posttoday

"ชุมชนเดชาพัฒนา 87" เมื่อรถไฟฟ้าทำลายวิถีชุมชน?

07 กุมภาพันธ์ 2559

ฤาชุมชนเดชาพัฒนา 87 จะล่มสลาย เพราะการมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่้อ-รังสิต)

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ทันทีที่ชาวบ้านทราบข่าวรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง นั่นบ่งบอกให้รู้ว่า ความศิวิไลซ์กำลังจะเดินทางมาถึงในไม่ช้านี้

คนชานกรุงจะได้ขึ้นรถไฟฟ้าเข้าเมืองกับเขาเสียที

ทว่าด้วยการวางแผนอันไร้วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน การวางผังโดยขาดความรู้ความเข้าใจในพื้นที่และวิถีท้องถิ่น ส่งผลให้ชาวบ้านนับพันหลังคาเรือนเดือดร้อนแสนสาหัส

หนึ่งในนั้นคือ "ชุมชนเดชาพัฒนา 87" ย่านรังสิต ปทุมธานี

ชุมชนที่กำลังจะถูกปิดตาย

ย้อนกลับไปช่วงบ่ายแก่ๆของวันที่ 1 ก.พ. ชาวบ้านกว่า 200 หลังคาเรือนในชุมชนเดชาพัฒนา 87 ริมทางรถไฟฝั่งทิศตะวันออก ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ต้องพบกับฝันร้ายกลางแดด จู่ๆมีวิศวกรและคนงานบริษัทอิตาเลียนไทย ซึ่งรับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายแดง บางซื่อ-รังสิต เดินมาเคาะประตูบ้านพร้อมบอกว่า "อีก 3 เดือนข้างหน้า จะเริ่มกันรั้วปิดทางเข้าออกที่เชื่อมไปสู่ถนนเลียบทางรถไฟ กินระยะทาง 7 กิโลเมตร ตั้งแต่สถานีรถไฟหลักหกถึงประตูระบายน้ำคลองรังสิต"

นั่นหมายความว่า ชุมชน 4 แห่ง รวมทั้งชาวบ้านกว่าสองพันหลังคาเรือนจะได้รับผลกระทบจากการกั้นรั้วอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ภิรมย์ เพียรเก็บ ประธานชุมชนเดชาพัฒนา อธิบายให้ฟังว่า เดิมทีถนนเลียบทางรถไฟ (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง) เป็นเส้นทางหลักที่ชาวบ้านหลักหกทั้งสองฝั่งใช้สัญจรมานานหลายสิบปีแล้ว

"สมัยก่อนถนนสายนี้เป็นคลอง รุ่นปู่ย่าตายายก็พายเรือไปมาหาสู่กัน ต่อมามีการถมคลองเป็นถนน ชาวบ้านก็ใช้เป็นเส้นทางเดินเท้าไปขึ้นรถไฟที่สถานีหลักหก ปั่นจักรยานไปโรงเรียน ไปวัด ไม่ก็ขับรถยนต์ไปทำงานในเมือง นอกจากนี้ยังใช้เป็นทางผ่านข้ามไปมาหาสู่กันระหว่างคนฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก พอมีข่าวว่ารถไฟฟ้าสายสีแดงจะมา พวกเราก็ดีใจ จะได้ขึ้นรถไฟฟ้าเดินทางไปไหนมาไหนสะดวก ออกจากชุมชนเข้าถนนเลียบทางรถไฟไปขึ้นรถไฟฟ้า แป๊บเดียวก็ถึง"

แต่เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศว่าจะทำรั้วกั้นระหว่างชุมชนฝั่งตะวันออกกับถนนเลียบทางรถไฟ ส่งผลให้ชุมชน 4 แห่งฝั่งตะวันออก ประกอบด้วยชุมชนเดชาพัฒนา ชุมชนเดชาพัฒนา 87 ชุมชนสินสมุทร และชุมชนสุขเกษม ต่างออกมาคัดค้านอย่างหนัก

"ชุมชนเดชาพัฒนา 87" เมื่อรถไฟฟ้าทำลายวิถีชุมชน? แผนที่จำลองผลกระทบที่ชุมชนเดชาพัฒนา 87 จะได้รับ หากมีการกั้นรั้วปิดทางเข้าออก

"ชุมชนทั้ง 4 แห่งได้รับผลกระทบในหลายระดับ ชุมชนเดชาพัฒนา และชุมชนสินสมุทร หากมีการปิดทางเข้าออก ยังสามารถเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นในการออกไปสู่ภายนอกได้ แต่จะไม่สามารถข้ามทางรถไฟไปฝั่งตะวันตกได้เหมือนแต่ก่อน ส่วนชุมชนเดชาพัฒนา 87 และชุมชนสุขเกษมนั้นเดือดร้อนที่สุด เพราะไม่มีทางเข้าออกอื่น ฝั่งด้านหลังก็ติดที่ดินรกร้าง ร่องสวน นั่นเท่ากับเป็นที่ดินตาบอด ถูกปิดตายไปไหนไม่ได้เลย

