posttoday

ผ่าทำเลทอง "อยู่สะดวก-ราคาพุ่ง"

10 มกราคม 2559

โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นโครงการที่บรรดานักพัฒนาที่ดินให้ความสนใจมากที่สุด

โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์

ปี 2559 นับเป็นอีกหนึ่งปีทองของการลงทุนภาครัฐ เพราะมีหลายบิ๊กโปรเจกต์ด้านคมนาคมที่รัฐบาลเตรียมเดินหน้า ซึ่งการลงทุนของภาครัฐในปีนี้เป็นความหวังใหญ่ของภาคเอกชนที่คาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง และเป็นโครงการที่นักพัฒนาที่ดินจับตามองด้วย หากมีความชัดเจนก็พร้อมร่วมวงจับจองพื้นที่ลงทุนใกล้โครงการคมนาคมเหล่านี้

โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นโครงการที่บรรดานักพัฒนาที่ดินให้ความสนใจมากที่สุด เพราะเป็นการเปิดหน้าดินใหม่ และหากประเมินจากรถไฟฟ้าเส้นทางปัจจุบัน โครงการที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก อาคารสำนักงาน หรือที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค

สำหรับ 4 เส้นทางใหม่สร้างอนาคต นอกจากรถไฟฟ้าเส้นทางปัจจุบันที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง รถไฟฟ้า 4 เส้นทางใหม่ ได้แก่ 1.สายสีเขียวส่วนต่อขยาย (หมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา) ที่ปัจจุบันเพิ่งเริ่มก่อสร้าง 2.สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนของช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ยังไม่ผ่าน) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) กำลังรอผ่าน PPP ฟาสต์แทร็กก่อน แล้วถึงจะเสนอเข้า ครม. ซึ่งคาดว่าจะเป็นเดือน พ.ค.ปีนี้ ล้วนสร้างความสนใจให้กับทั้งภาคนักลงทุนและภาคประชาชน

หากวิเคราะห์ถึง 4 เส้นทางอนาคตต้องยอมรับว่า สายสีเขียวส่วนต่อขยาย (หมอชิต-สะพานใหม่-ลำลูกกา) ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากที่สุด เพราะเริ่มโครงการแล้ว โดยช่วงสถานีที่ 1-สถานีที่ 5 (สถานีห้าแยกลาดพร้าว-สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) มีศักยภาพโดดเด่นที่สุด เพราะใกล้เมืองมากที่สุด และเชื่อมต่อมาจากสถานีหมอชิตผ่านบริเวณห้าแยกลาดพร้าว มีครบทั้งศูนย์รวมแหล่งช็อปปิ้งชั้นนำ อาคารสำนักงาน และมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ก็เป็นช่วงที่ราคาที่ดินและราคาคอนโดมิเนียมแพงมากแล้วเช่นกัน

ปัจจุบันผู้ประกอบการคอนโดมิเนียม จึงเริ่มไปปักธงบริเวณสถานีสายหยุดและสถานีสะพานใหม่แทน ส่วนสถานีอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของหน่วยงานรัฐ พัฒนาไม่ได้ และอีกหนึ่งข้อจำกัดของบริเวณเกาะแนวรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ในช่วงกลางถึงปลายคือ เป็นพื้นที่ควบคุมความสูงของตัวอาคาร เพราะอยู่ใกล้สนามบิน ราคาที่ดินจึงขึ้นไปแซงหน้าประโยชน์ในการพัฒนาที่ดินได้จริง 

สำหรับรถไฟฟ้าอีก 3 เส้นทาง คือ สายสีส้ม สายสีเหลือง และสายสีชมพู จะเริ่มเป็นรถไฟฟ้าที่ขยายไปยังพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯ และรอยต่อกรุงเทพฯ มากขึ้น วิ่งเข้าชุมชนเดิม ซึ่งจะช่วยยกคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยเดิมให้ดีขึ้น ส่วนการเปิดหน้าดินใหม่จะเป็นลักษณะการกว้านซื้อตึกแถวเก่ามารื้อทิ้งสร้างเป็นโครงการใหม่ หรืออาจนำตึกแถวเหล่านั้นมาปรับปรุงเพื่อใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับความเจริญที่เข้ามา

