posttoday

จี้วางมาตรฐานสื่อ จรรยาบรรณสำคัญกว่าเรตติ้ง

23 มกราคม 2559

สมาคมนักข่าว นักหนังสือ พิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “ร่วมคิด ร่วมแก้ ปัญหาสื่อละเมิดสิทธิ” ภายหลังเกิดเป็นประเด็นร้อนที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อสื่อมวลชน กรณีการเสียชีวิตของ ปอ–ทฤษฎี สหวงษ์ อดีตดารานักแสดง

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

สมาคมนักข่าว นักหนังสือ พิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “ร่วมคิด ร่วมแก้ ปัญหาสื่อละเมิดสิทธิ” ภายหลังเกิดเป็นประเด็นร้อนที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อสื่อมวลชน กรณีการเสียชีวิตของ ปอ–ทฤษฎี สหวงษ์ อดีตดารานักแสดง ทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาต่อการทำหน้าที่ของช่างภาพ สื่อมวลชนในปัจจุบันอย่างรุนแรง

วันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ไทย เปิดเผยว่า การที่สังคมออกมาตำหนิการกระทำที่ผิดพลาดของสื่อบางส่วนนั้นยอมรับว่ากระทำอย่างผิดพลาดจริง แต่ก็ต้องเรียกร้องกลับสู่สังคมด้วยเช่นกันว่า อยากให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีสติ เพราะบางส่วนกำลังใช้อารมณ์ หรือเรียกร้องให้ใช้อำนาจรัฐมาจัดการสื่อ หากเป็นเช่นนั้นจะเกิดอันตรายก่อให้เกิดปัญหาจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ ซึ่งจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามไปด้วย

ดังนั้น จากการหารือกับหลายฝ่ายเป็นที่ตกลงกันว่าจะต้องร่วมกันวางกรอบกฎกติกาจริยธรรม ให้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น จากนั้นจะเชิญสื่อมวลชน รวมถึงผู้บริหารของแต่ละสำนักข่าวเข้ามายอมรับแนวปฏิบัติร่วมกันทั้งหมด

มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจสื่อจะต้องตระหนักถึงความเหมาะสม อย่าเน้นเรื่องเรตติ้งมากจนเกินไป ต่อจากนี้ควรออกคำสั่งมาที่กองบรรณาธิการให้เป็นการออกกฎกติกาปฏิบัติร่วมกัน หากทำได้ก็เชื่อว่าจะแก้ปัญหาในอนาคตได้ อีกทั้งในแต่ละองค์กรควรมีกรรมการตรวจสอบจริยธรรมคนในองค์กรของตัวเองทันทีที่มีคนมาร้องเรียน เพื่อแก้ปัญหาในเบื้องต้น สังคมจะไม่โจมตีรุนแรงเช่นนี้

“ในแต่ละองค์กร ควรมีการตั้งกรรมการตรวจสอบจริยธรรมสื่อของตัวเองขึ้นมา ถือเป็นการจัดการกันเองในชั้นแรก หากจัดการแล้วผู้เป็นเหยื่อยังไม่พอใจก็ให้ยกระดับขึ้นมาเป็นการตรวจสอบที่สูงขึ้นในระดับสภาวิชาชีพ ที่สำคัญทุกองค์กรต้องออกมาร่วมขอโทษ อีกด้านหนึ่งพวกบล็อกเกอร์ เพจต่างๆ ต้องรวมกลุ่มร่างข้อตกลงไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่แชร์ ไม่โพสต์ต่อ ไม่แสดงความเห็นด้วยอารมณ์” มานะ กล่าว