ที่ผ่านมา ตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ตัวแทนบริษัทอิตาเลียนไทย เคยเข้าร่วมประชุมกับชาวบ้านเพื่อหาทางออกมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะมีทางออกให้ชาวบ้านอย่างไร ผ่านไปจนกระทั่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาก็ให้วิศวกรเดินมาบอกว่าอีก 3 เดือนจะทำการปิดทางเข้าออก แบบนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน"วิจินต์ เปรมสมบัติ ชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านการปิดกั้นทางเข้าออกชุมชน กล่าว

ธีรวุฒิ กลิ่นสุม นายกเทศมนตรีนครรังสิต เผยว่า ที่ผ่านมาได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน และทำหนังสือประสานไปยังรฟท. เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เปิดทางเข้าออก แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ขณะเดียวกันได้ยื่นเรื่องไปยังศูนย์ดำรงธรรมให้ช่วยไกล่เกลี่ยแต่ก็ไม่เป็นผล

"ผมไม่เห็นด้วยกับรฟท.ที่จะกั้นรั้วปิดทางเข้าออกชาวบ้าน หวังว่าเร็วๆนี้จะมีการพูดคุยเพื่อหาข้อยุติ ถ้าไม่สำเร็จ ทางสุดท้ายของชาวบ้านก็ต้องฟ้องศาลปกครอง"

"ชุมชนเดชาพัฒนา 87" เมื่อรถไฟฟ้าทำลายวิถีชุมชน? ถนนฝั่งตะวันตกที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการกั้นรั้วรถไฟฟ้าสายสีแดง

อย่าปล่อยให้ชาวบ้านคลำทางเอง

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2554 หนึ่งในชาวชุมชนเดชาพัฒนา 87 ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ชุมชนที่กำลังจะถูกปิดตาย หากมีการกั้นรั้วปิดทางเข้าออกในอีก 3 เดือนข้างหน้า

"ผมตั้งข้อสังเกตว่า หนึ่ง ทำไมการรถไฟไม่อนุญาตให้มีทางเข้าออก ทั้งที่ในเอกสารจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยเรื่องรถไฟฟ้าสายสีแดงระบุว่า จะมี 'ถนนเลียบทางรถไฟ' แต่ในความเป็นจริง เขาจะกั้นรั้วทางฝั่งตะวันออก ไม่ให้มีถนนเลียบทางรถไฟ แต่ฝั่งตะวันตกกลับมีทั้งถนนโลคัลโรด และจะมีการขยายถนนเพิ่มอีก ไม่มีปัญหาเหมือนฝั่งนี้ สอง พื้นที่ที่เขาจะกั้นโดยอ้างว่าไม่อยากให้ไปรบกวนการก่อสร้างและเพื่อความปลอดภัยจากไฟฟ้าแรงสูง พื้นที่ตรงนั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ชาวบ้านเดาว่าน่าจะเป็นการปักเขตกั้นรั้วไว้สำหรับก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะมาสร้างในอนาคต สาม ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของผมคือ ทำไมถึงเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ - รังสิต บริเวณสถานีหลักหกถึงเอาลงมาวิ่งในระดับดินระดับเดียวกับรางรถไฟเดิม ทั้งที่ตรงนี้เป็นที่ต่ำ เคยประสบเหตุการณ์น้ำท่วมมาแล้ว ทำไมไม่สร้างต่อม่อให้รถไฟขึ้นไปวิ่งข้างบนเหมือนเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น ส่วนด้านล่างของตอม่อทำเป็นถนนเลียบทางรถไฟให้รถใช้สัญจรกัน "

สุชาติบอกว่า จนป่านนี้ทางกระทรวงคมนาคม รฟท. หรืออิตาเลียนไทยก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะกั้นรั้ว ประเภทไหน อย่างไร

"บ้านทุกหลังในชุมชนเป็นที่ดินมีโฉนดถูกกฎหมาย ถ้าปิดกั้นรั้วเข้าออกไปยังถนนเลียบทางรถไฟ บ้านผมก็เหมือนถูกปิดตาย เพราะด้านหลังก็ติดที่ดินของคนอื่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินรกร้าง และร่องสวน โดยเจ้าของก็อยู่ที่อื่นไม่ได้อาศัยอยู่ที่นี่ ถ้าจะให้ไปใช้ที่ดินเหล่านั้นตัดถนนทำทางเข้าออกใหม่คงเป็นไปไม่ได้ วุ่นวายมาก 10 ปีก็ไม่เสร็จ ต่อจากนี้ไปจะมาบ้านผมได้ทางเดียวคือ กระโดดร่มลงมา"

"ชุมชนเดชาพัฒนา 87" เมื่อรถไฟฟ้าทำลายวิถีชุมชน? สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ กำลังชี้ให้ดูแบบแปลนที่ตั้งของชุมชน