ขณะที่ทำเลฮอตเกาะแนวรถไฟฟ้าทั้ง 3 เส้นทางดังกล่าว ในระยะสั้นช่วง 5-10 ปีนี้ จะมีไม่กี่บริเวณเท่านั้นที่จะเกิดตลาดคอนโดมิเนียมได้ เช่น สายสีส้ม พื้นที่ที่จะได้รับอานิสงส์คือ 2-3 สถานีที่อยู่ใกล้สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ส่วนสถานีอื่นๆ ยังมีบ้านแนวราบเป็นทางเลือก ส่วนสายสีเหลือง บริเวณที่วิ่งผ่านถนนลาดพร้าวประมาณ 6-7 สถานี ตลาดคอนโดมิเนียมจะเป็นที่นิยม ราคายังไม่แพงมาก ส่วนแถวศรีนครินทร์อาจจะมีคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทบ้าง แต่ก็ยังมีบ้านแนวราบให้เลือกจำนวนมาก

ส่วนสายสีชมพู เส้นทางนี้ถือว่าค่อนข้างน่าสนใจ เพราะว่ามีหลายสถานีที่ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นได้ ทั้งสายสีแดง สายสีเขียวสะพานใหม่ และสายสีม่วง แต่โอกาสในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ จะกระจุกตัวบริเวณทางด่วนศรีรัช-ห้าแยกปากเกร็ด (โซนเซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ) มากที่สุด เพราะบริเวณแจ้งวัฒนะ 14-ทางด่วนศรีรัช (โซนเมืองทองธานี) พัฒนาจนเต็มที่มากแล้ว ส่วนบริเวณหลักสี่-ศูนย์ราชการ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานรัฐพัฒนายาก

ทั้งนี้ ข้อจำกัดของทั้ง 4 เส้นทางรถไฟฟ้าใหม่เหล่านี้ ส่วนใหญ่คือผังเมืองปัจจุบันยังไม่สอดรับกับการมีรถไฟฟ้า มีหลายพื้นที่มีข้อจำกัดในการพัฒนา ซึ่งต้องรอดูว่านอกจากรัฐบาลจะเร่งเครื่องลงทุนโครงการรถไฟฟ้าแล้ว จะมีนโยบายด้านผังเมืองที่เปลี่ยนไปหรือไม่

จากบทเรียนในอดีตที่มีหลายโครงการมีกระแสข่าวว่าจะมีการก่อสร้าง แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มี ทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นนักพัฒนาที่ดินจริงๆ จะยังไม่เข้าไปปักธงลงทุน จนกว่าจะเห็นความชัดเจนด้านงานก่อสร้างจริงๆ แม้ว่าการเข้าไปลงทุนจังหวะนั้น จะทำให้ต้นทุนที่ดินสูงแล้วก็ตาม แต่ก็ชัวร์ว่าเข้าไปแรกๆ แต่โครงการไม่เกิดจริง ซึ่งแน่นอนว่าในช่วงโครงการเพิ่งเริ่มมีความชัดเจนเช่นนี้ กลุ่มแรกที่จะเข้ามาคือ กลุ่มนักเก็งกำไรที่ดิน

6 แนวก่อสร้างปัจจุบัน

รถไฟฟ้า 6 เส้นทางทั้งที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จ อยู่ระหว่างก่อสร้าง เป็นทำเลสุดฮอตที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่อยู่อาศัยและค้าปลีก เข้าไปปักธงลงทุนกันมาแล้ว เพราะทั้ง 6 เส้นทางมีความคืบหน้าในการก่อสร้างมาก โดยเริ่มจาก 4 เส้นทางแรกก่อน คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) เป็นซิตี้ เรล (City Rail) ยุคแรกๆ ต่อจากแอร์พอร์ตลิงค์ ที่วิ่งจากเมืองออกไปชานเมือง เป็นการเปิดหน้าดินใหม่ในทุกสถานี ซึ่งพร้อมเปิดให้บริการประมาณกลางปี 2559 นี้แล้ว 

ส่วนสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (แบริ่ง-สมุทรปราการ) สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) ที่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างมาก รวมถึง สายสีเขียวส่วนต่อขยายฝั่งธนบุรี (กรุงธนบุรี-บางหว้า) กำลังเป็นทำเลใหม่ที่เติบโตมาก เพราะว่าเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นปัจจุบันและใกล้เมืองมากที่สุด

ทั้ง 4 เป็นทำเลคอนโดมิเนียมระดับกลาง ราคาเริ่มต้น 2 ล้านบาท (บางสถานีที่ไกลออกไปก็จะเริ่มต้นต่ำกว่า 1.5 ล้านบาทหรือต่ำกว่า 1 ล้านบาท) รองรับกลุ่มคนที่ต้องทำงานในเมือง แต่ไม่สามารถจับต้องราคาคอนโดมิเนียมในเมืองได้ เพราะแพงมากแล้ว ซึ่งแม้ว่าตามแนว 4 เส้นทางรถไฟฟ้านี้ ปัจจุบันโดมิเนียมจะโอเวอร์ซัพพลาย แต่ผู้ประกอบการล้วนมองว่า แนวโน้มจะดีขึ้น เมื่อรถไฟฟ้าเปิดให้บริการจริง คล้ายกับเส้นอ่อนนุช-แบริ่ง ในอดีตเคยล้นตลาด แล้วก็ปรับตัวดีขึ้นหลังรถไฟฟ้าวิ่ง

สำหรับรถไฟฟ้า อีก 2 สายสำคัญ คือ สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) จะเป็นรถไฟฟ้าที่มีลักษณะคล้ายกับแอร์พอร์ตลิงค์ นั่นคือ วิ่งตามแนวรถไฟสายเก่า มีระยะทางยาว แต่มีความถี่ของสถานีไม่มาก วิ่งออกจากจุดศูนย์กลาง คือ สถานีกลางบางซื่อไปยังชานเมืองของทั้งฝั่งเหนือกรุงเทพฯ (รังสิต) และฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ (ตลิ่งชัน) 

ทำเลเกาะฝั่งขึ้นเหนือไปทางรังสิต จะเห็นภาพของตลาดคอนโดมิเนียม เกิดขึ้นมากกว่าฝั่งตลิ่งชัน เพราะฝั่งรังสิตเติบโตมาก่อนที่จะมีรถไฟฟ้าแล้ว มีมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง มีแหล่งงานใหญ่ มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่างฟิวเจอร์รังสิต ในอนาคตจะมีเซ็นทรัล มีอิเกีย มีเมการังสิต เรียกว่าความเจริญเกิดขึ้นไปนานแล้ว ราคาที่ดินจึงแพงมาก บ้านแนวราบย่านนี้จึงราคาสูง ปัจจุบันจึงเกิดคอนโดฯ 8-9 แสนบาทถึงล้านต้นๆ

ส่วนฝั่งตลิ่งชัน ด้วยข้อจำกัดด้านผังเมืองปัจจุบัน ที่จำกัดการพัฒนา เอื้อกับการสร้างบ้านหลังใหญ่เป็นหลัก และยังไม่มีห้างใหญ่ หรือแม่เหล็กใหญ่ๆ ที่ผ่านมาจึงเป็นพื้นที่ของที่อยู่อาศัยราคาแพง คอนโดมิเนียมยังเกิดน้อยมาก จึงต้องดูเช่นกันว่าภาครัฐจะเปลี่ยนแปลงประโยชน์การใช้ที่ดินในผังเมืองของย่านนี้หรือไม่ หากเปลี่ยน จะเป็นจุดหักมุมสำคัญในการพลิกโฉมพื้นที่ย่านนี้

ผ่าทำเลทอง "อยู่สะดวก-ราคาพุ่ง" โครงการเดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์

โซนซีบีดี ยังร้อนแรง

จากภาพรวมทำเลรถไฟฟ้าทั้ง 4 เส้นทางใหม่ และ 6 เส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นทำเลทองแห่งอนาคต แต่สำหรับทำเลทองของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันยังคงกระจุกตัวอยู่บริเวณเดิม โดยแบ่งเป็น โซนซีบีดี หรือทำเลศูนย์กลางธุรกิจใจกลางเมืองปัจจุบัน ได้แก่ สุขุมวิท-สาทร-ลุมพินี เป็นย่านที่ราคาที่ดินแพงที่สุดในประเทศไทย ตารางวาละไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท ส่วนราคาขายคอนโดมิเนียมเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 1.5-2 แสนบาท/ตารางเมตร (ตร.ม.)

