posttoday

วิบากกรรมวัดพระธรรมกาย ธัมมชโย และ มส.

14 กุมภาพันธ์ 2559

ประมวลเหตุการณ์วัดพระธรรมกาย และมหาเถรสมาคม ท่ามกลางคำถามจากสังคมว่าอุ้มพระธัมมชโย

โดย...สมาน สุดโต

วัดพระธรรมกายเป็นวัดในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2513 สังกัดมหานิกายแห่งคณะสงฆ์ไทย ตั้งอยู่ ณ ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ปัจจุบันมีพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งก็เป็นผู้ริเริ่มการก่อตั้งร่วมกับท่านทัตตชีโว ภิกขุ (เผด็จ) หรือพระราชภาวนาจารย์ รองเจ้าอาวาส

ตั้งแต่เริ่มเป็นวัดก็มีเรื่องให้พูดตามหน้าสื่อมวลชนทั้งทางบวกและลบ ขณะที่มวลสาวกก็เพิ่มขึ้นสวนทางกับปัญหาที่ปรากฏตามสื่อทั่วไป

ปัญหาที่อยู่ในความสนใจของสังคม คือ ลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ระบุโทษเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย คือ พระธัมมชโย ว่าต้องอาบัติปาราชิก เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบันก็มีมวลชนนำเรื่องนี้มาให้เป็นภาระมหาเถรสมาคม (มส.) จนกระทั่งรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ชยพล พงษ์สีดา บอกว่า เรื่องจบไปตั้งแต่ปี 2549 มส.จะไม่หยิบยกมารื้อฟื้นอีก และที่จบตอนนั้น พระธัมมชโย ยังบริสุทธิ์ (ยกประโยชน์ให้จำเลย)

เมื่อ มส.ไม่ชี้ขาดว่าเป็นปาราชิกตามพระลิขิต สังคมก็ตราหน้าองค์กรสงฆ์นี้ว่าอุ้มพระธัมมชโย และชี้ว่าองค์กรและกรรมการมีความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่

มส.ไม่เป็นนิติบุคคล

ผู้ที่ต่อต้านจะคิดหาวิธีจัดการ มส.อย่างไรก็แล้วแต่ ข้อเท็จจริงมีว่า มส.ไม่ใช่นิติบุคคล และกรรมการ มส.ก็ไม่ใช่พระสังฆาธิการ การที่จะเอากฎหมายข้อไหนมาเล่นงานให้สะใจได้คงใช้เวลา แต่คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงคนจ้องทำร้าย ต้องพยายามหาช่องโหว่ให้ได้ก็แล้วกัน

อย่างไรก็ตาม เพื่อมองให้เห็นภาพว่าเหตุเกิดกับวัดพระธรรมกายที่กลายเป็นเรื่องระดับชาติ (หรือระดับโลก) มาอย่างไรไปอย่างไร ผมจึงประมวลเหตุการณ์ที่ แสวง อุดมศรี เขียนไว้ในรื้อฟื้นนิคหกรรมเพื่อใคร (พิมพ์เมื่อเดือน ก.ค. 2543) และข้อมูลที่ผู้ตรวจการแผ่นดินลงวันที่ 20 ก.ค. 2558 แจ้งผลวินิจฉัยของผู้ตรวจเงินแผ่นดินให้ วิรังรอง ทัพพะรังสี ที่มีหนังสือร้องเรียนวันที่ 25 ก.พ. 2558 และวันที่ 18 มี.ค. 2558 มาสรุปแบบกาลานุกรม (ตามประสาของผม) ดังนี้

กาลานุกรม

วันที่ 30 พ.ย. 2541 พิภพ กาญจนะ อธิบดีกรมการศาสนา ในฐานะเลขาธิการ มส. ประมวลเรื่องวัดพระธรรมกาย เสนอที่ประชุม มส.ครั้งที่ 32/2541 ในประเด็นหารือ 4 เรื่อง

1.การก่อสร้างศาสนสถานใหญ่โต

2.การประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง

3.การกล่าวอวดอ้างถึงอภินิหารของหลวงพ่อสด

4.การรวบรวมเงินบริจาคจำนวนมาก

มติ มส.427/2541 เรื่องวัดพระธรรมกาย ให้เจ้าคณะภาค 1 พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) วัดยานนาวา ไปดำเนินการตามที่เห็นสมควรแล้วเสนอ มส.ผ่านเจ้าคณะใหญ่หนกลาง (สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม)

เจ้าคณะภาค 1 เข้าวัดพระธรรมกายเพื่อดูข้อเท็จจริงโดยมิได้นัดหมายก่อน จากนั้นจึงสอบข้อเท็จจริงกับพระธัมมชโยและพระทัตตชีโว ใช้เวลาประมาณครึ่งวันและจัดเตรียมข้อมูลเสนอ มส.