 

"ชุมชนเดชาพัฒนา 87" เมื่อรถไฟฟ้าทำลายวิถีชุมชน? ในเอกสารจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่ประเทศไทยเรื่องรถไฟฟ้าสายสีแดงระบุว่าจะมีถนนเลียบทางรถไฟ

ในมุมมองของศิลปินแห่งชาติรายนี้ การทำเมกะโปรเจกต์ หรือโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนใดๆก็ตาม ควรอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงและใช้บริการได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะถนนเลียบทางรถไฟ อันเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างชุมชนกับภายนอก แต่นี่กลับจะทำรั้วกั้นทางเข้าออก ปิดตายไม่ให้ประชาชนเข้าถึง

ข้อเรียกร้องของชาวบ้านคือ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำถนนเลียบทางรถไฟ ขนาด 6-8เมตร เพื่อสัญจรไปยังถนนเลียบคลองรังสิตประยูรศักดิ์  เปิดเส้นทางเข้าออกแก่ชุมชนไปยังสถานีรถไฟฟ้าหลักหก ทำสะพานข้ามระหว่างชุมชนกับวัดรังสิต โรงเรียน และสถานีอนามัย และจัดทำระบบลำรางระบายน้ำแบบเปิดป้องกันน้ำท่วม

"การกั้นรั้วปิดทางเข้าออกครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวบ้านโดยสิ้นเชิง เหมือนกำแพงเบอร์ลิน เหมือนกำแพงแบ่งเขตเกาหลีเหนือเกาหลีใต้ คนสองฝั่งซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันจะไปมาหาสู่กันไม่ได้ ชาวบ้านจะไปทำงาน จ่ายตลาด หาหมอ เด็กๆจะไปโรงเรียนก็ไม่ได้ ถามว่าจะให้เราบุกป่าฝ่าดงไปหรืออย่างไร ตอนนี้เหมือนรฟท.ปล่อยให้ชาวบ้านคลำทางกันเอง ผมไม่อยากให้นักการเมืองหรือทหารเข้ามายุ่ง มันเป็นเรื่องจิตสำนึกของการรถไฟที่ต้องเอื้ออาทรให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการรถไฟฟ้าได้ และถนนเลียบทางรถไฟก็ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของระบบขนส่งมวลชน"

ลัดดา อัมพร ชาวบ้านในชุมชนเดชาพัฒนา บอกว่า ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านเรื่องการกั้นรั้วในการก่อสร้างทางรถไฟฟ้าสีแดง บางซื่อ-รังสิต เพียงแต่อยากได้ความชัดเจนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะกั้นรั้วแบบไหน อย่างไร

"ชุมชนเดชาพัฒนา 87" เมื่อรถไฟฟ้าทำลายวิถีชุมชน? ถนนเลียบทางรถไฟฝั่งตะวันออกที่กำลังอยู่ในขั้นตอนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง

ทางออกที่ยังไร้ข้อสรุป

เหตุผลหลักๆในการกั้นรั้วในการก่อสร้างทางรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) คือ เพื่อความสะดวกในการดำเนินการก่อสร้าง และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

สาธิต มาลัยธรรม วิศวกรที่ปรึกษาโครงการ  เปิดเผยระหว่างประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2558 ว่า รฟท.จำเป็นจะต้องสร้างรั้วกั้นเพื่อไม่ให้ประชาชนข้ามไปมา เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตราย

"ที่ผ่านมาไม่ทราบว่ามีปัญหาทางเข้าออกชุมชนเกิดขึ้น เพราะทุกครั้งที่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น ไม่มีข้อมูลแจ้งปัญหาในประเด็นนี้ แต่เมื่อรับทราบปัญหาทาง รฟท. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเป็นความเดือดร้อนของประชาชน ก็จะต้องมีการลงไปสำรวจพื้นที่เพื่อหาทางแก้ไข"

ด้าน วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ได้ทราบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจากชาวบ้านแล้ว

"เบื้องต้นเราคงทุเลาไปก่อนโดยให้เปิดทางเข้าออกได้ชั่วคราว ยังไม่ปิดแน่นอน ส่วนเรื่องแนวรั้วกำลังดูอยู่ว่าจะแก้ไขยังไง สัปดาห์หน้าผมจะลงพื้นที่เพื่อหาทางแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน ขอยืนยันว่ารฟท.คำนึงถึงเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนอยู่แล้ว ขณะนี้กำลังให้ทีมวิศวกรออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด ไม่เกินหนึ่งอาทิตย์ได้ข้อสรุปแน่นอน"

ทางออกของเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร ไม่เกินสัปดาห์หน้าคงรู้ผลว่า รฟท.จะบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านทั้ง 4 ชุมชนได้มากน้อยแค่ไหน

"ชุมชนเดชาพัฒนา 87" เมื่อรถไฟฟ้าทำลายวิถีชุมชน? หนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน