posttoday

"ถ้าเงินพูด ความยุติธรรมจะเงียบ" ไขปมคาใจสังคม คนรวยทำผิดไม่ติดคุก

23 มีนาคม 2559

ตีแผ่เล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมายที่เปิดช่องให้คนรวยไม่ติดคุก ผ่านปากคำทนายความ-อดีตตำรวจ

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคดีอุบัติเหตุที่สร้างความสั่นสะเทือนในแก่สังคมมากมาย

ไล่ตั้งแต่ ปี 2550  คดีหมูแฮม เมื่อไฮโซหนุ่มขับรถเบนซ์พุ่งชนคนบนทางเท้าเสียชีวิตบริเวณปากซอยสุขุมวิท  26 หลังไม่พอใจที่ถูกรถเมล์ขับปาดหน้า  หลังต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมนาน 8 ปี สุดท้ายศาลสั่งจำคุกหมูแฮม 2 ปี 1 เดือน ไม่รอลงอาญา

2553 เยาวชนหญิง ขับซีวิคเฉี่ยวชนรถตู้โดยสารบนทางด่วนยกระดับโทลล์เวย์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ ท้ายที่สุดศาลลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา 4 ปี พร้อมให้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม

2554 เยาวชนชาย วัย 19 ปี ทายาทนักธุรกิจชื่อดังขับปอร์เช่ป้ายแดงพุ่งชนคนจนร่างขาด 2 ท่อนเสียชีวิต ต่อมามีการตกลงจ่ายเงินชดเชยให้มารดาของผู้เสียชีวิต 5 หมื่นบาท เงินสินไหมทดแทน 2 แสนบาท และเงินช่วยเหลืออีกจำนวนหนึ่ง คดีจบลงตรงที่ญาติไม่ติดใจเอาความ

2555 ทายาทเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลังซิ่งเฟอร์รารี่ชนด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ งานป. สน.ทองหล่อ เสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ปัจจุบันคดียังไม่สิ้นสุด

ล่าสุด เมื่อ 13 มี.ค.2559 หนุ่มซิ่งเบนซ์พุ่งชนรถยนต์ฟอร์ด เฟียสต้าเป็นเหตุให้นิสิตปริญญาโทเสียชีวิต 2 ราย พร้อมถูกแจ้งข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทรัพย์สินเสียหาย ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ กรณีไม่ยอมให้ตรวจวัดแอลกอฮอล์ในร่างกาย และขับรถโดยเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่นหรือหย่อนความสามารถในการขับขี่

ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดคำถามในสังคมไทยถึงกระบวนการยุติธรรมว่า ทำไมคนรวยก่อเหตุถึงไม่ค่อยติดคุก แค่รอลงอาญา หลายรายคดียืดเยื้อจนหมดอายุความ และถูกลืมไปในที่สุด เบื้องหลังการต่อสู้คดีของผู้มีอันจะกินเหล่านี้เป็นอย่างไร ใช้เงิน เส้นสายบารมี หรืออะไรที่มันลึกลับซับซ้อนมากกว่านั้น

5 เหตุผล คนรวยรอดคุก

เกิดผล แก้วเกิด  ทนายความชื่อดัง บอกด้วยน้ำเสียงเฉียบขาดว่า  เงินเป็นสัจธรรมของชีวิต แม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมได้ในทางตรง แต่ในทางอ้อมไม่มีใครปฎิเสธได้ลง มีเหตุผล 5 ข้อที่ทำให้เงินสามารถ"ง้าง"ความยุติธรรมได้

การประกันตัว เมื่อเกิดการกระทำความผิดและจับกุมตัวขึ้น สิ่งแรกที่ต้องใช้เพื่อแลกกับอิสรภาพวินาทีนั้นคือ “เงินประกันตัว” ยิ่งโทษสูงก็ต้องใช้เงินประกันตัวมาก สำหรับคนรวย เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา ขณะที่คนจนนั้นแสนลำบากและอาจต้องอยู่ในห้องขังยาวนานกว่าจะหาเงินได้ เรียกว่าแค่เริ่มต้น สภาพจิตใจของพวกเขาในการต่อสู้กับขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมก็ลดฮวบฮาบแล้ว