มานะ กล่าวอีกว่า วงการนักวิชาการเห็นว่าจากนี้ต้องทำให้เกิดพลังเครือข่ายนักศึกษาในการจับจ้องตรวจสอบสื่อ รวมถึงผู้สนับสนุนโฆษณาต้องสนับสนุนรายการที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เลือกสนับสนุนรายการจากเรตติ้งสูงเท่านั้น ส่วนแนวทางป้องกันเบื้องต้นที่ทำได้ทันที คือทุกองค์กรต้องออกกฎระเบียบปฏิบัติร่วมกัน ว่าหากมีการละเมิดจะถูกลงโทษอย่างไร

สาโรช เมฆโสภาวรรณกุล บรรณาธิการฝ่ายภาพ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า สิ่งที่ช่างภาพต้องตระหนัก คือ ห้ามละเมิดความเป็นมนุษย์ ห้ามละเมิดจริยธรรม เพราะไม่จำเป็นที่ต้องให้ได้รูปสะเทือนอารมณ์ทุกครั้ง เช่น ภาพเด็ก สตรีที่ถูกกระทำ หรือภาพนักโทษ ภาพเหล่านี้คือสิ่งที่ในอนาคตจะต้องไม่ปรากฏ ยอมรับว่าช่างภาพต้องถ่ายภาพให้หลากหลาย และมีการส่งภาพละเมิดสิทธิเข้ามาในองค์กรบ้าง แต่องค์กรต้องตอบกลับช่างภาพคนนั้นทันทีว่า ถ่ายมาทำไม ต้องการอะไร นอกจากเป็นการอบรมคนในองค์กรเดียวกันแล้ว ยังเป็นการคัดกรองข้อมูลข่าวสารให้มีคุณภาพก่อนออกสู่สายตาประชาชน

ศตกมล วรกุล บรรณาธิการบริหาร NEW TV กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยเป็นนักข่าวบันเทิง เห็นได้ชัดว่าจำนวนนักข่าวบันเทิงทุกวันนี้มีจำนวนมาก อีกทั้งเรื่องของสื่อออนไลน์มีการแชร์ออกจากเพจ ไม่ได้แชร์ออกจากสื่อหลัก กลายเป็นว่าสื่อออนไลน์มีอิทธิพลกับประชาชนมากกว่าสื่อหลักแล้ว ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเพจเหล่านี้เป็นสื่อมวลชน

ทั้งนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ที่มาเป็นนักข่าวไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมเรื่องจรรยาบรรณสื่อมวลชน ดังนั้นต้องทำให้ปลายทางที่ไม่ว่าใครจะมาเป็นสื่อต้องเข้าใจเรื่องจรรยาบรรณ อีกทั้งทำอย่างไรให้สมาคมสื่อรวมตัวเข้ามาควบคุมกันเองจะดีที่สุด ในด้านสื่อทีวีมีความผิดพลาดบ้าง แต่ทุกวันนี้มีพัฒนาการความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น

เสรี ชยามฤต นายกสมาคมนักข่าวบันเทิง กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสมาคมนักข่าวบันเทิงมีปัญหามากๆ ยอมรับว่าไม่ใช่ครั้งแรก เพราะ เหตุการณ์ที่ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” เสียชีวิต สมัยนั้นมีนักข่าวจำนวนไม่มาก แต่ทุกวันนี้มีมากกว่า 100 คนในการทำข่าว 1 ครั้ง ส่วนตัว ยืนยันว่านักข่าวบันเทิงมีจรรยาบรรณ แต่ส่วนมากไม่ค่อยหยิบมาใช้ วันนี้จึงต้องมาแก้ไขให้นักข่าวบันเทิงดีขึ้น

เสรี กล่าวว่า การแก้ปัญหาในอนาคตต้องให้ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจสื่อออกนโยบายเป็นคำสั่งให้เป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะนโยบายอยู่เหนือเหตุผล จากนั้นบรรณาธิการข่าวต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนำเสนอข่าวหรือภาพออกสู่สังคม เพราะตัวนักข่าวต้องทำตามนโยบาย ของผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายมา หากทำไม่ได้อาจถูกดุด่าว่าไม่มีประสิทธิภาพ