posttoday

ยุคตกต่ำของ"ตู้โทรศัพท์สาธารณะ"

09 มีนาคม 2559

จากอดีตสู่ปัจจุบัน และอนาคตที่รอวันล่มสลายของ"ตู้โทรศัพท์สาธารณะ"

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

ดูเหมือนว่า วัฏจักรของ “ตู้โทรศัพท์สาธารณะ” ใกล้เข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์

หลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศไล่รื้อถอนตู้โทรศัพท์สาธารณะครั้งใหญ่กว่า 4,000 เครื่อง โดยเฉพาะตู้ที่ชำรุดเสียหายไม่ได้ใช้ประโยชน์ ตู้ที่มีการติดตั้งอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงตู้ที่เข้าข่ายกีดขวางทางเท้า เพื่อรองรับมาตรการคืนทางเท้าให้ประชาชน บวกกับปัจจุบันสมาร์ทโฟนอันล้ำสมัยเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของผู้คน พกง่ายใช้สะดวก แถมยังราคาถูก

ส่งผลให้ปัจจุบันแทบจะไม่มีใครใช้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะอีกต่อไปแล้ว

ยุคตกต่ำของ"ตู้โทรศัพท์สาธารณะ"

จากยุครุ่งเรืองสู่ยุคตกต่ำ

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว "ตู้โทรศัพท์สาธารณะ" ไม่ต่างจากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ตั้งแต่ปากซอย สี่แยก ทางสามแพร่ง ยันหัวมุมถนนจะต้องมีตู้โทรศัพท์ตั้งโดดเด่นสะดุดตาผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา

ตู้โทรศัพท์สาธารณะเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2522 โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นำโทรศัพท์แบบหยอดเหรียญเข้ามาติดตั้งในเขตโทรศัพท์นครหลวงจำนวน 100 เครื่อง ก่อนเจริญก้าวหน้าต่อยอดเพิ่มจำนวนมากกว่าสองแสนตู้ทั่วประเทศดังเช่นทุกวันนี้

รังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  เผยว่า ปัจจุบันโทรศัพท์สาธารณะทั่วประเทศเหลืออยู่ทั้งหมดประมาณ 180,000 เครื่อง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มีอยู่ประมาณ 50,000 เครื่อง

เขายอมรับว่า วันนี้โทรศัพท์สาธารณะเป็นบริการที่ไม่สร้างกำไรอีกต่อไปแล้ว

ในอดีต ช่วงที่โทรศัพท์สาธารณะได้รับความนิยมสูงสุด มีการติดตั้งตู้ทั่วประเทศถึงกว่า 2 แสนเครื่อง เฉพาะในกรุงเทพสร้างรายได้เฉลี่ยถึงสัปดาห์ละ 3-4 พันบาทต่อเครื่อง  แต่ปัจจุบันรายได้เฉลี่ยแต่ละวันลดลงมาก ในกรุงเทพเหลือเพียง  150 - 200 บาทต่อเครื่องต่อเดือน ขณะที่ต่างจังหวัดรายได้ไม่ถึง 100 บาท  เทียบกับค่าดูแลรักษาเริ่มต้น 200 บาทขึ้นไปต่อเครื่องต่อเดือน  ต้องเรียกว่าโทรศัพท์สาธารณะนั้นแทบไม่ทำกำไรอีกแล้ว สมัยนี้คนที่ยังใช้บริการอยู่ส่วนใหญ่เป็นที่ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม ตามชุมชน รวมทั้งโรงเรียนบางแห่งที่ออกกฎห้ามนักเรียนนำโทรศัพท์มือถือมาเรียน จึงมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะเยอะกว่าที่อื่น แต่พอนำรายได้จากค่าบริการมาบวกลบกับต้นทุนและค่าดูแลบำรุงรักษาแล้ว ขาดทุนประมาณ 2,000 บาทต่อเครื่อง”

สิ่งที่จะทำให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะอยู่รอดต่อไปได้คือ พัฒนาให้มีความสอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบัน ควบคู่กับหารายได้ทางอื่นมาช่วยเหลือเพิ่มเติม

“ในต่างประเทศมีการพัฒนาโทรศัพท์สาธารณะให้สามารถบริการสัญญาณไวไฟ ซื้อขายของออนไลน์ได้ รวมทั้งมีรายได้จากการติดตั้งป้ายโฆษณาด้วย ที่ผ่านมาทีโอทีร่วมกับบริษัทเอกชน พัฒนาบริการโทรศัพท์สาธารณะแบบมัลติมีเดีย ในชื่อเว็บเพย์โฟน (Web PayPhone) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ แต่ถ้านำมาติดตั้งในพื้นที่สาธารณะทั่วไปตอนนี้คิดว่ายังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน”

