posttoday

เปิดกฎเหล็ก "สัตว์ทดลอง" ใช้เท่าที่จำเป็น-ไม่ทารุณ

12 กุมภาพันธ์ 2559

หลากหลายความเห็นกรณี "สัตว์ทดลอง" กับการใช้งานอย่างมีมนุษยธรรม

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

เมื่อเร็วๆนี้ ภาพซากสัตว์ถูกชำแหละเหลือเพียงหนังติดกระดูก ที่มาพร้อมคำบรรยายอันดุเดือดของนักศึกษารายหนึ่ง ทำเอาบรรดาคนรักสัตว์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นด้วยความไม่พอใจ แม้ภายหลังเจ้าตัวจะออกมาขอโทษแล้วว่าไม่เป็นความจริง เป็นเพียงการหยอกล้อเล่นกับเพื่อนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สังคมได้ตั้งคำถามลึกลงไปกว่านั้นว่า การทดลองสัตว์ในวงการวิทยาศาสตร์เข้าข่ายทารุณกรรมหรือไม่

"สัตว์ทดลอง"สำคัญไฉน

กาญจนา เข่งคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า "สัตว์" คือ สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งไม่ใช่มนุษย์ ขณะที่ “สัตว์ทดลอง” มีความหมายที่แตกต่างออกไปคือ สัตว์ที่มาจากการสืบสายพันธุ์และเพาะขยายพันธุ์ เพื่อใช้งานทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ

สัตว์ทดลองมีความสำคัญต่องานวิทยาศาสตร์มาก ครอบคลุมในสัตว์หลายประเภท ได้แก่ 1.สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 2.สัตว์ปีก 3.สัตว์เลื้อยคลาน 4.สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 5.สัตว์น้ำ 6.แมลงและแมง 7. หอยและหมึก  8. ปูและกุ้ง  สามารถนำมาเลี้ยง ใช้ ผลิต หรือกระทำการใดๆ อันหมายถึงงานวิจัย งานทดสอบ งานผลิตชีววัตถุ งานสอน ทดลองการดัดแปลงพันธุกรรม การโคลนนิ่ง และการทำเซลล์ต้นกำเนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาธารณสุข เกษตร การพัฒนาวัคซีน ภายใต้การกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักจรรยาบรรณและตามหลักการใช้สัตว์ทดลอง ต้องมีใบอนุญาตการใช้หรือการผลิตสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์

"ปัจจุบันมีการออกพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ 2558 เพื่อควบคุมให้มีการใช้สัตว์ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การใช้สัตว์ทดลองหากไม่มีการควบคุมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว อาจทำให้สัตว์เจ็บปวด ทรมานหรือเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพผลผลิตและผลงานทางวิทยาศาสตร์ และอาจเกิดผลเสียต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต"

ผ.อ.ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ เผยว่า สัตว์ทดลองนับเป็นพื้นฐานสำคัญในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยา สมุนไพร วัคซีน จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินงานอย่างมีมาตรฐาน เพื่อลดความแปรปรวนของการศึกษาให้ผลงานถูกต้อง แม่นยำ ซึ่งจะนำไปสู่ความปลอดภัยให้กับประชาชน นอกจากนั้นสัตว์ทดลองยังจำเป็นต่อการศึกษา กลไก วินิจฉัย ค้นหาที่มาของโรค อุบัติใหม่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจุบันมีการแข่งขันอย่างสูงในงานวิจัยทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลก

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าสัตว์ทดลองยังมีความจำเป็นต่อการพัฒนางานให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สัตว์ทดลองอยู่ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์ ต้องใช้สัตว์เฉพาะในกรณีที่จำเป็นสูงสุด หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือไม่มีวิธีการอื่นที่เหมาะสมเท่านั้น

"การเลี้ยงดูสัตว์เพื่อใช้ในงานทดลองเเตกต่างจากสัตว์เลี้ยงทั่วไป เนื่องจากการเป็นการผลิตสัตว์ทดลอง ซึ่งหมายถึงการกระทำหรือเพิ่มจำนวนสัตว์ด้วยวิธีผสมพันธุ์สัตว์ สืบสายพันธุ์สัตว์ หรือเพาะขยายพันธุ์สัตว์ ด้วยหลักวิชาการที่ถูกต้อง สามารถตรวจสอบกลับได้ว่ามาจากสายพันธุ์ไหน รวมถึงสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงสัตว์ทดลองทั้งในด้านอาหาร น้ำ วัสดุรองนอน กรง อากาศ แสง เสียงและก๊าซต่างๆ ต้องมีการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ ที่สำคัญคือจะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของสัตว์ทดลองที่ผลิตได้ โดยการกำหนดเป็นแผนการตรวจสอบคุณภาพทั้งในด้านสุขภาพพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงสัตว์ ด้านผู้ควบคุม ดูแลที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทดลองไม่ว่าจะเป็นพนักงานเลี้ยงสัตว์ หัวหน้างาน หรือสัตวแพทย์ ยังต้องได้รับการฝึกอบรมให้ได้รับความรู้และได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีอีกด้วย

