posttoday

เพลงเดียวปัง...ดังร้อยล้าน

21 กุมภาพันธ์ 2559

ส่องกลยุทธ์การทำธุรกิจของค่ายเพลง ในยุคที่ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลง ที่มีหลากหลายช่องทางมากขึ้น

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

บทเพลง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” ของ ก้อง ห้วยไร่ ทำยอดวิวในยูทูบได้ไปถึงเกือบ 67 ล้านวิว กระแสดั้งเดิมของเพลงนี้เริ่มโด่งดังจากภูมิภาคอีสาน โดยเผยแพร่ผ่านยูทูบจนทำยอดวิวได้ถึง 16 ล้านวิวในขั้นแรก ทำให้ก้อง ห้วยไร่ นักร้องไร้ชื่อเสียงที่เคยอยู่ในวงบอยแบนด์ร้องเพลงอีสานชื่อ “4 ผู้บ่าวห่าวด๊งด๊ง” ซึ่งออกมาทำงานเพลงของตัวเอง สามารถทำมาหากินเดินสายร้องเพลงโด่งดังในแถบภาคอีสานจนมีแฟนเพลงภูธรในระดับหนึ่ง

พอ ไข่มุก ผู้ประกวดร้องเพลงบนเวที เดอะ วอยซ์ นำบทเพลงที่ว่ามาร้องบนเวทีประกวด ทำให้เพลงนี้รู้จักกันแพร่หลายมากยิ่งขึ้นในชั่วข้ามคืน จนคนไปหาต้นฉบับของก้อง ห้วยไร่ มาฟังกัน และคลิปประกวดของไข่มุกคลิปนี้ก็มีคนเข้าชมถึงเกือบ 28 ล้านวิวเข้าไปแล้ว ผลพวงตรงนี้มีการคำนวณกันว่า ก้อง ห้วยไร่ มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเดินสายร้องเพลงไปทั่วประเทศอย่างต่ำประมาณ 30 ล้านบาท/ปี (ในกรณีที่เรียกค่าตัวเท่าเดิม) ยังไม่นับค่าเก็บลิขสิทธิ์ หากมีตัวแทนเข้ามาดูแล จะมีมูลค่าหลายสิบล้านบาทเช่นกัน

ล่าสุด กษม อดิศัยปัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล (MPI) เปิดเผยว่า เพลง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” ของ ก้อง ห้วยไร่ นั้น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ไม่ได้ทำหน้าที่บริหารลิขสิทธิ์ มีเพียงการไปขอซื้อลิขสิทธิ์เพลงนำมาทำเอ็มพี 3 เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะได้ค่าลิขสิทธิ์จากการนำไปจัดจำหน่ายเป็นเอ็มพี 3 ไปไม่น้อยแล้ว ก้อง ห้วยไร่ ไม่ได้มีการคิดค่าลิขสิทธิ์กับศิลปินหรือผู้สนใจที่จะนำเพลงดังกล่าวไปร้องแต่อย่างใด

จากจุดนี้แสดงให้เห็นว่า การทำเพลงฮิตในอุตสาหกรรมดนตรีของเมืองไทย ไม่สามารถคาดเดาและถูกกำหนดทั้งหมดจากค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดดั้งเดิมมายาวนานอีกต่อไป แต่มีโอกาสและช่องว่างให้ศิลปินโนเนม หรือไร้ชื่อเสียงสามารถแทรกตัวขึ้นมาทำเงินในวงการได้เช่นกัน

ด้วยภูมิทัศน์ทางสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป การฟังเพลงออนไลน์ผ่านเว็บไซต์โซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างยูทูบ กลายมาเป็นช่องทางและผู้ทรงอิทธิพลรายใหม่ รวมถึงกระแสการฟังเพลงผ่านระบบออนไลน์และออฟไลน์ที่ต้องจ่ายเงินเป็นสมาชิกที่เรียกว่า สตรีมมิ่ง ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าพีซี โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ที่ฟังได้ทุกที่ทุกเวลา หรือเก็บเพลงไว้ฟังแบบออฟไลน์ก็ได้เช่นกัน