ยุคตกต่ำของ"ตู้โทรศัพท์สาธารณะ"

รังสรรค์ บอกว่า แม้จะมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะลดลง เเต่ยังจำเป็นต้องมีต่อไป เนื่องจากตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ระบุว่า ระบบสื่อสารโทรคมนาคมของชาติต้องบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ  ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้กำกับดูแล มีหน้าที่กำหนดมาตรการให้มีการกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม

ล่าสุดมีการรื้อตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่กรุงเทพฯกว่า 4,000 ตู้ทั่วกรุงเทพตามนโยบายคืนทางเท้าให้ประชาชน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ธิติ ทรงเจริญกิจ ผอ.กองแผนงานและประสานสาธารณูปโภค สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เผยว่า ปัจจุบัน กทม.มีตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ได้รับอนุญาต ประมาณ 18,000 ตู้ ขณะที่ตู้ไม่ได้ใช้ประโยชน์และตู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 4,531 ตู้

“ทุกวันนี้มีโทรศัพท์สาธารณะจำนวนมากไม่ได้รับอนุญาตติดตั้งตามประกาศ พ.ศ. 2546 ลักษณะของตู้โทรศัพท์ผิดกฎหมาย เช่น ติดตั้งชิดป้ายรถประจำทาง ติดตั้งบนทางเท้าแคบๆ เหลือทางสัญจรให้ประชาชนน้อยกว่า 1.5 เมตร มีการติดป้ายโฆษณาต่างๆ บางตู้กลายเป็นที่เก็บสัมภาระของพ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งเป็นแหล่งมั่วสุม จึงจำเป็นต้องดำเนินการจัดระเบียบโทรศัพท์สาธารณะอย่างเร่งด่วนเพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชน

จากนี้ไปจะทำหนังสือเพื่อแจ้งกับบริษัทโทรศัพท์เจ้าของตู้ต่างๆว่าจะดำเนินการรื้อตู้ที่เข้าข่ายกีดขวางทางเท้าและไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยมอบหมายให้สำนักการโยธาเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนตู้โทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายลักลอบติดตั้งโดยไม่ได้ขออนุญาต กทม.จะเข้าไปรื้อถอนทันที

ยุคตกต่ำของ"ตู้โทรศัพท์สาธารณะ"

"คิดถึงแฟน-บอกรักพ่อแม่-โทรกลับบ้าน-ขอเพลง" ความทรงจำในตู้สี่เหลี่ยม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ตู้โทรศัพท์สาธารณะบางตู้กลายเป็นที่เก็บสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า บางตู้แปรสภาพเป็นถังขยะ เป็นโถฉี่ เป็นที่แสดงงานกราฟฟิตี้ แม้กระทั่งตู้ผีสิงที่รกร้างเต็มไปด้วยฝุ่นเกรอะกรัง ผิดจากสมัยก่อนที่ตู้สี่เหลี่ยมตู้นี้เปรียบดั่งวิมานรักของคนหนุ่มสาว เป็นที่พึ่งทางใจของลูกที่คิดถึงพ่อแม่

ภาพการถือเหรียญบาทกำไว้ในมือ ยืนรอต่อคิวด้วยความกระวนกระวาย ยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนอายุ 30 ปีขึ้นไป

สุเมธ หงส์ทอง พนักงานบริษัทเอกชน บอกว่า ตู้โทรศัพท์สาธารณะเก็บความทรงจำของเขาเอาไว้มากมาย โดยกับเฉพาะกับคนรักอย่างแม่ แฟน และเพื่อน

“15 ปีก่อน ตู้โทรศัพท์จำเป็นมาก เลิกเรียนต้องโทรไปบอกแม่ว่าจะให้มารับที่ไหน จะไปเที่ยวกับเพื่อนก็โทรนัดกัน รวมทั้งจีบสาว จำได้ว่าต้องคอยเดินหาตู้ดีๆในมุมเหมาะๆไว้ยืนคุยกับผู้หญิงที่เราชอบ บางตู้ดีจริง แต่คุยได้ไม่นาน เพราะเขินและเกรงใจคนยืนรอ ต้องวิ่งข้ามถนนไปในซอยลึกมืดๆ สลัวๆ ควานหาตู้ประจำเพื่อจะได้คุยกับสาวนานๆ

เช่นเดียวกับความทรงจำของ ญานี พานทอง เจ้าของธุรกิจส่วนตัว เล่าว่า เเม่ของเธอถึงขนาดออกกฎเคร่งครัดว่าทุกวันหลังเลิกเรียน เต้องโทรหาด่วน

