posttoday

"บวรศักดิ์"ชำแหละร่างรธน.ฉบับ"มีชัย"

19 กุมภาพันธ์ 2559

บวรศักดิ์ชำแหละร่างรธน.เด่นปราบโกง อ่อนเรื่องสิทธิประชาชน ชี้ข้อเสนอครม.สะท้อนไม่ปลื้มมีชัย

บวรศักดิ์ชำแหละร่างรธน.เด่นปราบโกง อ่อนเรื่องสิทธิประชาชน ชี้ข้อเสนอครม.สะท้อนไม่ปลื้มมีชัย

หมายเหตุ: บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้แถลงต่อสื่อมวลชนถึงข้อเสนอแนะที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่โรงแรมอโนมาแกรนด์ เมื่อวันที่19ก.พ. โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญของอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. อยากจะขอให้ดูในภาพรวม เขาจะดูว่านางจักรวาลสวยหรือไม่สวย เขาดูทั้งร่างกาย เขาดูทั้งตัว เขาไม่เอากล้องไปขยายสิว เขาไม่ไปตัดลำไส้ออกมาดู เพราะถ้าดูอย่างนั้นไม่มีจะสวยไปได้ ถ้าจะดูแบบนั้นต้องไปเป็นพระและท่องกรรมฐาน

ดังนั้น ถ้าดูภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญของอาจารย์มีชัยก็มีข้อดีที่ควรได้รับการพิจารณาจากประชาชน อย่าฟังแต่ความเห็นนักการเมืองที่พูดแต่ข้อเสีย จะยกร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกใจนักการเมือง ต้องให้นักการเมืองมาร่าง จึงอยากขอความเป็นธรรมให้กับกรธ.ด้วย

จุดเด่นของร่างรัฐธรรมของกรธ. จะเรียกว่าฉบับปราบโกงก็ได้ผมเห็นด้วย ดูแล้วมันดี เช่น คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสส. เขียนได้ดีจริงๆ สะใจดี นอกจากนั้นการเอางบประมาณมาให้สส.ใช้รู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง รัฐธรรรมนูญพ.ศ.2540
และพ.ศ.2550 ก็แก้ไขไม่ได้ แต่พอมาดูร่างรัฐธรรมนูญของอาจารย์มีชัยมันสยดสยองดี และน่าจะแก้ปัญหาได้

เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีความเด่นชัดมากที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันทำมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งบังคับใช้กับคณะรัฐมนตรี สส.และสว. ผมว่าเป็นกลไกที่ดี

อย่างไรก็ตาม ควรเพิ่มในร่างรัฐธรรมนูญให้มีศาลวินัยงบประมาณและการคลัง เพราะถ้าจะปราบการทุจริตจริงๆ มันก็ต้องมีศาลนี้ แม้จะมีการให้องค์อิสระสามารถทักท้วงกรณีที่อาจมีความเสียหายได้ แต่ไม่รู้ว่าถ้าทักท้วงไปแล้วแต่เขาไม่ทำ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีศาลนี้แล้ว ทักท้วงแล้วไม่ทำก็สามารถส่งศาลได้ และให้ศาลสามารถระงับยับยั้งได้

โดยส่วนตัวอยากเสนอให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีความสมบูรณ์และเข้มข้นขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา35ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557

1.หลักนิติธรรม ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พูดไว้หลายที่แต่พูดในลักษณะที่อ่อน เช่น ในมาตรา3 เป็นการพูดผ่านๆ เท่านั้น ต่างจากรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550ที่บอกว่าการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

2.มาตรา35 (7)ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 กำหนดว่าให้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม ให้เป็นธรรมและยั่งยืน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผมร่างขึ้นมานั้นเน้นเรื่องนี้มาก แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขอกราบเรียนเสนอกรธ.ว่าต้องเอาใจช่วยในการหาพอสมควรว่าอยู่ตรงไหน

3.มาตรา 35 บอกให้มีกลไกการปฏิรูปให้สมบูรณ์ แต่มาดูร่างรัฐธรรมนูญมีเพียงเฉพาะครม.และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งไม่แน่ใจว่าตะได้ผลแค่ไหน เพราะสภาขับเคลื่อนฯ ทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษาครม.

ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพ ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 และ2550 เขียนเอาไว้ดีแล้ว เมื่อไม่มีปัญหาก็ควรคงสิ่งที่ในอดีตได้วางเอาไว้มีสุภาษิตกฏหมายหนึ่งบทหนึ่งที่บอกว่า "สิทธิและเสรีภาพที่ให้ไปแล้ว ทวงคืนไม่ได้" การที่มีความประสงค์ดีเขียนให้สั้นลง มันถูกตีความได้โดยคนที่ไม่หวังดีว่านี่คือการริดลอนสิทธิเสรีภาพ