วิเชียร ฤกษ์ไพศาล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานมิวสิค โปรดักชั่น และโปรโมชั่น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กล่าวว่า ปัจจุบันช่องทางรายได้หลักของธุรกิจเพลงแกรมมี่ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่ม Physical Product เช่น ซีดี ดีวีดี เอ็มพี 3 ที่ถือเป็นช่องทางรายได้หลัก และมีอัตราการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ กลุ่ม Show Biz หรือธุรกิจการแสดง กลุ่ม Endorsement หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Sponsorship และธุรกิจ Merchandising หรือการขายสินค้าที่ระลึกจากศิลปิน เป็นต้น

สำหรับช่องทางรายได้หลักของธุรกิจเพลงแกรมมี่ วิเชียร บอกว่า ยังคงเป็น Physical Product แต่ในส่วนของเมอร์ชั่นไดซ์ หรือสินค้าที่ระลึกจากศิลปิน ก็ถือเป็นช่องทางรายได้ที่เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี

ในด้านการผลิตผลงานเพลง ณ วันนี้ ไม่ได้เป็นในรูปแบบอัลบั้มอีกต่อไป วิเชียรบอกคำว่าชุดหนึ่งดังเพลงหรือสองเพลงจะไม่มีอีกแล้ว “วันนี้แกรมมี่กำลังทำเพลงดังทุกเพลง เป็นเพลงที่มี Value ทุกเพลง โดยจะโฟกัสทุกเพลงที่ผลิตออกมาให้มีคุณภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ฟังเพลงดีๆ จนปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า เพลง 1 เพลง เท่ากับ 1 อัลบั้ม ซึ่งจะทำให้เราอยู่กับเพลงๆ นั้นยาวมาก เรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงสูงมาก บางทีออกมาเพลงเดียวก็สร้างปรากฏการณ์มากมาย

เพลงๆ เดียวสามารถสร้างรายได้ให้กับแกรมมี่ได้หลายช่องทาง และยังทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับผลดีตามไปด้วย นี่คือวิธีการทำงานเพลงในปัจจุบันแตกต่างจากสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิง หรือกรณีเพลงเชือกวิเศษ ของวงลาบานูน ที่มีสารัช อยู่เย็น นักฟุตบอลทีมชาติไทยมาเล่นเป็นพระเอกมิวสิควิดีโอ ก็สร้างปรากฏการณ์การดูเกือบ 232 ล้านวิวในยูทูบ ที่ทำให้เห็นได้ว่ามันไม่ใช่วิธีการทำงานในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว”

สำหรับ 10 อันดับแรกของมิวสิควิดีโอเพลงไทยที่เผยแพร่ในยูทูบ อันดับ 1 และ 2 ทะลุ 2 ล้านวิวไปแล้ว ส่วนอันดับที่รองลงไปก็ไม่ต่ำกว่า 120 ล้านวิวทั้งสิ้น 1.เพลง “เชือกวิเศษ” ของวงลาบานูน 2.เพลง “ไกลแค่ไหนคือใกล้” ของวงเก็ตสึโนวา 3.เพลง “ห้องนอน” ของวงฟรายเดย์ไนท์ ทู ซันเดย์ 4.เพลง “ขอใจเธอแลกเบอร์โทร” ของหญิงลี ศรีจุมพล 5.เพลง “คงไม่ทัน” ของสงกรานต์ 6.เพลง “ทิ้งไว้กลางทาง” ของวงโปเตโต้ (Potato) 7.เพลง “เธอ” ของวงค็อกเทล 8.เพลง “แว้นฟ้อหล่อเฟี้ยว” ของแจ๊ส ชวนชื่น และ ฯลฯ 9.เพลง “ไม่เคย” ของวงทเวนตีไฟฟ์อาเวอส์ และ 10.เพลง “เหนื่อยไหมหัวใจ” ของว่าน วันวาน