ในขณะนั้นมีเรื่องวัดพระธรรมกายเข้ามาอีก 2 เรื่อง คือ

1.อาคม เอ่งฉ้วน (รมช.ศึกษาฯ) แต่งตั้งคณะกรรมการการศึกษากรณีวัดพระธรรมกายและให้กรมการศาสนาเสนอต่อที่ประชุม มส.

มส.ให้นำเรื่องกระทรวงศึกษาธิการรวมกับการศึกษาของเจ้าคณะภาค 1 เพื่อสะดวกในการพิจารณา

2.สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาให้กรมการศาสนาสรุปประเด็นวัดพระธรรมกายที่คณะกรรมาธิการการศาสนาฯ สภาผู้แทนราษฎร เสนอ ผ่านพระองค์ (สมเด็จพระสังฆราช) เข้าสู่ที่ประชุม มส.9/2542 ในวันที่ 5 มี.ค. 2542

มส.ให้นำไปรวมกับเอกสารของเจ้าคณะภาค 1 และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาร่วมกัน

วันที่ 9 มี.ค. 2542 เจ้าคณะภาค 1 จึงเสนอรายงานวัดพระธรรมกายต่อเจ้าคณะใหญ่หนกลาง (สมเด็จพระมหาธีราจารย์) เพื่อพิจารณา

เจ้าคณะใหญ่หนกลางให้อธิบดีกรมการศาสนาเสนอ มส.เพื่อพิจารณาวันที่  10 มี.ค. 2542

รายงานของพระพรหมโมลี สรุปให้วัดพระธรรมกายดำเนินการ 4 ประเด็น

1.ให้วัดพระธรรมกายเปิดการสอนพระอภิธรรม เพื่อให้มีศักยภาพในด้านการศึกษาขั้นสูงสุดทางด้านปริยัติและคันถธุระ

2.แนะให้ปฏิบัติบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

3.แนะให้สำรวมระวังในพระธรรมวินัย

4.ให้วัดพระธรรมกายปฏิบัติตามกฎ มส. ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช อย่างเคร่งครัด

การประชุม มส.วันที่ 22 มี.ค. 2542 มี มส.14 รูปประชุม เลขาธิการ มส.แจ้งว่า เรื่องวัดพระธรรมกายเข้า มส.4 ครั้งแล้ว คือ

(1) 30 พ.ย. 2541 (2) 24 ก.พ. 2542  (3) 5 มี.ค. 2542 และ (4) 11 มี.ค. 2542

การประชุม มส.วันที่ 22 มี.ค. 2542 สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องที่เจ้าคณะภาค 1 (พระพรหมโมลี) ดำเนินการเรื่องวัดพระธรรมกาย

ที่ประชุมมีมติว่า ที่เจ้าคณะภาค 1 ดำเนินการนั้นชอบแล้ว เป็นอันว่าเรื่องวัดพระธรรมกายจบตามมติ มส.101/1/2542

อนึ่ง ในขณะที่ประชุม มส. พิจารณาเรื่องวัดพระธรรมกาย ในวันที่ 12 มี.ค. 2542 สมเด็จพระสังฆราชซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ยื่นกระดาษแผ่นหนึ่ง มีข้อความยาว 6 บรรทัด ให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) อ่านในที่ประชุม มส.

เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์อ่านจบก็มอบให้ พิภพ กาญจนะ อธิบดีกรมการศาสนา

พระราชรัตนมงคล ผู้ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ สมเด็จพระสังฆราช มีหนังสือที่ พ.258/2542 ลงวันที่ 29 เม.ย. 2542 ให้กรมการศาสนาเผยแผ่พระดำริของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งลงพระนามวันที่ 26 เม.ย. 2542

อธิบดีกรมการศาสนา นำพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช 6 ฉบับเสนอ มส. การประชุมครั้งที่ 16/2542 วันที่ 10 พ.ค. 2542

ที่ประชุม มส.มีมติ 193/2542 เรื่องพระดำริสมเด็จพระสังฆราช โดย มส.มีมติสนองพระดำริมาโดยตลอด แต่ให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎ มส.

วันที่ 25 พ.ค. 2542 มาณพ พลไพรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญกรมการศาสนา สมพร เทพสิทธา นายกยุวพุทธิกสมาคมฯ ยื่นเรื่องถึงเจ้าคณะจังหวัด (จจ.) ปทุมธานี กล่าวหาพระธัมมชโย 3 ประเด็น

1.สอนผิด บิดเบือน ลบล้างคำสอนพระพุทธเจ้า เป็นการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา

2.อวดอุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน

3.ทำความผิดลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ ฉ้อโกง และหลอกลวงประชาชน

วันที่ 26 ก.ค. 2542 พระสุเมธาภรณ์ จจ.ปทุมธานี ในฐานะพระภิกษุผู้พิจารณา (ผู้พิพากษาเวรชี้) มีคำสั่งรับคำกล่าวหาของ มาณพ และ สมพร และแจ้งพระธัมมชโยให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 6 ส.ค. 2542 เวลา 14.00 น. ณ วัดมูลจินดาราม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

แต่พระธัมมชโยและพระทัตตชีโว มีหนังสือทัดทานคำสั่งรับคำกล่าวหานิคหกรรมของมาณพ และสมพร ว่าไม่ชอบตามความในข้อ 15 วรรค 2 แห่งกฎ มส.ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม

เมื่อได้รับหนังสือทัดทาน พระสุเมธาภรณ์ จึงนำความปรึกษาพระพรหมโมลี (วิลาส) เจ้าคณะภาค 1 ในฐานะหัวหน้าคณะผู้พิจารณาชั้นต้น เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2542

ที่ประชุม (เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะภาค 1) จึงลงมติว่าคำทัดทานของพระธัมมชโย และพระทัตตชีโว ฟังขึ้น จึงมีหนังสือวันที่ 13 ส.ค. 2542 ขอยกเลิกคำสั่งรับคำกล่าวหา ของ มาณพ ลงวันที่ 26 ก.ค. 2542 เพราะต้องปฏิบัติตามกฎ มส.โดยเคร่งครัด

แต่มาณพและสมพรปฏิเสธที่จะรับทราบคำสั่งดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าคฤหัสถ์มีสิทธิกล่าวหาพระได้

ต่อมามีการฟ้องพระธัมมชโยในคดีอาญา ไพบูลย์ เสียงก้อง รักษาการอธิบดีกรมการศาสนา ทำหนังสือถึงเจ้าคณะตำบล (จต.) คลองหนึ่ง (พระครูปทุมกิจโกศล) ให้สั่งพัก พระราชภาวนาวิสุทธิ์ จากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่วัด เพราะพระราชภาวนาวิสุทธิ์ถูกฟ้องคดีอาญา

ในความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2542

แต่พระครูปทุมกิจโกศลไม่ยอมทำตาม จึงมีการกดดันโดยวิธีต่างๆ ในที่สุด วันที่ 12 พ.ย. 2542 เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี จึงมีคำสั่งปลดพระครูปทุมกิจโกศล ออกจาก จต.คลองหนึ่ง และได้ตั้งพระปริยัติวโรปการ (สมศักดิ์) วัดเขียนเขต เป็นผู้รักษาการ จต.คลองหนึ่ง เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2542

ระเบิดลงวัดชนะสงคราม

การปลดพระครูปทุมกิจโกศล จาก จต.คลองหนึ่ง ทำให้ประชาชน 1,000 คน ไม่พอใจจึงมาชุมนุมในวัดชนะสงคราม เรียกร้องให้คืนตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2542 แต่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ยืนยันว่าคำสั่งให้เจ้าคณะตำบลออกจากตำแหน่งถูกแล้ว

ผู้ที่มาชุมนุมยังชุมนุมต่อเนื่องถึงวันที่ 17 พ.ย.จึงกลับ หลังจากได้รับคำมั่นสัญญาจากกรมการศาสนาว่าจะทำตามข้อเรียกร้อง

หลังจากนั้นเวลา 20.30 น. ในวันที่ 17 พ.ย. เกิดระเบิดที่บริเวณวัดชนะสงคราม ลูกหมาตาย 1 ตัว รถยนต์ได้รับความเสียหายเล็กน้อย 1 คัน

ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นห่วงสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เดินทางไปเยี่ยมไม่ขาดสาย รวมถึงสมเด็จพระสังฆราชก็เสด็จไปเยี่ยมและมอบพระไพรีพินาศให้ 1 องค์

วันที่ 8 ธ.ค. 2542 พระปริยัติวโรปการ รักษาการ จต.คลองหนึ่ง มีคำสั่งให้พระราชภาวนาวิสุทธิ์ พ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