เปิดกฎเหล็ก "สัตว์ทดลอง" ใช้เท่าที่จำเป็น-ไม่ทารุณ

ใช้สัตว์เท่าที่จำเป็น-ไม่ทารุณ

อุปสรรคสำคัญของการทดลองในสัตว์ คือ ทำลายกำแพงความรู้สึกของคนทั่วไปที่มองว่า "สัตว์ทดลองคือการทารุณ"

โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งประเทศไทย บอกว่า การใช้สัตว์ทดลองต้องเป็นไปตามจรรยาบรรณ ภายใต้การควบคุมของกฎหมายพรบ.สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 หรือเรียกสั้นๆว่า "พรบ.สัตว์ทดลอง"

การดำเนินการต่อสัตว์ ตั้งแต่การเรียน การสอน การพัฒนาเพาะสายพันธุ์ การศึกษาเซลล์ต้นกำเนิดและอื่นๆ ตามที่พรบ.สัตว์ทดลองกำหนด หัวหน้าโครงการจะต้องแจ้งการดำเนินงานต่อกรรมการควบคุมของต้นสังกัด และจะต้องดำเนินการโดยผู้มีใบอนุญาตเท่านั้น ซึ่งผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตจะต้องเข้าอบรมกับสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) ไม่เช่นนั้นถือว่าผิดกฎหมายและจรรยาบรรณ

"การทดลองสัตว์ต้องรอบคอบและมีจรรยาบรรณ เพราะถ้าทำผิดกฎหมายสัตว์ทดลองก็อาจจะผิดกฎหมายพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ด้วย การใช้ทดลองทางวิทยาศาสตร์นั้นทำได้ เพื่อความก้าวหน้ามนุษยชาติ แต่ห้ามทารุณ และอยู่บนพื้นฐานของความจำเป็น ไม่ใช่ทดลองซ้ำซาก หรือทราบผลจากการทำลองของผู้อื่นแล้วก็ยังจะทำ หรือทำเพื่อความพอใจ ไม่ถูกต้อง พูดง่ายๆ ใช้สัตว์เท่าที่จำเป็น ทรมานมันอย่างน้อยที่สุด

หากคุณพบเห็นการดำเนินการใดๆ ที่เข้าข่ายทดลองสัตว์ ต้องถามก่อนเลยว่าผู้นั้นผ่านการขออนุญาตจากคณะกรรมการสัตว์ทดลองแล้วหรือยัง สมัยนี้แค่งานสอนในโรงเรียนจะเอาสัตว์มาผ่าแบบอดีตไม่ได้อีกแล้ว ต้องขออนุญาตหมด ไม่นานมานี้มีแพทย์ท่านหนึ่งทดลองใช้สารสังกะสีฉีดใส่ลูกอัณฑะของสุนัขเพื่อทำหมัน เขาบอกว่าเป็นวิธีที่รวดเร็วกว่าการทำหมันเดิม ทั้งที่มันไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับดูแลการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ การกระทำนั้นส่งผลให้สัตว์เจ็บปวด ทรมานมาก นักวิจัยที่มีจรรยาบรรณเขาไม่ทำกัน เพราะการวิจัยไม่มีทางลัด ไม่อย่างนั้นผู้วิจัยไม่ต่างจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการที่โหดเหี้ยมที่ต้องการผลลัพธ์ โดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม นักวิทยาศาสตร์ดีๆ เขาไม่ทำกัน

เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยเมืองไทยไม่ค่อยพบปัญหาในการทดลองสัตว์ เนื่องจากส่วนใหญ่มีสำนึกและจรรยาบรรณที่ดี จะมีปัญหาในส่วนของภาคราชการที่ไม่ค่อยขอและหน่วยงานทหาร ซึ่งมักทดลองโดยไม่ขออนุญาต

เปิดกฎเหล็ก "สัตว์ทดลอง" ใช้เท่าที่จำเป็น-ไม่ทารุณ

อย่ามองความตายเป็นเรื่องตลก

ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า สมัยเป็นนิสิตวิชาชีววิทยาทั่วไป สัตว์ขนาดใหญ่สุดที่ได้ทำการทดลองคือ กบ โดยผ่าตัดขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