จากอันดับเพลงฮิตในยูทูบนั้น มีเพลงของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ติดอยู่กว่าครึ่ง ซึ่งแสดงว่าปรับกลยุทธ์ได้ถูกทาง หลังจากที่เคยประกาศถอนมิวสิควิดีโอในยูทูบเมื่อปี 2555 และมาเปลี่ยนกลับในภายหลัง เมื่อมาดูโครงสร้างรายได้ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ในปี 2557 มีมูลค่า 10,250.86 ล้านบาท แยกเป็นตลาดเพลง 2,885.72 ล้านบาท หรือ 28.15% ของรายได้ทั้งหมด

กลยุทธ์ธุรกิจเพลงของที่นี่ ได้ขยายช่องการให้บริการรูปแบบใหม่ๆ อาทิ มิวสิค สตรีมมิ่ง เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่นิยมฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น หรือความร่วมมือกับยูทูบในประเทศไทย ส่งผลให้กลุ่มบริษัทสามารถนำเสนอคอนเทนต์ต่างๆ ไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และยังเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ให้กับกลุ่มบริษัทอีกทางหนึ่ง โดยล่าสุดธุรกิจเพลงของจีเอ็มเอ็มฯ ในไตรมาส 3/2558 มีเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จากปีก่อน ไตรมาสนี้การเติบโตของกลุ่มธุรกิจเพลงขับเคลื่อนโดยดิจิทัลมิวสิค ขณะที่โชว์บิซชะลอตัว ด้านการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ยังมีทิศทางการสร้างรายได้ที่ดี โดยบทบาทของลิขสิทธิ์เพลงทวีความสำคัญต่อวงการสื่อมากยิ่งขึ้น อาทิ การใช้รายการประกวดร้องเพลงเป็นคอนเทนต์แม่เหล็กของทีวีดิจิทัลหลายช่อง อีกทั้งเพลงยังเป็นเสมือนต้นน้ำในการนำไปต่อยอดสร้างความบันเทิงผ่านช่องทางต่างๆ ได้อีกมากมาย โดยค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อีกค่ายคือ อาร์เอส ก็มีกลยุทธ์ที่ไปในทิศทางเดียวกันนี้

อีกช่องทางหนึ่งในการสร้างเพลงฮิตยุคปัจจุบันก็คือ เวทีประกวดร้องเพลงต่างๆ โดยเฉพาะเวทีประกวด เดอะ วอยซ์ ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากเนเธอร์แลนด์เหมือนประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เวทีแห่งนี้ถือว่ามีเรตติ้งสูง และเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในการประกวดแต่ละปี ซึ่งจะมีเพลงฮิตออกมาจากเวทีนี้อยู่เสมอ ในปี 2557 บทเพลง “รักเดียว” ของพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ซึ่งออกในอัลบั้ม “ใต้ดวงตะวัน” ในปี 2543 และเป็นเพลงที่ไม่ดัง กลับมากลายเป็นเพลงฮิตในอีก 14 ปีต่อมา เมื่อนักร้องเข้าประกวดที่ชื่อ บิว นำมาร้องประกวดบนเวทีเดอะ วอยซ์ และโด่งดังทำให้คนหาเพลงนี้มาฟังอีกครั้งผ่านทางยูทูบจนมียอดวิวมหาศาล และเจ้าของเพลงเอง พงษ์สิทธิ์ก็นำเพลงนี้มาทำเวอร์ชั่นใหม่เดินสายทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศและจัดคอนเสิร์ตใหญ่ประจำปี สามารถทำเงินในระดับร้อยล้านบาทผ่านเพลงเพลงเดียว

เพลงเดียวปัง...ดังร้อยล้าน

ถอดทฤษฎีปั้นเพลงให้ดัง

การจะเป็นศิลปินที่โด่งดังได้ในปัจจุบัน มีหลายฝ่ายบอกว่า ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น แค่เพียงอัดคลิปเสียงของตัวเอง นำไปเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดีย ก็สามารถโด่งดังได้เพียงชั่วข้ามคืน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงคงมีนักร้องเกิดขึ้นวันละหลายร้อยหลายพันคน เมื่อเป็นเช่นนี้การรังสรรค์ให้เพลงโด่งดังได้ ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์อย่างไรบ้าง