สำหรับปีนี้บริเวณชิดลม เพลินจิต อโศก และทองหล่อ จะฮอตสุด เพราะจะมีโครงการเปิดตัวใหม่ในย่านนี้ต่อเนื่องจากปีที่แล้วอีกไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ ซึ่งคาดว่าราคาขายในแต่ละโครงการจะร้อนแรงพอสมควร เริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนบาท/ตร.ม. เพราะเป็นโครงการบนต้นทุนราคาที่ดินใหม่ที่ค่อนข้างสูง

ส่วนโซนซีบีดีใหม่หรือย่านศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ได้แก่ ย่านรัชดา-พระราม 9 และย่านห้าแยกลาดพร้าว เป็นพื้นที่ที่เติบโตรองรับซีบีดีปัจจุบัน ซึ่งย่านรัชดา-พระราม 9 ถือว่าโดดเด่นที่สุดในโซนนี้ เพราะเป็นย่านเกิดใหม่ของอาคารสำนักงานเกรดเอ ใกล้ห้าง มีรถไฟฟ้าผ่าน ทำให้บริษัทชั้นนำหลายแห่งย้ายมาเช่าอาคารสำนักงานย่านนี้ ซึ่งหากในอนาคตโครงการซูเปอร์ทาวเวอร์ตึกสูง 125 ชั้นเกิดได้จริง จะยิ่งยกระดับทำเลย่านนี้ให้พรีเมียมขึ้นอีก

ขณะที่ย่านห้าแยกลาดพร้าวเป็นย่านที่มีศูนย์การค้าชั้นนำบุกเบิกมานานและเติบโตมาต่อเนื่อง ปัจจุบันเริ่มมีอาคารสำนักงานเกิดใหม่เกิดขึ้น ประกอบกับกำลังจะมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ผ่านในอนาคต จะยิ่งทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ส่วนทำเลน้องใหม่เกาะห้างยักษ์ ได้แก่ บางนา (เกาะแบงค็อก มอลล์) และบางใหญ่ (เกาะเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต+มอเตอร์เวย์) ก็น่าจับตามองเช่นกัน

ผ่าทำเลทอง "อยู่สะดวก-ราคาพุ่ง"

เออีซีบูมพื้นที่เขตศก.พิเศษ

จากภาพรวมรถไฟฟ้าทั้ง 4 เส้นทางใหม่ และ 6 เส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นทำเลทองแห่งอนาคต แต่ทำเลทองในกรุงเทพฯ ปัจจุบันยังคงกระจุกตัวอยู่บริเวณเดิม โดยแบ่งเป็นโซนซีบีดีปัจจุบัน หรือทำเลใจกลางเมืองสุขุมวิท-สาทร-ลุมพินี ซึ่งปีนี้บริเวณชิดลม เพลินจิต อโศก และทองหล่อ จะฮอตสุดในโซนนี้ เป็นย่านธุรกิจ อาคารสำนักงาน ค้าปลีกชั้นนำ และที่อยู่อาศัยราคาแพงทั้งแนวราบและแนวสูง กลุ่มผู้ซื้อมีทั้งคนไทยและต่างชาติ 

ส่วนโซนซีบีดีใหม่หรือย่านศูนย์กลางธุรกิจใหม่ ได้แก่ ย่านรัชดา-พระราม 9 และย่านห้าแยกลาดพร้าว เป็นพื้นที่ที่เติบโตรองรับซีบีดีปัจจุบัน ซึ่งย่านรัชดา-พระราม 9 ถือว่าโดดเด่นที่สุดในโซนนี้ เพราะเป็นย่านเกิดใหม่ของอาคารสำนักงานเกรดเอ อัตราค่าเช่าถูกกว่าโซนซีบีดีปัจจุบัน แต่สิ่งอำนวยความสะดวกครบ ตึกใหม่ ใกล้ห้าง มีรถไฟฟ้าผ่าน ทำให้บริษัทชั้นนำหลายแห่งย้ายมาเช่าอาคารสำนักงานย่านนี้ ซึ่งหากในอนาคตโครงการซูเปอร์ทาวเวอร์ตึกสูง 125 ชั้นเกิดได้จริง จะยิ่งยกระดับทำเลย่านนี้ให้พรีเมียมขึ้นอีก

