posttoday

100 ปี "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" มุมที่ไม่ค่อยมีใครเห็น

10 มีนาคม 2559

ข้อเสนอของป๋วยยังก้าวหน้าแบบเดียวกับที่รัฐธรรมนูญ2559กำลังขะมักเขม้นร่างกันเพราะป๋วยเสนอให้สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เสนอให้มีการทำประชามติในประเด้นสำคัญรวมถึงเสนอให้สส.มีอายุต่ำสุดเพียง20ปีเท่านั้น

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

1 ปีให้หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 ยุคแห่งประชาธิปไตยเบ่งบาน มีการเลือกตั้ง “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” จากสมัชชาแห่งชาติ หรือ “สภาสนามม้า” 2,347 คน เลือกกันเอง ให้เหลือ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” จำนวน 299 คน

ประวัติศาสตร์ที่หลายคนลืมไป ในครั้งนั้น ศ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และหนึ่งในผู้ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารตัวเองของ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในอำนาจมานานกว่า 10 ปี อย่างเข้มข้น ได้รับเลือกเป็น สนช.ด้วย

ศ.ป๋วยได้รับคะแนนเป็นอันดับ 2 รองจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งในเวลานั้นเป็นทั้งเจ้าของหนังสือพิมพ์ และเจ้าของวรรณกรรมจำนวนมาก สะท้อนชัดว่า ป๋วยได้รับความนิยมจากสภาสนามม้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นนำ อย่างล้นหลาม แม้จะมีบทบาทต่อต้านรัฐมาเป็นเวลานานก็ตาม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาบทบาทของป๋วย หลังได้รับแต่งตั้งเป็น สนช. และในบทบาทที่คนไม่ค่อยรู้ คือ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 35 กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 2517

“ที่น่าสนใจ คือ อาจารย์ป๋วยเสนอให้ยกเลิกเรื่องเสรีภาพในความคิดและความเชื่อถือโดยไม่ต้องโยงศาสนา ซึ่งก้าวหน้ามากในเวลานั้น แต่ในที่สุดก็โดนแย้งว่า ‘สุดขอบฟ้ามากไป เอื้อให้กับระบอบสังคมนิยม บ้านเมืองจะเกิดความรุนแรง’ ซึ่งแน่นอน ในที่สุดมาตรานี้ ก็ไม่ผ่าน” สมชาย เล่าให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม ป๋วยได้เสนอให้เพิ่มมาตรา ว่าด้วย “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในมโนธรรม และการเชื่อในลัทธิใดๆ” แทน เพื่อเพิ่มความก้าวหน้าในรัฐธรรมนูญ

กระนั้นก็ตาม มาตราดังกล่าวก็โดนขวาง เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมเห็นว่า สิทธิเสรีภาพใน “มโนธรรมสำนึก” อาจขัดขวางการ “เกณฑ์ทหารเพื่อรับใช้ชาติ” จนประสบปัญหาเรื่องความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม ความหลักแหลมของอาจารย์ป๋วย คือ การลุกขึ้นอภิปรายว่า มโนธรรมในการเกณฑ์ทหาร หรือรับใช้ชาตินั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามว่า เกณฑ์ทหารนั้นจำเป็นเพียงใด เมื่อเทียบกับการบูรณะชนบท หรือบูรณะแหล่งเสื่อมโทรม ซึ่งรัฐควรให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะหากเกณฑ์ทหารได้ ก็ควรเกณฑ์คนไปพัฒนาชนบทได้

อย่างไรก็ตาม หลังการปะทะกันทางความคิด ข้อโต้แย้งของป๋วยก็ตกไปตามเคย เพราะโหวตแพ้เสียงข้างมาก

ไม่เพียงเท่านั้น ข้อเสนอของป๋วยยังก้าวหน้า แบบเดียวกับที่รัฐธรรมนูญ 2559 กำลังขะมักเขม้นร่างกัน เพราะป๋วยเสนอให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เสนอให้มีการทำประชามติในประเด็นสำคัญ รวมถึงเสนอให้ สส.มีอายุต่ำสุดเพียง 20 ปีเท่านั้น

แต่ก็เช่นเดียวกันกับข้อเสนอในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพราะข้อเสนอของป๋วยถูก สนช.ลงมติคว่ำแบบ “ขาดลอย” เช่นเดียวกัน

กลายเป็นว่าแม้ทุกข้อเสนอของป๋วยจะสร้างความก้าวหน้าให้กับรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 (ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญ 1 ใน 2 ฉบับ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด) แต่ก็ไม่ถูกหยิบยกเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้แต่เรื่องเดียว

ในที่สุด รัฐธรรมนูญก็ประกาศใช้ในช่วงเดือน ต.ค. 2517 โดยรัฐบาลที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นครั้งแรกคือรัฐบาลของหม่อมน้อง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และหลังจากนั้นก็เป็นรัฐบาลหม่อมพี่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็รับช่วงต่อ หลัง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยุบสภา

ทว่า แม้กระแสประชาธิปไตยจะมาแรงเพียงใด ก็ยังแพ้กระแส “ขวาพิฆาตซ้าย” ที่มาแรงกว่า ในที่สุดการปลุกปั่นก็นำมาสู่เหตุการณ์นองเลือดที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย อย่างเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ซึ่งก็ทำให้รัฐธรรมนูญที่ป๋วยร่วมร่าง ถูกฉีกไป พร้อมๆ กับประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เข้าสู่ยุคมืดอีกครั้ง

แต่นั่นยังไม่เศร้าเท่ากับว่า เวลานั้นป๋วยซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกมองว่าเป็นพวก “ซ้ายจัด” รวมถึงเป็นผู้นำปลุกปั่นนักศึกษา

จนในที่สุด ป๋วยก็ต้องเดินทางออกนอกประเทศ และไม่มีโอกาสได้รับใช้ชาติอีกเลย ทั้งที่เคยเป็นทั้ง “เสรีไทย” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ หรือกระทั่งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรืออธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สมชายใช้คำว่า “ป๋วย” ต้องใช้ชีวิตอยู่ในความเงียบตลอดเวลา ตั้งแต่ปี 2519 ไปจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2542

ขณะที่ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสถานะป๋วยเป็นแบบเดียวกับเทียนวรรณ และกุหลาบ สายประดิษฐ์

เพราะทั้ง 3 คน ต่างประสบปัญหาจากการ “แสดงความคิดเห็น” กระทบชนชั้นนำเช่นเดียวกัน และประสบปัญหาจากการ “พูดตรงไปตรงมา” ด้วยกันทั้งสิ้น

“คนที่พูดความจริงมีชะตากรรมเดียวกัน คือ ไม่ติดคุกก็อยู่ในประเทศไม่ได้” ธเนศ ระบุ ก่อนจะบอกว่า ปัญหาเหล่านี้ทำให้สังคมไทยลุ่มๆ ดอนๆ เสมอมา รวมถึงประวัติศาสตร์ยังคงวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าเรื่อยไป

100 ปี "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" มุมที่ไม่ค่อยมีใครเห็น