จ้างทนายความ การต่อสู้คดี  เราต้องเตรียมตัวตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีทนายความเข้ามาให้คำปรึกษาช่วยเหลือแทบทุกขั้นตอน ไล่ตั้งแต่ ชั้นสอบสวน หลังการประกันตัว การรวบรวมเตรียมพยานหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะคดีใหญ่ๆ จำเป็นเหลือเกินต้องทำอย่างรอบคอบและรอบด้าน คนรวยสามารถจ้างทนายเก่งๆที่เต็มไปด้วยสายสัมพันธ์ กว้างขวาง  ขณะที่ฝั่งคนจน น้อยคนจะมีเงินจ้างทนายความ หรือมีทนายอาสาเข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่ก่อนถูกฟ้อง  ขณะที่ "ทนายขอแรง"ที่ศาลจัดหาให้กับจำเลย กรณีจำเลยไม่มีทนายความ อาจทำหน้าที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่หรือทุ่มเทเท่ากับกลุ่มทนายมือดีที่ถูกว่าจ้าง

ประวิงเวลาได้ยาวนานกว่า เงินถือเป็นตัวประวิงเวลาในการต่อสู้คดี โดยสามารถขอเลื่อนพิจารณาคดีเพราะทนายป่วย แต่คนจนมีเงินจำกัด ประวิงเวลานานไม่ได้ เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายในการเดินทางมาศาลและจ้างทนายความแต่ละครั้ง นานเข้าก็ถอดใจ บางคนไปกู้หนี้ยืมสิน แม้กระทั่งขายที่ดินมาต่อสู้ก็ยังไม่พอ  บางรายเลือกยอมรับผิดโดยภาระจำยอม เมื่อเห็นว่าการต่อสู้ไม่คุ้มกับเงินทองที่ต้องเสีย

ช่องทางกฎหมาย กฎหมายเปิดช่องว่าถ้าผู้กระทำความผิดสำนึกผิด พร้อมกับบรรเทาความเสียหาย ศาลสามารถใช้ดุลพินิจลงโทษสถานเบาได้  โดยคนรวยนั้นมักจ่ายเงินให้กับคู่กรณีจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจเอาความ ทำให้ศาลเห็นว่าผู้กระทำนั้นสำนึกผิดแล้ว ขณะที่คนจนสำนึกผิดแล้วเช่นกัน แต่ไม่มีปัญญาบรรเทาความเสียหายให้เหยื่อ

ระบบอุปถัมภ์ เส้นสาย พวกพ้อง คนรวยมักมีเครือข่าย รู้จักผู้อำนาจกว้างขวาง ตลอดชีวิตของคนเหล่านั้นบริจาคเงินซื้ออุปกรณ์ให้กับสำนักงานและองค์กรต่างๆมากมายจนเกิดเป็นระบบอุปถัมภ์ ช่วยเหลือเกื้อกูล และอาจมีความเกรงใจต่อกันในการทำหน้าที่ ผิดกับพวกคนจน อย่าว่าแต่บริจาค เงินจะกินยังไม่มี

“เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของเงินล้วนๆ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม คนจนไม่มีเงิน ไม่มีพวก บางรายไม่มีความรู้อีก คนรวยกระซิบเบาๆ ได้ยินกันทั้งสังคม คนจนตะโกนหน้าโรงพักอาจไม่มีใครได้ยินเลย กฎหมายไม่ได้บอกว่าคนรวยต้องได้รับโทษน้อยหรือมากกว่าคนจน แต่ต้องเข้าใจว่าการมีเงินมันสามารถนำพาตัวเองให้รอดได้ สร้างโอกาส และอาจได้รับการสนับสนุนมากกว่า พวกเขาใช้เงินทำงาน เหมือนที่มีใครเคยเปรียบเปรยไว้ว่า 'ถ้าเงินพูด ความยุติธรรมจะเงียบ' "

ทนายเกิดผล อดีตทนายผู้ว่าความคดีหมูแฮม เผยว่า เขาต้องใช้เวลาในการต่อสู้คดีดังกล่าวถึง 8 ปี กว่าผู้ต้องหาจะถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี 1 เดือนในที่สุด ซึ่งหากผู้ต้องหาเป็นคนจนคงไม่มีเงินจำนวนหลายล้านบาทชดใช้ผู้เสียหาย และต้องติดคุกไปนานแล้ว

“เราก็จะเห็นภาพในลักษณะคนรวยรอดคุกหรือได้รับโทษน้อยกว่าคนจนแบบนี้ไปตลอด ทุกอย่างไม่ได้อยู่ที่ใจอย่างเดียว แต่อยู่ที่เงินด้วย แม้ความยุติธรรมไม่ได้เลือกคนจนหรือรวย แต่เงินมันง้างความยุติธรรมได้ ไม่มากก็น้อย มันทำได้  ตราบใดที่สังคมเห็นเงินมีค่า สัจธรรมนี้ยังมีตลอดไป จนกว่าเงินจะไม่มีค่านั่นแหละ”

"ถ้าเงินพูด ความยุติธรรมจะเงียบ" ไขปมคาใจสังคม คนรวยทำผิดไม่ติดคุก เกิดผล แก้วเกิด

แบงค์พันหนาๆงัดเหล็กห้องขังได้

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร หรือ ผู้การวิสุทธิ์ อดีตนายตำรวจฝีปากกล้า กล่าวว่า คนรวยเป็นได้ทุกอย่าง ทั้งผู้มีอำนาจ และมากไปด้วยโอกาส โดยเฉพาะในสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมอุปถัมภ์ เพียงแค่ “นามสกุล” ก็สร้างความเกรงใจและบารมีได้มากมายแล้ว

“คนรวยควานหาอำนาจ สร้างบารมีได้ทุกอย่าง สมัยก่อนมีนักการเมืองผู้อื้อฉาวใช้ความรวยสร้างบารมี บริจาคสร้างป้อมตำรวจ ตู้ยามไปทั่วบ้านทั่วเมือง บางคนบริจาคคอมพิวเตอร์ให้หลายองค์กร เมื่อถึงวันเกิด งานแต่ง หรืองานสำคัญ ก็ส่งมอบของขวัญให้ตำรวจ ตัวอย่างเช่น งานขึ้นบ้านใหม่ของนาย ก. คนทั่วไปใส่ซองพันเดียว คนรวยใส่ไปเลยหนึ่งแสน สังคมบ้านเราเป็นระบบอุปถัมภ์ คนรวยมีเงินมีทอง เคยช่วยเหลือข้าราชการทั้งด้านที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ของแบบนี้มีผลกับอนาคต เมื่อต้องทำคดีสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่เคยให้ความช่วยเหลือหรืออุปภัมภ์”

ผู้การวิสุทธิ์ยกตัวอย่างบทสนทนาในเหตุการณ์สมมติเมื่อคนรวยไปงานขึ้นบ้านใหม่ของนายตำรวจใหญ่...

“เอ้า...ได้ข่าวท่านจะขึ้นบ้านใหม่หรอครับ ขาดเหลืออะไรบ้างล่ะ”
“พอดี ยังไม่ได้ติดแอร์เลยครับ”
“เอ้า มีกี่ห้อง เดี๋ยวจัดการให้ จะเอายี่ห้อไรล่ะ  เอาอย่างนี้นะ ผมไม่มีความรู้เรื่องแอร์หรอก  ท่านไปติดมา แล้วมาเบิกเงินกับผม”
“ครับ พี่มีบุญคุณกับผมมากเลย เดี๋ยวจัดตู้แดงไปติดไว้หน้าบ้าน พี่มีอะไรให้ช่วยเหลือ บอกนะครับ”

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับลูกหลานของคนรวย เช่น เกิดอุบัติเหตุขับรถชนคนตาย บทสนทนาเดินทางเข้ารูปแบบนี้...

