด็กที่ปล่อยลูกมาเล่น แต่ไม่มีใครรับผิดชอบ"

"สนามเด็กเล่นอันตราย"...มัจจุราชร้ายใกล้บ้าน

ถึงเวลาจัดระเบียบ"เซฟตี้โซน"สำหรับเด็ก

ความตายของเด็กๆในช่วงปิดเทอมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือโชคชะตากลั่นแกล้ง หากแต่เกิดจาก"ความปล่อยปละละเลย"ของผู้ใหญ่

รศ.นพ.อดิศักดิ์ เผย หากเกิดอุบัติเหตุในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ความตายของเด็กกลุ่มนี้ถือเป็นความละเลยของผู้ปกครอง ขณะที่ความตายของเด็กอายุ 7 ปีขึ้นไปมักพบว่าเป็นความละเลยของผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดูแลพื้นที่ เช่น ไม่จัดพื้นที่เล่นปลอดภัยสำหรับเด็ก พื้นที่เล่นของเด็กไม่แยกเด็กออกจากถนน แหล่งน้ำ ไม่ตรวจสอบการติดตั้งเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นให้มั่นคง ไม่ตรวจสอบความปลอดภัยของสนามกีฬา เช่น แป้นบาส เสาฟุตบอล ที่ใช้งานมานานหลายปี

"เด็กอายุ 4-6 ขวบยังไม่รู้เรื่้องความเสี่ยง ไม่รู้ว่าตรงไหนคืออันตราย ผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ดูแลแบบ"มองเห็น คว้าถึง วิ่งเข้าไปช่วยได้ทัน" ส่วนเด็กอายุ 7 ขวบขึ้นไป เป็นวัยที่พ่อแม่เริ่มปล่อย พัฒนาการสติปัญญาเริ่มจะรู้ว่าอะไรอันตราย อะไรเสี่ยง จึงจำเป็นต้องมีคนสอนว่าวิธีการเล่นที่ปลอดภัยคืออะไร ตรงไหนคือจุดเสี่ยง แล้วถ้าพ้นหูพ้นตาพ่อแม่ไปเล่นแล้วเกิดอุบัติเหตุ เช่น แป้นบาสหล่นทับ ตรงนี้ผู้นำท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่ดูแลต้องรับผิดชอบ เพราะเครื่องเล่นนั้นเป็นเงินของชุมชนซื้อมาติดตั้ง แต่ชุมชนกลับไม่ได้ดูแลให้ดี จะมาพูดทำนองว่าหามาให้เล่นก็บุญแล้ว แบบนี้ไม่ถูกต้อง

"สนามเด็กเล่นอันตราย"...มัจจุราชร้ายใกล้บ้าน

กลับมาที่ช่วงเวลา 12 วันกลางเดือนเมษายน ซึ่งถูกระบุว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสูญเสียที่มีเด็กสังเวยชีวิตมากที่สุุดของปี

ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก เสนอแนะว่า ช่วงสงกรานต์นี้ ชุมชน ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้จัดการพื้นที่ ต้องเตรียมพื้่นที่ให้เล่นน้ำเฉพาะ (Zoning) เพื่อลดอุบัติเหตุจราจร พื้นที่โซนนิ่งต้องพื้นเป็นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เน้นป้องกันการจมน้ำ ถูกรถชน ของหนักหล่นทับ ตกจากที่สูง ถูกไฟฟ้าดูด เฝ้าระวังความรุนแรง อันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ งดเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดขายอุปกรณ์ฉีดน้ำที่เป็นอันตรายอย่างเด็ดขาด

"การเตรียมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กในชุมชนถือว่ายังบกพร่องมาก เสี่ยงเจ็บเสี่ยงตาย ในโรงเรียนยังมีพื้นที่จำกัด มีรั้วรอบขอบชิด มีครูดูแลบ้างเป็นครั้งคราว แต่ชุมชนไม่มีเลย เด็กๆต้องไปหาที่วิ่งเล่นกันเอง ชุมชนจึงควรเตรียมพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเล่น โดยอาจจัดให้มีผู้สอดส่องดูแลความปลอดภัยของเด็กๆที่เล่นนอกบ้าน เช่น จัดให้มีพี่เลี้ยงชุมชน(Playgroup) เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาแทนพ่อแม่เด็กในช่วงปิดเทอม"

อย่าลืมว่า ธรรมชาติของเด็กต้องวิ่งเล่น สนุกสนานเฮฮา โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดปิดเทอม อันถือเป็นช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลายของพวกเขา ดังนั้นการจัดการพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูกหลานของเราจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง.

"สนามเด็กเล่นอันตราย"...มัจจุราชร้ายใกล้บ้าน