วิบากกรรมวัดพระธรรมกาย ธัมมชโย และ มส. พระธัมมชโย

รื้อฟื้นนิคหกรรม

วันที่ 13 ส.ค. 2542 ทุกอย่างจบแล้ว แต่เป็นการเริ่มต้นอีกฉากหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2542 กรมการศาสนาเชิญ มีชัย ฤชุพันธุ์ จรวย หนูคง ไพบูลย์ เสียงก้อง ประนัย วณิชชานนท์ (นิติกร กระทรวงศึกษาธิการ) ล้วนแต่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาให้คำปรึกษา

มีชัย สรุปว่า พระภิกษุผู้พิจารณา (พระสุเมธาภรณ์) จจ.ปทุมธานี ต้องดำเนินการตามข้อ 15 แห่งกฎ มส.ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2520 มส.จึงให้ดำเนินการใหม่ให้สอดคล้องกันกับมติ มส.345/2542

มติ มส. วันที่ 16 ส.ค. 2542 ยืนยันว่า คฤหัสถ์เป็นผู้กล่าวหาได้

พระสุเมธาภรณ์จึงมีหนังสือถึงพระธัมมชโยและพระทัตตชีโวให้ไปพบ วันที่ 10 พ.ย. 2542 เพื่อรับทราบและแก้ข้อกล่าวหา แต่ทั้งสองปฏิเสธ

พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 ทำหน้าสือชี้แจงสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม) ลงวันที่ 7 ม.ค. 2543 เรื่องปฏิบัติตามมติ มส.อย่างละเอียดตามขั้นตอนตั้งแต่ต้น เมื่อได้รับคำกล่าวหาและตั้งนิคหกรรม

แต่สมเด็จพระมหาธีราจารย์กลับเห็นว่าคณะผู้พิจารณาชั้นต้นดำเนินการขัดกับกฎหมาย มติ มส. เพราะเรื่องที่กล่าวหาพระภิกษุ มาหยุดที่ผู้พิจารณาได้รับคำกล่าวหาไว้ และแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบการดำเนินการยังไม่สิ้นสุด

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ บันทึกว่า อาตมาเห็นว่าการดำเนินการของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นและผู้พิจารณา ขัดต่อกฎ มส. ฝ่าฝืนมติ มส.ชัดแจ้ง จึงทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับการลงนิคหกรรมกรณีวัดพระธรรมกายไม่สิ้นสุดจึงเห็นสมควรให้มีการดำเนินการตามกฎ มส.ต่อไป

ผลจากความเห็นนี้ พระพรหมโมลี (วิลาส) ถูกปลดจากตำแหน่งเจ้าคณะภาค 1 และกรรมการ มส.

ผู้ที่ขึ้นมาแทนคือรองเจ้าคณะภาค 1 คือ พระเทพสุธี (ปัจจุบันคือพระพรหมดิลก (เอื้อน) เจ้าอาวาสวัดสามพระยา )

สรุปว่า อำนาจบริหารแทรกแซงอำนาจตุลาการได้และยืดเยื้อต่อมาถึงปี 2549

ข้อมูล สตง.ว่า ต่อมา มาณพ มีหนังสือลงวันที่ 15 พ.ค. 2549 ถอนฟ้องเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายทุกเรื่อง ทุกกรณี

วันที่ 22 ส.ค. 2549 ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้โจทย์ คือ พนักงานอัยการ ถอนฟ้องเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และจำหน่ายคดีจากสารบบ เพราะมอบทรัพย์คืนวัดพระธรรมกายแล้ว

เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีในฐานะผู้พิจารณา ได้ตรวจลักษณะผู้กล่าวหาที่เหลือ คือ สมพร เห็นว่ามีความบกพร่อง จึงมีคำสั่งไม่รับคำกล่าวหา ทั้งนี้ โดยความเห็นของคณะผู้พิจารณาชั้นต้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2549

จากนั้น จต.คลองหนึ่ง มีคำสั่งให้พระธัมมชโยกลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2549

วันที่ 5 ธ.ค. 2554 พระธัมมชโยได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์จากพระราชาคณะชั้นราชเป็นชั้นเทพ ที่พระเทพญาณมหามุนี

วันที่ 10 ก.พ. 2559 มส.ไม่รื้อฟื้นเรื่องพระธัมมชโยขึ้นมาอีก เพราะถือว่าจบแล้วตั้งแต่ปี 2549

แต่ปาราชิกหรือไม่ ให้สาธุชนพิจารณาเอาเอง