“หนูเลิกเรียนแล้วนะแม่ แต่ขออยู่เล่นกับเพื่อนก่อน หนูเรียนพิเศษ หรือหนูยืนรอหน้าร้านขายน้ำนะแม่” ถ้อยคำเหล่านี้เป็นคำสนทนาอันคุ้นชินผ่านหูพลาสติกในตู้สี่เหลี่ยม

อารยา พึจตุรัส เจ้าของธุรกิจร้านถ่ายเอกสาร ให้ความเห็นว่า โทรศัพท์สาธารณะยังมีความจำเป็นในยามฉุกเฉิน เเม้จะถูกใช้งานน้อยมากในปัจจุบันก็ตาม

“มันเป็นอุปกรณ์ฉุกเฉิน ตอนเด็กๆเคยโดนล้วงกระเป๋า ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ต้องวิ่งไปที่ตู้สาธารณะ โทรหาตำรวจ แต่เดี๋ยวนี้ตู้สาธารณะขาดการดูแล หลายแห่งไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนใหญ่สกปรก ครั้งหนึ่งแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนหมดจะโทรถามอาการป่วยของลูกสาว เลยคว้าโทรศัพท์สาธารณะแต่กลับใช้งานไม่ได้ เงียบ ไม่มีสัญญาณอะไรเลย

ยุคตกต่ำของ"ตู้โทรศัพท์สาธารณะ" ภาพบรรยากาศประชาชนยืนต่อคิวใช้ตู้โทรศัพท์สาธารณะในอดีต

ขณะที่ ดีเจป๋อง-กพล ทองพลับ นักจัดรายการวิทยุชื่อดัง เล่าด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดีว่า เมื่อครั้งยังเด็กเคยหยอดเหรียญโทรขอเพลงจากดีเจตามคลื่นวิทยุ ถึงวันหนึ่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นดีเจ มีผู้ฟังใช้โทรศัพท์สาธารณะโทรเข้ามาเล่าพูดคุยด้วยเช่นกัน

“วัยรุ่นยุคก่อนต้องเคยแลกเหรียญโทรขอเพลงดีเจ หรือโทรจีบสาว ต้องเข้าคิวด้วยนะ บางคนใช้นานมาก ยืนรอจนจะหลับก็มี บางคนรอไม่ไหวโวยวาย 'เฮ้ย...นานไปแล้ว คุยเร็วหน่อยได้ไหม' นึกแล้วก็ตลก ตัวเราเองก็ต้องระวัง ยกหูเมื่อไหร่ จะดูคนอื่นก่อน มีคนต่อคิวไหม ไม่มีก็คุยยาวเลย โดยเฉพาะคุยกับสาว เคยโทรเข้าเบอร์บ้าน พ่อเขารับ เราไม่กล้าพูด รีบวางหูหนีเลย โทรกลับตามเราไม่ได้ด้วย”

ดีเจป๋อง บอกว่า ผู้ฟังวิทยุในยุคนั้นใช้โทรศัพท์สาธารณะโทรเข้ามาขอเพลง เล่าเรื่องราวสนุกๆ บ่อยครั้งเป็นเรื่องตลก บางทีเล่ายังไม่จบก็ตัดสายไปดื้อๆ เพราะเหรียญหมด

หากมองให้ลึกและรอบด้านแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า สังคมยุคนั้นดำเนินไปอย่างเนิบช้า เต็มไปด้วยการอคอย ต่างกับสมัยนี้ที่มีแต่ความเร่งรีบ และรอกันไม่ได้อีกแล้ว

ทางรอดยุคนี้...เปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานให้สอดคล้องกับเมือง

ในต่างประเทศ มีการปรับเปลี่ยนตู้โทรศัพท์สาธารณะให้สามารถใช้งานที่ตอบสนองกับพฤติกรรมของผู้คนในโลกสมัยใหม่ได้มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษและเยอรมนี บางเมืองออกไอเดียด้วยการจับเอาตู้โทรศัพท์สาธารณะมาแปลงโฉมเป็นห้องสมุดขนาดเล็ก หรือที่เมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา โครงการ LinkNYC แปลงโฉมตู้โทรศัพท์สาธารณะแบบเก่า ให้กลายมาเป็นตู้ Wi-Fi Hub จำนวน 7,500 จุด ปล่อยสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง มีฟังชั่นก์การใช้งานแสนล้ำ เปิดใช้งานแอพต่างๆ ได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดดูแผนที่จาก Google Map หรือเปิดเว็บเบราว์เซอร์เข้าเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงการโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (VoIP Calls) ได้แบบฟรีๆ  พร้อมกับมีช่องสำหรับเสียบหูฟังในการสนทนา และช่องเสียบสายชาร์จ USB และเพื่อความปลอดภัย หลังจากใช้งานเสร็จ ระบบจะทำการลบคุกกี้ และข้อมูลการใช้งานทั้งหมดโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉินต่างๆ ไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ด้วย