การบัญญัติหมวดหน้าที่ของรัฐในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ แต่จะมีปัญหา คือ ใครที่จะเป็นทวงให้รัฐทำหน้าที่ สิทธินั้นมีผู้ทรงสิทธิ คือ บุคคลที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ ถ้ารัฐธรรมนูญใช้คำว่าบุคคลก็หมายความทุกคนไปฟ้องได้ และเมื่อเขียนเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐไม่ทำแสดงว่าจะเป็นอำนาจของปปช.ในการดำเนินคดีกับครม. ตรงนี้จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินปั่นป่วน จึงขอเสนอว่าควรเอาเรื่องนี้กลับไปอยู่ในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามเดิม เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือของนักร้องทั้งหลายที่จะสร้างความปั่นป่วนในบ้านเมือง

ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งสส.แบบนี้ ผมเกรงว่าพรรคเล็กจะไม่เหลือใครเลย จะกลายเป็นการเลือกตั้งที่เป็นประโยชน์ต่อพรรคใหญ่ เพราะบัตรเลือกตั้งใบเดียวจะได้ทั้งสามอย่าง คือ ได้สส.เขต ได้พรรค และ นายกรัฐมนตรี มันเป็นนวัตกรรมที่ดี แต่คิดว่าถ้าสามารถที่จะอธิบายให้คนฟังได้ง่ายหน่อยก็น่าจะดี ความจริงระบบนี้ตอนที่คณะกมธ.ยกร่างฯจัดทำร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ก็มีการเสนอขึ้นโดยพล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ และ เจษฎ์ โทณะวณิก พยายามเสนอมาแล้ว แต่คณะกมธ.ยกร่างฯไม่เอา เพราะอธิบายกับประชาชนให้เข้าใจลำบาก

ท้ายที่สุดอยากฝากว่าอาจารย์มีชัยตั้งใจทำงานด้วยปรารถดีต่อบ้านเมือง เพราะฉะนั้นการไม่เห็นด้วย จึงไม่ใช่ความผิดอะไร ส่วนข้อเสนอแนะที่เสนอไปให้ก็สุดแล้วแต่การพิจารณาของกรธ.

คิดว่าทางออกสำหรับรองรับกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติควรเป็นอย่างไร?

ควรเอาร่างรัฐธรรมนูญ3ฉบับมารวมกัน คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการตั้งคำถามประชามติว่า จะเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจาย์มีชัย หรือ เอาฉบับที่ผมร่าง หรือ จะให้ร่างขึ้นมาใหม่ หรืออาจจะถามไปด้วยว่าจะให้ยึดรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540หรือ2550เป็นหลัก และนำไปปรับเอา แปลว่าทุกอย่างก็ไม่เสียเปล่าใช่หรือไม่ ร่างของนายบวรศักดิ์ก็ไม่เสียเปล่า ร่างของอาจารย์มีชัยก็ไม่เสียเปล่า ที่สำคัญ คือ คสช.ไม่ต้องแอ่นอกรับหอกแต่เพียงผู้เดียว ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.จะตอบว่าอย่างไร

แบบนี้จะดีกว่าจะการแค่ถามว่ารับหรือไม่รับ เพราะจะมีพวกสนับสนุนและไม่สนับสนุน แต่การถามว่าจะเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับไหน จะทำให้เกิดการเทียบเคียงกันในเนื้อหา จะทำให้ประเด็นด่าและเชียร์จะลดลง

ข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในข้อที่16เรื่องประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่านหมายความว่าอย่างไร?

มีการเสนอมาตั้งแต่ยุคผมแล้ว แต่เป็นการเสนอด้วยวาจา คราวนี้เชาเปิดเผยตัวเป็นหนังสือ ไม่ทราบว่าจะเป็นคปป.หรือไม่ต้องไปถามคนลงนาม ตอนนั้นเขาไม่ได้เขียนมาเป็นโจ๋งขรึ่มอย่างนี้

ส่วนร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่ถ้าตอนนี้ผมจะลงประชามติให้ผ่าน ที่เสนอไปก็เพื่อประกอบการพิจารณาของกรธ. เพราะกรธ.มีความหวังดีต่อบ้านเมือง ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกัน

การที่ครม.ส่งข้อเสนอดังกล่าวมาให้กรธ.แสดงว่ามีธงตั้งแต่แล้วใช่หรือไม่?

ถ้ามีธงเขาคงไม่มาเขียนอย่างนี้หรอก แต่เขาเขียนอย่างนี้แปลว่ามันไม่ตรงในเขา100% เพราะถ้ามีธงและอาจารย์มีชัยทำตามธงจริงๆ 16ข้อนี้ไม่จำเป็นต้องเขียนมา

เสียใจกับร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านสปช.หรือไม่?

เป็นธรรมดา ทำมาตั้งหลายเดือน จะไม่เสียใจได้อย่างไร แต่ก็เสียใจแค่วันนั้นวันเดียว  กลับไปนอนคิดอยู่ว่ามันอะไรกันเนี่ย อ้อ อยากอยู่ยาวก็ไม่เป็นไร วันรุ่งขึ้นผมก็ไปทำงานตามปกติ