“ในอดีต อาจารย์ชีววิทยาให้ผ่ากบขณะมีชีวิต เรียนรู้ตั้งแต่วิธีน็อกสลบ ใช้เหล็กแทงหัวเพื่อให้สมองหยุดทำงาน และผ่าลำตัวตอนที่มันยังไม่ตาย เห็นหัวใจยังเต้นตุบๆอยู่เลย ผิดกับการเรียนสมัยใหม่ภายใต้ พรบ.สัตว์ทดลองที่ใช้วิธีการุณยฆาต โดยแช่เข็ง หรือรมแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ หลีกเลี่ยงการทรมาน ก่อนนำมาศึกษาทดลอง หรืออย่างการทดลองนำปลาทองมาว่ายในน้ำเกลือ เพื่อดูว่าจะจะเกิดปฎิกิริยาอย่างไรบ้าง ต่อมาก็ถูกยกเลิก เพราะเป็นการทรมานสัตว์”

อ.เจษฎา มองว่า การทดลองสัตว์เป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ไม่ใช่งานที่ทำไปเพื่อความสนุกสนาน 'จรรยาบรรณและกฎหมาย' คือ สิ่งที่ผู้ทดลองทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือนักวิทยาศาสตร์ต้องพึงระลึกเสมอ

“สำหรับผู้เรียน หลักการทดลองสัตว์ง่ายๆคือ ต้องนำสัตว์ที่ตายแล้วมาใช้ ไม่ใช่ทำร้ายมันเพื่อนำมาเรียน  หรือแม้แต่การการุณยฆาตก็ต้องทำเฉพาะกรณีที่จำเป็นจริงๆ ทุกวันนี้เราไม่ได้บอกว่าห้ามนำเรื่องนี้มาพูดเล่น แต่นักศึกษาควรรู้และตระหนักด้วยตัวเอง ว่าการทดลองสัตว์เป็นเรื่องจริงจัง ไม่ใช่งานสนุกๆ” 

เปิดกฎเหล็ก "สัตว์ทดลอง" ใช้เท่าที่จำเป็น-ไม่ทารุณ

จรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลอง

ศูนย์สัตว์ทดลองเเห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึง "จรรยาบรรณการใช้สัตว์ทดลอง" โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์ ผู้ใช้สัตว์ต้องใช้สัตว์เฉพาะกรณีที่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าเป็นประโยชน์และจำเป็นสูงสุดต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของมนุษย์และสัตว์หรือความก้าวหน้าทางวิชาการและได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าไม่มีวิธีการอื่นที่เหมาะสมเท่า หรือเหมาะสมกว่า

ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงความแม่นยำของผลงาน โดยใช้สัตว์จำนวนน้อยที่สุด ผู้ใช้สัตว์จะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติทางพันธุกรรมของสัตว์ที่จะนำมาใช้ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการใช้สัตว์ เพื่อให้มีการใช้สัตว์จำนวนที่น้อยที่สุด และได้รับผลงานที่ถูกต้องแม่นยำมากที่สุด

การใช้สัตว์ป่าต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและนโยบายการอนุรักษ์สัตว์ป่า การนำสัตว์ป่ามาใช้ ควรกระทำเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นต่อการศึกษาวิจัย โดยไม่สามารถใช้สัตว์ประเภทอื่นทดแทนได้ และการใช้สัตว์ป่านั้นจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและนโยบายการอนุรักษ์สัตว์ป่า

ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์ ผู้ใช้สัตว์ทดลองต้องตระหนักว่า สัตว์มีความรู้สึกเจ็บปวดและมีความรู้สึกตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม เช่นเดียวกับมนุษย์ จึงต้องปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความระมัดระวังทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การขนส่ง การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงสัตว์ การจัดการสภาพแวดล้อมของสถานที่เลี้ยง เทคนิคในการเลี้ยง และการปฏิบัติต่อสัตว์ โดยไม่ให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวดความเครียดหรือความทุกข์ทรมาน

ผู้ใช้สัตว์ต้องบันทึกข้อมูลการปฏิบัติต่อสัตว์ไว้เป็นหลักฐานอย่างครบถ้วน ผู้ใช้สัตว์ต้องปฏิบัติต่อสัตว์ตรงตามวิธีการที่เสนอไว้ในโครงการ และต้องบันทึกไว้เป็นหลักฐานอย่างละเอียด ครบถ้วน พร้อมที่จะเปิดเผยหรือชี้แจงได้ทุกโอกาส

กล่าวโดยสรุป ผู้ใช้สัตว์ทดลองต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินการต่อสัตว์ทุกครั้ง ต้องรับผิดชอบให้มีการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์ จำไว้ว่าใช้สัตว์เฉพาะในกรณีที่จำเป็นสูงสุดเท่านั้น

เปิดกฎเหล็ก "สัตว์ทดลอง" ใช้เท่าที่จำเป็น-ไม่ทารุณ