ส่วนบริเวณด้านข้างทั้ง 2 ด้านของตู้ ประกอบด้วยหน้าจอ LCD ขนาด 55 นิ้ว เพื่อใช้ในการโฆษณา นับได้ว่าเป็นนวัตกรรมแบบใหม่ที่สามารถสร้างประโยชน์ในการใช้งาน โดยคาดว่าตู้ไวไฟนี้จะสร้างรายได้จากค่าโฆษณาให้กับนครนิวยอร์ก 500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 17,540 ล้านบาทภายใน 12 ปี

ยุคตกต่ำของ"ตู้โทรศัพท์สาธารณะ"

กลับมาที่แนวทางการพัฒนาระบบโทรศัพท์สาธารณะในเมืองไทย

ยรรยง บุญหลง สถาปนิกชุมชนผู้มีชื่อเสียงจากการออกแบบพัฒนาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กล่าวว่า การใช้งบประมาณโดยภาครัฐ เรื่องตู้โทรศัพท์สาธารณะควรต้องเริ่มจากการดู “ความน่าจะเป็น” (probability) ว่าจะมีคนใช้งานกี่เปอร์เซนต์ แล้วโอกาสที่งบประมาณนั้นจะสามารถนำไปใช้ในเรื่องอื่นๆที่เป็นประโยชน์มากกว่าเท่าไร

“เราควรจัดสรรงบประมาณตามลำดับความสำคัญ สมมติว่าทุกหย่อมหญ้าในประเทศไทยมีตู้โทรศัพท์สาธารณะ ความน่าจะเป็นของคนที่จะใช้ตู้โทรศัพท์เหล่านี้ก็คือเปอร์เซนต์ของคนไม่มีโทรศัพท์มือถือนั่นเอง ยังไม่รวมคนที่ใช้เพราะไม่อยากเปิดเผยเบอร์โทรของตน ซึ่งในกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน รวมถึงคนที่ไม่มีมือถือที่ยังสามารถหยิบยืมโทรศัพท์คนอื่นใช้ได้ในยามฉุกเฉินอีก ทั้งหมดนี้ทำให้ ความน่าจะเป็นที่จะมีผู้ใช้โทรศัพท์สาธารณะจะยิ่งลดต่ำลงไปอีก สมการง่ายๆคือ (% ของคนไม่มีโทรศัพท์มือถือ) x (% ของคนที่ไม่สามารถยืมโทรศัพท์คนอื่นใช้ได้) คราวนี้สมมุติว่า เราไม่ได้มีตู้โทรศัพท์สาธารณะอยู่ทุกหย่อมหญ้า ความน่าจะเป็นของผู้ที่จะได้พบเจอและใช้ตู้เหล่านี้จะยิ่งลดต่ำลงไปอีก ดังนั้นการใช้งบประมาณ หรือการใช้กฏหมาย จึงควรดูความน่าจะเป็นของการใช้งานควบคู่ไปด้วย

ยรรยง เสนอว่า ผู้ให้บริการควรพัฒนาตู้โทรศัพท์ให้ใช้ประโยชน์ได้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น ไอเดียตัวอย่างคือ อาจทำเป็นตู้ร้องเรียนปัญหาต่างๆในพื้นที่ (webboard report)  และเอาไว้โหวตออนไลน์ เลือกนโยบายต่างๆของเขตนั้นๆ  พร้อมกับสามารถดูได้ในตู้ด้วยว่าปัญหาที่ที่ถูกร้องเรียนไป ไม่ว่าจะเป็นหลุมบ่อ สายไฟฟ้าอันตราย ฯลฯ สำนักงานเขตได้แก้ไขหรือยัง ถ้าเขตไม่แก้ไขปัญหาที่คนกด like จำนวนมาก จะถูกโชว์ไว้บนจอภาพภายนอกตู้

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ท่ามกลางวัฒนธรรมและกระเเสความเจริญของเทคโนโลยี ทุกอย่างต้องปรับตัวไม่เว้นเเม้กระทั่ง "ตู้โทรศัพท์สาธารณะ”

ยุคตกต่ำของ"ตู้โทรศัพท์สาธารณะ"