วิชย์ สุทธิถวิล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรูมิวสิค กล่าวว่า กลยุทธ์ของบริษัทที่จะทำให้เพลงหนึ่ง เพลงเป็นที่นิยมได้ ต้องมีองค์ประกอบ 3 ข้อหลัก คือข้อ 1.เพลงต้องโดนผู้ฟัง เพราะหัวใจในการทำธุรกิจเพลงอยู่ที่เพลง ดังนั้นเราจึงต้องมีนักแต่งเพลงที่ดีที่สุด ข้อ 2.ต้องหาศิลปินที่เหมาะสมกับเพลงนั้นๆ มาถ่ายทอดบทเพลงที่แต่งขึ้นมา และข้อ 3.ใช้สื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยในการถ่ายทอดงานเพลง เมื่อเพลงได้รับความนิยม ก็จะนำมาซึ่งการต่อยอดงานโชว์และนำมาซึ่งรายได้

นอกจากจะใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการถ่ายทอดงานเพลงของศิลปินแต่ละคนแล้ว การทำการตลาดผ่านรายการทีวีที่ได้รับความนิยม อย่างรายการเดอะวอยซ์ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับศิลปิน คนแต่งเพลง และค่ายเพลง แต่หลังจากได้ศิลปินมาจากรายการดังกล่าว ทุกอย่างก็ต้องเริ่มต้นใหม่ เนื่องจากศิลปินไม่มีเพลงเป็นของตัวเอง

ขณะเดียวกัน ผู้ฟังยังคงยึดติดกับเพลงที่ผู้เข้าประกวดนำมาร้อง เมื่อได้ออกงานโชว์ตามสถานที่ต่างๆ จึงทำให้มีความต้องการที่จะฟังเพลงที่ผู้เข้าประกวดนำมาแข่งขัน และจากค่าลิขสิทธิ์ที่ค่ายเพลงแต่ละค่ายเรียกเก็บค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบดังกล่าวพอสมควร

วิชย์ กล่าวต่อไปว่า การเกิดขึ้นของรายการเดอะวอยซ์ ถือเป็นเรื่องที่ดีกับวงการเพลง เพราะช่วยให้เพลงเก่าที่หลายคนอาจลืมไปแล้ว กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จากการที่ผู้เข้าแข่งขันนำเข้ามาประกวด นอกจากนี้ยังช่วยให้เจ้าของเพลงๆ นั้น กลับมามีรายได้จากการโชว์

อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ของการโปรโมทเพลงหนึ่งเพลงให้ได้รับความนิยมระหว่างเพลงเก่า และเพลงที่แต่งขึ้นมาใหม่ เพลงเก่าอาจทำง่ายกว่า เนื่องจากเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วในอดีต เพียงแต่ต้องหาวิธีการนำเสนอใหม่ๆ เช่น ดนตรี การเลือกศิลปิน และการโปรโมท ซึ่งปัจจุบันการทำตลาดเพลงต้องเลือกช่องทางให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานไหนมาสร้างมาตรฐานให้กับการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลง ส่งผลให้ราคาการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่เก็บกันในปัจจุบัน เป็นการตั้งราคาแบบตามใจเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้การทำเพลงใหม่ที่ดูเหมือนทำยากกว่าเพลงเก่า อาจมีความง่ายกว่า เพราะนอกจากจะไม่มีปัญหาในเรื่องของลิขสิทธิ์แล้ว ยังเป็นความภาคภูมิใจของตัวผู้แต่งเพลง ตัวศิลปิน และตัวเจ้าของค่าย หากเลือกองค์ประกอบได้ลงตัว ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ดี ศิลปินที่มีความเหมาะสมกับเพลง หรือช่องทางในการโปรโมท

ขณะที่แนวทางการทำธุรกิจเพลงของบริษัทอาร์เอส ให้เป็นที่นิยมนับจากนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับการทำเพลง เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายตลาดระดับกลาง เพราะปัจจุบันตลาดเพลงดังกล่าวได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะเพลงที่มีกลิ่นอายความเป็นลูกทุ่งนิดๆ สังเกตได้จากยอดดูเพลงดังๆ ในยูทูบที่สูงถึงเป็น ร้อยล้านวิว จากแนวโน้มความต้องการดังกล่าวงานเพลงที่อาร์เอสผลิตออกมาทำตลาดในช่วงหลังจึงเน้นไปที่เพลงป๊อปบ้านๆ ที่คนทั่วไปสามารถฟังได้