ส่วนห้าแยกลาดพร้าวเป็นย่านที่มีศูนย์การค้าชั้นนำบุกเบิกมานาน และเติบโตมาต่อเนื่องแล้วยิ่งปัจจุบันเริ่มมีอาคารสำนักงานเกิดใหม่ หรืออาคารเก่าถูกเทกโอเวอร์เพื่อปรับปรุงใหม่ให้เป็นอาคารสำนักงานเกรดเอ ประกอบกับกำลังจะมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ผ่านในอนาคต จะยิ่งทำให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ส่วนทำเลน้องใหม่เกาะห้างยักษ์ ได้แก่ บางนา (เกาะแบงค็อก มอลล์) และบางใหญ่ (เกาะเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต+มอเตอร์เวย์) ก็น่าจับตามองเช่นกัน

ขณะที่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีอย่างเป็นทางการในปีนี้ ประกอบกับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของภาครัฐ ก็จะทำให้เกิดทำเลทองใหม่ๆ บริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยแผนพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่แบ่งออกเป็น 2 ระยะด้วยกัน คือ ระยะที่ 1 เริ่มปี 2558 ใน 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา และล่าสุดได้เพิ่มหนองคายเข้ามาอีก 1 จังหวัด ส่วนระยะที่ 2 เริ่มปี 2559 ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย กาญจนบุรี นครพนม และนราธิวาส เขตเศรษฐกิจพิเศษทุกแห่งจะกระจายอยู่ตามแนวชายแดนที่มีด่านผ่านแดนหรือด่านศุลกากร

หากวิเคราะห์ภาพรวมของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 2 ระยะ รวม 10 จังหวัดแล้ว จังหวัดที่มีโอกาสเกิดทำเลทองมากที่สุด คือ ตาก สระแก้ว สงขลา และเชียงราย ส่วนกาญจนบุรีต้องรอดูความชัดเจนของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และโครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรีก่อนจึงจะเห็นภาพโอกาสในการเกิดทำเลทองได้

เริ่มด้วย จ.ตาก พื้นที่ที่ค้าขายชายแดนคึกคักมากที่สุดอยู่ใน อ.แม่สอด ซึ่งปัจจุบันมีการคมนาคมที่สะดวก ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยฝ่ายวิจัยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำรวจพบว่า การค้าขายชายแดนที่เติบโตต่อเนื่องที่รอยต่อชายแดน จ.ตาก ทำให้ตากมีค้าปลีกขนาดใหญ่ครบ โมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้างมีเกือบครบทุกแบรนด์ ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับขึ้นมาก เริ่มเกิดตลาดคอนโดมิเนียมขึ้น

จ.สระแก้ว บริเวณด่านคลองลึก (ตลาดโรงเกลือ) อ.อรัญประเทศ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ชายแดนที่มีการค้าระหว่างประเทศที่คึกคักมาก มีพื้นที่ติดกับบ้านปอยเปต อำเภอโอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ปัจจุบันเริ่มมีโครงการอาคารพาณิชย์ นอกตลาดโรงเกลือมีโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทั้งอาคารพาณิชย์และคอนโดมิเนียมมีทั้งสำเร็จกับต้องทบทวนใหม่

จ.สงขลา แม้ไม่มีเออีซีสงขลาก็คึกคักอยู่แล้ว โดยเฉพาะ อ.หาดใหญ่ เพราะมาเลเซียนิยมเข้ามาเที่ยว โดยเมื่อกล่าวถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจริงๆ คือ อ.สะเดา ปัจจุบันอาจยังไม่เห็นการพัฒนาโครงการใหม่ๆ ชัดเจน แต่เริ่มมีนักลงทุนชาวมาเลเซียมาซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์ในสะเดาเพื่อสร้างเป็นโกดังเก็บสินค้า เข้ามาซื้อโรงงานผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน

จ.เชียงราย นอกจากเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว การเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ส่งผลดีให้เกิดการท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศจีนและลาว รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เข้ามามากขึ้น ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวโตและเริ่มมีโรงแรมขนาดเล็กลงทุนมากขึ้น ส่วนค้าขายชายแดนก็เติบโต เริ่มมีการสร้างศูนย์จัดเก็บสินค้า รับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมเชียงราย-ลาว-จีน มีถนน R3A ไปจีน ปัจจุบันทุนอสังหาฯ รายใหญ่จากส่วนกลางหลายรายเข้ามาปักธงพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรรแล้ว กลุ่มผู้ซื้อมีทั้งคนไทยและคนจีน