posttoday

สปท.ส่งข้อเสนอถึงกรธ. แนะอย่าทิ้งร่าง‘บวรศักดิ์’

10 กุมภาพันธ์ 2559

การประชุม สปท. มีมติเอกฉันท์ 179 เสียง ให้ส่งคำอภิปรายของสมาชิกที่มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ให้กับกรธ.

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเอกฉันท์ 179 เสียง ให้ส่งคำอภิปรายของสมาชิก สปท.ที่มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 8-9 ก.พ. ไปให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

นอกจากนี้ ยังมีมติ 178 ต่อ 1 เสียงให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของ สปท.ทุกคณะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญมาคณะละหนึ่งอนุมาตราว่าจะปฏิรูปประเทศในเรื่องใดบ้าง และส่งมาให้กับ กมธ.วิสามัญกิจการ สปท. (วิป สปท.) พิจารณาภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะส่งมอบให้กับ กรธ.ไปดำเนินการนำไปบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายมาตรา 269 ต่อไป

สำหรับการอภิปรายของสมาชิก สปท.เมื่อวานนี้ (9 ก.พ.) ได้มีสมาชิก สปท.แสดงความคิดเห็นในประเด็นที่หลากหลายทั้งประเด็นทางการเมืองและสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.มีจุดดีหลายจุด โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการทุจริต แต่ควรนำบทบัญญัติสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางส่วนที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาพิจารณาด้วย

คุรุจิต นาครทรรพ ประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน อภิปรายว่า เห็นด้วยกับการบัญญัติคุ้มครองพระพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญ และคุ้มครองศาสนาอื่นอย่างเท่าเทียมกัน และรัฐไม่ควรประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

“รัฐธรรมนูญออกแบบให้รัฐบาล และพรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้รับเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว” คุรุจิต กล่าว

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปท.และอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อภิปรายว่า เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้ง สส.เขตและ สส.บัญชีรายชื่อ แต่อยากทราบข้อดีของการใช้บัตรใบเดียวและคนที่เสียประโยชน์มีมากน้อยแค่ไหน เพราะเท่าที่พบพรรคเล็กจะเสียประโยชน์มาก พรรคเหล่านี้จะไม่มีโอกาสได้คะแนนบัญชีรายชื่อจากคนที่สนับสนุนเลย

นอกจากนี้ ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว จะทำให้คนที่ได้เป็น สส.ต้องอกสั่นขวัญหายในช่วง 1 ปี เพราะหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจกใบแดง ก็ต้องมาคิดคำนวณคะแนนในส่วนของพรรคที่ถูกใบแดงใหม่ อาจจะทำให้พรรคที่ถูกใบแดงเสียที่นั่ง สส.บัญชีรายชื่อได้

“กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีที่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อล่วงหน้า 3 คนนั้น อยากฝากเพิ่มเติมคือ ในกรณีที่พรรคการเมืองเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ ที่ไม่ใช่ สส. ถ้าสภาจะลงมติเลือกควรมีเสียง สส.สนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน สส.ทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นได้ในปี 2561 เนื่องจากกระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมีขั้นตอนยาวมาก ถ้าเขียนไม่กระชับจะไม่เป็นไปตามโรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศไว้

“กรธ.มีขั้นตอนทั้งการพิจารณากฎหมายลูก 10 ฉบับ ในเวลา 8 เดือน การส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีก 2 เดือน รวมทั้งการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระถูกสอบความชอบธรรมของกฎหมาย ซึ่งอาจจะต้องส่งกลับไปให้ สนช.แก้กฎหมายอีก แค่ขั้นตอนการปรับแก้กฎหมายเลือกตั้งก็ใช้เวลากว่า 1 ปีแล้ว” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวเสริมว่า ขณะเดียวกัน ในเมื่อ กรธ.ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักการที่เป็นไปตามหลักนิติธรรม แต่กลับพบว่าในร่างรัฐธรรมนูญมีคำว่านิติธรรมแค่สองจุดเท่านั้น ซึ่งอยู่ในมาตรา 3 และ 26 จึงอยากให้มีการบัญญัติคำว่าหลักนิติธรรมมากกว่านี้ เพื่อเป็นการยืนยันในหลักการดังกล่าว

ดุสิต เครืองาม สมาชิก สปท. วิพากษ์ว่า การปฏิรูปประเทศผ่านร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก เพราะมีการกระจายอยู่เป็นรายมาตรา จึงอยากเสนอให้ กรธ.จับเอาบทบัญญัติที่จะเป็นการปฏิรูปประเทศมารวมกัน และทำขึ้นเป็นหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศในรัฐธรรมนูญเหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศมีความเป็นรูปธรรม

“ที่สำคัญที่เห็นว่าเป็นปัญหา คือ การให้ สปท.มีเวลาการทำงานอยู่อีก 1 ปีหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เพราะถ้า สปท.พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จะส่งผลให้ไม่เกิดกลไกการติดตามการปฏิรูปประเทศ จึงเห็นว่านอกจากรัฐธรรมนูญควรจะมีบทบัญญัติการปฏิรูปประเทศแล้วจะต้องมีการตราร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยว่า ด้วยการปฏิรูปด้วย เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้าได้ต่อไป” ดุสิต เสนอ

ขณะที่ ขวัญชัย ดวงสถาพร สมาชิก สปท. ตั้งข้อสังเกตว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ แม้จะมีการบัญญัติไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและหน้าที่ของรัฐก็ตาม ซึ่งอาจทำให้ประสบปัญหาในการตีความและการออกกฎหมายลูกในอนาคต

“ที่สำคัญในมาตรา 53 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน แต่ขาดคำว่าความสมดุล ซึ่งเป็นคำที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และร่างรัฐธรรมที่ตกไปก่อนหน้านี้ใช้มาตลอด โดยส่วนตัวมีความรู้สึกว่าควรนำเอามาตรา 91 ของร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปที่ว่าด้วยการให้รัฐต้องอนุรักษ์ สงวน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและจัดให้มีแผนการบริหารเพื่อดำเนินการอย่างเป็นระบบ มาเสริมไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย” ขวัญชัย เสนอแนะ

ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน กมธ.วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เสนอว่า ควรกำหนดหลักการการปราบปรามทุจริตที่มีประสิทธิภาพ คือ 1.กำหนดให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องในคดีทุจริตได้ 2.กำหนดให้รัฐต้องเปิดเผยผลการจัดซื้อจัดจ้างและการเงินการคลังให้ประชาชนรับทราบ 3.กำหนดให้ผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง ผู้สมัครเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองต้องแสดงแบบรายการภาษีย้อนหลัง 3 ปี 4.ไม่คุ้มครองสมาชิกรัฐสภาในสมัยประชุมกรณีทุจริตต่อหน้าที่ และ 5.ให้ฝ่ายค้านเป็นประธาน กมธ.ตรวจสอบการทุจริตและกำกับติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ

“ควรยกหมวดการปฏิรูปประเทศในเรื่องการปราบทุจริตขึ้นมาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญให้เห็นชัด เพราะอาศัยรัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่อาจลดน้อยลงได้ จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคประชาชน”

ทั้งหมดนี้ กรธ.จะปรับให้ตามคำท้วงติงเสนอแนะหรือไม่ต้องตามกันอย่ากะพริบ