สำหรับกลยุทธ์ในการโปรโมทเพลง อาร์เอสจะทำเป็น 2 เวอร์ชั่น คือ 1.สำหรับออกรายการโทรทัศน์ และ 2.สำหรับยูทูบโดยเฉพาะ ซึ่งเหตุผลที่ทำให้อาร์เอสต้องใช้กลยุทธ์ดังกล่าว เพราะในทีวีมีกฎระเบียบกำกับในการทำมิวสิควิดีโอเพลงมากพอสมควร อีกทั้งยังมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนเยอะ ดังนั้นอะไรที่แรงๆ เกินไปก็ต้องพยายามเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึ่งต่างไปจากยูทูบที่มีความเป็นอิสระมากกว่า สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง และสามารถเลือกดูได้ตามวิจารณญาณของผู้เข้ามาดู

ศุภชัย นิลวรรณ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส-กลุ่มธุรกิจเพลง บริษัท อาร์เอส กล่าวว่า ค่ายอาร์สยาม ถือเป็นค่ายเพลงที่มีความแข็งแรงมาก ส่งผลให้ปัจจุบันถือเป็นค่ายเพลงที่สร้างรายได้สูงให้บริษัท ส่วนธุรกิจเพลงสตริงตอนนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงการทำงานให้กับค่ายกามิกาเซ่ ด้วยการปั้นนักร้องรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งคนที่จะเข้ามาเป็นนักร้องในค่ายกามิกาเซ่ จะไม่ใช่แค่ร้องเพลงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถต่อยอดธุรกิจในด้านอื่นๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการแสดง การเต้นรำ หรือพิธีกร

ศิลปินที่จะอยู่ค่ายกามิกาเซ่ จะมีอายุ 13-18 ปี ถือเป็นช่วงอายุที่ไม่เด็กมาก และไม่แก่เกิน เนื่องจากเด็กสมัยนี้โตเร็วมาก การปั้นเด็กอายุน้อยๆ อายุการใช้งานจะได้ยาว แต่ถ้าปั้นเด็กอายุ 18 ไม่กี่ปีเดี๋ยวก็หลุดเทรนด์ ต้องขยับไปอยู่ค่ายอื่นในบริษัท เหมือนหลายๆ คนที่ผ่านมา จากแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ถือเป็นจุดแข็งของค่ายกามิกาเซ่ ที่มีความแข็งแรงของศิลปินวัยรุ่น

ศุภชัย กล่าวว่า เพลงสตริงจะมีลักษณะแตกต่างไปจากเพลงลูกทุ่งนิดหน่อย เพราะมีกลุ่มเป้าหมายคนละแบบ แต่ก็ถือเป็นแนวเพลงที่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้ปัจจุบันมีนักร้องอาชีพเยอะไปหมด ขณะเดียวกันตัวนักร้องสมัครเล่นก็เยอะ เห็นได้จากการทำคลิปเพลงออกมาใส่ในยูทูบแล้วได้รับความนิยมดังนั้นการทำเพลงสตริงจึงอาจเหนื่อยมากหน่อย ถ้าจะทำให้เปรี้ยงเหมือนเพลงลูกทุ่ง แต่อย่างไรก็ดี จากศักยภาพการทำงานของบริษัท และตัวศิลปินที่มีความสามารถ จึงคิดว่าคงไม่ลำบากเกินไป ถ้าจะทำให้เพลงสตริงประสบความสำเร็จเหมือนกับเพลงลูกทุ่ง

ภาพรวมทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การจะปั้นเพลงหรือนักร้องแต่ละคนให้ดัง แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีจะช่วยเปิดช่องของโอกาสให้สื่อสารได้มากขึ้น แต่กว่าเพลงแต่ละเพลงจะดังได้ ยังต้องทั้งเก่งและเฮง