“ท่านครับ พอดีลูกผมไปขับรถชนคนมา ทำไงดี”
"เฮ้ย สน.อะไร ครับพี่”
“สน.... ครับ”
“เดี๋ยวจัดการให้”

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ บอกว่า ทุกอย่างหลังเกิดคดีความ เป็นไปตามบารมีของคนรวยผู้มีอำนาจ จัดการพูดคุยกับทนาย นายตำรวจ และอัยการ ใช้เงินเป็นสื่อกลางนำพาให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างง่ายดายขึ้น

“คนมีเงินจ้างทนายเก่งๆเฉพาะทางมาเป็นที่ปรึกษาคดี คุยเลยว่าจะจัดการเหตุการณ์นี้อย่างไร ยอมรับหรือปฎิเสธไว้ก่อน ปกติหากทนายได้ค่าตัว 5 หมื่น คนรวยเขาให้เลย 3 แสน หาทางออกให้หน่อย คดีอื่นๆเบาๆมือลง มาดูคดีนี้ก่อน สู้ไปสู้มา ถ้าศาลชั้นต้นตัดสินเข้าทาง เขาเหน็บให้อีกล้าน สู้อุธรณ์ได้ผลที่พอใจเอาไปอีกล้าน หากดูท่าไม่ดี ประวิงเวลาออกไปก่อน ปฎิเสธหรือแจ้งต่อศาลว่า ทนายไม่พร้อมเนื่องจากเจ็บป่วย มีใบรับรองแพทย์มาประกอบก็ว่ากันไป”

อดีตนายตำรวจใหญ่ บอกว่า ช่วงเวลาที่สังคมเริ่มเงียบคือจังหวะสำคัญในการวิ่งเต้นจัดการล็อบบี้ยิสต์ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับคดีและทำทุกอย่างให้ดำเนินไปตามที่ต้องการ

“สังคมและสื่อกระหน่ำกันแค่ 7 วัน เรื่องเริ่มเงียบเมื่อไหร่ก็วิ่งเต้นกันเลย วิ่งตั้งแต่ตำรวจเจ้าของคดี พนักงานสอบสวน ผู้กำกับ ผู้การ บางคนวิ่งยันรัฐมนตรี คุยกันหมด แต่ละคดีกว่าจะตัดสินใช้เวลานาน ระหว่างนั้นเขาก็ติดต่อเกื้อกูลกันตลอด สิ้นปีทีนึงก็โทรหาทนาย เฮ้ย คุณ มาสรุปคดีให้ผมฟังหน่อย กินข้าวกัน จัดเลี้ยงอย่างดี มีไวน์หรู คุยเสร็จ ก่อนแยกย้ายกลับบ้าน เหน็บให้อีก 2 แสน ดีไม่ดี ทนายอาจจะอัพเดทความคืบหน้าให้ฟังว่า ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า อัยการคดีนี้คือใคร เพื่อนผมเอง เรียนนิติศาสตร์รุ่นเดียวกัน ผมจะเอาเงินนี้ไปซื้อของฝากให้เขาหน่อยสัก 3 หมื่น โอ้โห จบเลย

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ บอกว่า หากพนักงานสอบสวน "รู้กัน" กับอัยการเมื่อใด ทุกอย่างเข้าทางคนรวยแน่นอน  กลเม็ดเทคนิคที่ใช้ประจำคือ นัดแนะสืบพยานหลักฐานอย่างไรให้สำนวนแกว่ง และอย่างไรให้มันแน่น หลังจากนั้นก็โยนคดีกันไปกันมา ประวิงเวลาให้เนิ่นนานที่สุด  โดยพนักงานสอบสวนส่งเรื่องไปยังอัยการ อัยการก็เปิดรูสำนวนไว้  ก่อนจะแทงกลับมาให้พนักงานสอบสวนเพิ่มเติมอีกรอบ โยนกันไปมา ครั้งหนึ่งใช้เวลาราว 3-4 เดือน  หลายหนอัยการสั่งให้สอบพยานเพิ่มเติม ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน กว่าจะหากันเจอ คดีหมดอายุความก็มี

ท้ายที่สุดหากช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างเต็มความสามารถแล้ว หลักฐานไม่แน่นหนาพอที่จะหลุดรอดจากความผิด และไม่สามารถต้านทานการจับตาของสังคมได้ ทางรอดสุดท้ายคือ เผ่นหนีไปต่างประเทศ

