posttoday

ชาวบ้านพึ่งใคร? "สิทธิชุมชน" หายไปในร่างรธน.

18 กุมภาพันธ์ 2559

หลังกรธ. เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสาระสำคัญหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการตัดเนื้อหาเรื่อง "สิทธิชุมชน"

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ภายหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสาระสำคัญหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการตัดเนื้อหาเรื่อง "สิทธิชุมชน" ออกไปจากหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

"สิทธิชุมชน" ได้รับการรับรองครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และได้รับการขยายความเพิ่มเติมให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2550 ทว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ กลับไม่ปรากฏเนื้อหาเหล่านั้นแม้แต่น้อย

ท่ามกลางการเดินหน้าโครงการพัฒนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนพีดีพี 2015 หรือแม้แต่นโยบายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมายมั่นปั้นมือ อย่างทวงคืนผืนป่า ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้านและชุมชนแทบทั้งสิ้น

คำถามคือ เมื่อรัฐธรรมนูญไม่รับรองสิทธิชุมชนแล้ว ชาวบ้านจะต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิอันพึงมีของ ตัวเองได้อย่างไร

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง เมื่อสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญหายไป ชาวบ้านจะพึ่งพาใคร? เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา ฉายภาพร่างรัฐธรรมนูญที่ไร้หลักประกันในการรับรองสิทธิประชาชนและสิทธิชุมชน

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน บอกว่า สิ่งที่น่าตกใจในร่างรัฐธรรมนูญคือการกำหนดให้ชุมชนต้องมีการขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน นั่นหมายความว่าชุมชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจะไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ซึ่งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่ให้สิทธิชุมชนกับทุกชุมชนโดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดกลับไม่พบสาระสำคัญตามมาตรา 66 และ 67 เดิมเลย ชุมชนจะสามารถใช้สิทธิได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 43 ที่ระบุว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิดำเนินการหรือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ฯลฯ นั่นหมายความว่าชุมชนจะเป็นผู้ถูกปกครองตลอดเวลา ซึ่งแตกต่างกับที่รัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่ให้สิทธิแก่ประชาชนและชุมชนเป็นหลัก ส่วนรัฐเป็นเพียงผู้ส่งเสริมเท่านั้น

"ก่อนจะดำเนินคดี ในฐานะทนายความเราต้องพิจารณาก่อนว่าเรามีสิทธิอะไร แล้วสิทธินั้นๆ ถูกละเมิดหรือไม่ คำถามคือเมื่อเราไม่มีสิทธิแล้ว เราจะเอาอะไรมาฟ้องคดี" ส.รัตนมณี ระบุ

นั่นเพราะร่างรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ให้เป็นหน้าที่รัฐในการจัดการสิ่งต่างๆ แทนที่จะให้เป็นสิทธิของชุมชน ที่ผ่านมาชาวบ้านอ้างสิทธิชุมชนเพื่อต่อสู้ เนื่องจากมองว่าสิ่งที่รัฐจัดการให้ไม่เพียงพอ ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐแล้ว แน่นอนว่าปัญหาย่อมต้องเกิดขึ้น

"ทุกวันนี้เราใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งมาตรา 4 ได้พูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ ฉะนั้นเราสามารถอ้างสิทธิตามมาตรา 4 ในการต่อสู้ได้ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หายไปแล้ว ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะอ้างสิทธิอะไรในการต่อสู้" ส.รัตนมณี ระบุ

ดิเรก เหมนคร เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) กล่าวว่า แม้ชาวบ้านจะพยายามใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงไฟฟ้าเทพา แต่ข้อเท็จจริงคือถูกกีดกันมาโดยตลอด ทั้งเวที ค.1 ค.2 และ ค.3 ที่เป็นไปอย่างเคลือบแคลง มีการแจกของกำนัลและนำประชาชนนอกพื้นที่มาร่วมเวที แต่กลับไม่เปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างหรือชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

"หากรัฐธรรมนูญในอนาคตไม่รับรองสิทธิชุมชน ชาวบ้านก็จะไม่เหลือช่องทางใดๆ ในการต่อสู้อีกเลย" ดิเรก ระบุ

ดิเรก ให้ภาพอีกว่า โรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ใหญ่ที่สุดในอาเซียนนั้น มีแผนก่อสร้างในพื้นที่ผังเมืองสีเขียวหรือเขตอนุรักษ์ ซึ่งเดิมทีกฎหมายผังเมืองไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอุตสาหกรรมใดๆ ในพื้นที่สีเขียวเป็นอันขาด แต่เมื่อ คสช. มีคำสั่งที่ 3 และ 4 เรื่องปลดล็อกผังเมืองออกมา แน่นอนว่าชาวบ้านก็หมดช่องทางในการต่อสู้

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรม สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กฎหมายผังเมืองจะเป็นตัวกำหนดให้ประชาชนและชุมชนใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้ตาม เหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน และประชาชนสามารถคัดค้านได้ แต่ปัจจุบัน คสช.ได้ใช้อำนาจมาตรา 44 ยกเลิกผังเมืองในกิจการบางประเภทและในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งโรงไฟฟ้าเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการปลดล็อกผังเมืองด้วย

"คำสั่ง คสช.ได้ปลดล็อกผังเมืองกิจการโรงไฟฟ้า และก่อนหน้านี้กระทรวงทรัพย์ฯ ได้ออกประกาศยกเว้นการทำอีไอเอในโครงการโรงไฟฟ้าขยะไปแล้ว นั่นหมายความว่าขณะนี้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ใดก็ได้ในประเทศไทย ไม่ต้องดูผังเมือง ไม่ต้องทำอีไอเอ ถามว่าเคยมีการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกันบ้างหรือไม่" สุภาภรณ์ ระบุ

สุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3 และ 4 ถือเป็นคำสั่งที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการทำลายคุณค่าและหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายผังเมืองที่กำหนดให้รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นของการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการคุ้มครองรักษาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสวัสดิภาพของสังคมด้วย

ว่าที่ ร.ต.ทวีศักดิ์ อินกว่าง ตัวแทนชาวบ้าน ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี บอกว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันผู้ที่ได้รับสิทธิก่อนก็คือเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำท้องถิ่น ต่อมาก็คือนายทุนที่มีสิทธิเลือกใช้พื้นที่ได้โดยไม่ต้องฟังเสียงจากชุมชน อย่างกรณีของโรงไฟฟ้าขยะเชียงรากใหญ่ ชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่ทราบว่ามีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อใด โดยผู้ที่เสนอโครงการก็คือผู้นำท้องถิ่นและก็ใช้ที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลอนุมัติ

"ทุกวันนี้ผู้ที่ได้สิทธิการมีส่วนร่วมก่อนชุมชนก็คือนายทุน แม้ชุมชนจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแต่มักจะถูกละเมิดจากผู้นำของท้องถิ่นเอง เห็นได้จากกรณีเชียงรากใหญ่ แม้ประชาชนจะเข้าใจและเห็นด้วยที่จะจัดการขยะตามแผนแม่บท แต่กลับถูกกลุ่มทุนร่วมกับข้าราชการในการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ทั้งๆ ที่เชียงรากใหญ่ มีปริมาณขยะน้อย แต่ก็ยังมีความพยายามจะสร้างโรงไฟฟ้าให้ได้" แกนนำชาวบ้านรายนี้ ระบุ