“ถ้างานนี้ช่วยไม่ไหว เพราะมันชัดเจน  หลักฐานแน่นหนา คนรวยเขาก็บอก เอ้าๆ ไม่เป็นไร ชัดเจนแบบนี้  แต่ขอให้รอลงอาญาแล้วกัน ไหวไหม ถ้าไม่ไหวอีก เพราะหลักฐานและกระแสสังคมมันชัด ไม่มีช่องหลีก ติดคุกแน่ๆ เขาก็เผ่นดีกว่า แต่คิดดูสิ ระยะเวลากว่าจะมาถึงตอนนี้หลายปี คนลืมไปแล้ว อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้นแหละ ประเทศไทยสบายๆ เขาถึงบอกกันว่า อยู่ประเทศไทย เอาแบงค์พันมามัดรวมกันหนาๆ หนังสติ๊กรัดดีๆ ไปงัดกรงขัง ง้างเหล็ก จนผู้ต้องหาออกมาได้เลย"

"ถ้าเงินพูด ความยุติธรรมจะเงียบ" ไขปมคาใจสังคม คนรวยทำผิดไม่ติดคุก ผู้การวิสุทธิ์ วานิชบุตร

"เยียวยา-สำนึกผิด"จนรอดคุก

“กระแสสังคมที่บอกว่าคนรวยไม่ต้องติดคุกนั้น เป็นเพราะหลายคนไม่ทราบเรื่องการเยียวยาต่อผู้เสียหายหรือได้รับผลกระทบ ซึ่งคนรวยส่วนใหญ่เมื่อตกเป็นจำเลย มักเยียวยาต่อผู้เสียหายด้วยรูปแบบต่างๆอย่างเร่งด่วน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าชดเชย ค่าทำขวัญเป็นตัวเงินหลักแสนหลักล้าน เมื่อบรรเทาความเสียหายและรู้สึกสำนึกผิด มันเลยกลายเป็นเหตุแห่งการปรานีที่ศาลจะพิจารณาลดโทษให้ได้ อาจเหลือเพียงแค่รอลงอาญา”คำบอกเล่าของ สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความชื่อดังและประธานเครือข่ายต่อต้าน การบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ทนายสงกานต์ บอกว่า  สังคมควรจะทราบเรื่องการเยียวยา ซึ่งกลายเป็นเหตุแห่งความปรานีที่ศาลจะพิจารณาลดโทษได้ ขณะเดียวกันไม่ต้องห่วงว่าคนจนจะไม่มีโอกาสแสดงความสำนึกผิดหรือเยียวยา เพราะหากแสดงน้ำจิตน้ำใจตามฐานะตน ศาลจะมีเหตุแห่งความปรานีเหมือนกัน สิ่งเล็กๆน้อยๆตามกำลังก็ล้วนมีผลแห่งการบรรเทาโทษทั้งสิ้น

ทว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงในกระบวนการยุติธรรมคือ ความไม่เท่าเทียมในการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และความไม่รู้ของเหยื่อผู้ต้องหา โดยเฉพาะคนยากจนหรือมีกำลังทรัพย์น้อย

"ถ้าเงินพูด ความยุติธรรมจะเงียบ" ไขปมคาใจสังคม คนรวยทำผิดไม่ติดคุก สงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์

"เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนต้องปฎิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม เท่าเทียม ไม่ว่าผู้ต้องหาจะเป็นใคร จะรวยหรือจน อย่าเกรงอกเกรงใจ เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ขณะเดียวกันคนทั่วไปเมื่อตกเป็นผู้ต้องหา ที่ผ่านมามักไม่ทราบขั้นตอนทางกฎหมาย ไม่ทราบสิทธิและหน้าที่ว่าตัวเองมีสิทธิอย่างไร ทั้งที่จริงแล้ว แม้จะไม่ร่ำรวย แต่หากตกเป็นผู้ต้องหา ก็สามารถที่จะขอทนายหรือผู้ซึ่งไว้วางใจในการต่อสู้ได้ มีสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว  สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมตามสมควร และ สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง แต่ส่วนมาก ประชาชนไม่ทราบเลย”

ทนายสงกานต์ ชี้ว่า ในวันที่สังคมตื่นตัวเช่นวันนี้ กระบวนการยุติธรรมและการดำเนินคดีกับคนรวยจะถูกสังคมจับตามากขึ้น และการลอยตัวอยู่เหนือกฎหมายนั้นจะกลายเป็นเรื่องยาก

ทั้งหมดคือเหตุผลทางกระบวนการยุติธรรมและเหตุผลทางด้านวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ที่พอจะให้คำตอบได้ว่า "ทำไมคนรวยทำผิดถึงไม่ติดคุก"