posttoday

ปัญหาการศึกษาอลวน ไม่เห็นอนาคตการปฏิรูป

07 มกราคม 2559

กระทรวงศึกษาธิการแถลงผลงานที่ดำเนินการไปแล้วในปีที่ผ่านมาหลายเรื่อง แต่ก็ยังเป็นความสำเร็จที่อยู่ในเครื่องหมายคำถาม

เรื่อง..ธเนศน์ นุ่นมัน

แม้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)จะแถลงผลงานที่ดำเนินการไปแล้วในปีที่ผ่านมาหลายเรื่อง แต่สิ่งที่ระบุก็ยังเป็นความสำเร็จที่อยู่ในเครื่องหมายคำถาม จนไม่มั่นใจว่าในปี 2559 นี้นโยบายปฏิรูปการศึกษาในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะคืบหน้าเห็นผลอย่างไร

ปีที่ผ่านมา ศธ.เป็นอีกหน่วยงานที่พยายามจัดการปัญหาการทุจริตกับหน่วยงานในสังกัด โดยเฉพาะ ในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และ องค์การค้าฯ จนกล่าวได้ว่านายกรัฐมนตรี ต้องใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) กับกรณีนี้ เป็นกระทรวงแรก เพื่อเข้าไปทุจริตตั้งแต่โครงการก่อสร้างอาคารพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ วงเงิน 360 ล้านบาท กรณี บริษัทบิลเลี่ยนอินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ร่วมมือกับอดีตผู้บริหาร และคณะกรรมการ สกสค.บางส่วน ขายตั๋วสัญญาให้กับ สกสค. 3,000 ล้านบาท โดยอ้างว่านำไปลงทุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โดยใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันปลอมเกือบทุกรายการ กรณีดังกล่าว นำไปมาสู่การยกเลิกโครงการก่อสร้าง พร้อมแจ้งความข้อหาฉ้อโกง

ศธ.ยุค พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ดำรงตำแหน่งรมว. พยายามผลักดันนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" นำร่องใน 3,831 โรงเรียนทั่วประเทศไปเมื่อวันที่ 2 พ.ย.สาระหลักคือปรับลดเวลาเรียนวิชาการในชั้นเรียนให้ถึงเวลา 14.00 น.และจัดกิจกรรมให้เหมาะสมตามวัยทดแทน ภายใต้หลัก "4H"คือ Head (สมอง) Heart (จิตใจ) Hand (ลงมือปฏิบัติ) และ Health (สุขภาพ) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดสรร 300 เมนู 4 กิจกรรม ให้โรงเรียนได้นำไปปรับใช้

แต่เรื่องนี้ก็ถูกวิพากษ์ออกไปสองทาง คือเห็นด้วยที่ช่วยลดภาระการเรียนที่หนักเกินไป ขณะที่เสียงค้าน มองว่า นโยบายนี้ จะยิ่งไปเพิ่มเวลาให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปกวดวิชา ขณะที่กิจกรรมที่สพฐ.มีให้เลือกนั้น แต่ละโรงเรียนนำไปปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ยาก เพราะมีข้อจำกัดที่ต้นทุนเดิมก็คือเรื่องความสามารถของครู

และเมื่อพูดถึงเรื่องครูซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการศึกษา ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงปัญหาเรื้อรังที่หนีไม่พ้นเรื่อง "หนี้สิน" ศธ.ออกมาระบุ ว่า ครูเป็นหนี้ทั้งระบบ 1.2 ล้านล้านบาท เป็นหนี้ที่กู้ยืมจากธนาคารออมสิน 460,000 คน เป็นเงิน 500,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นหนี้นอกระบบและหนี้ที่กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ อีก 700,000 ล้านบาท รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่เคยสะสางหนี้สินครูได้สำเร็จเพราะหากเข้าไปจัดการเรื่องนี้โดยสร้างความไม่พอใจให้ครูก็จะกระทบคะแนนเสียงจากครู กว่า 4 แสนคนทั่วประเทศ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามแก้ไขอีกครั้งด้วยการมอบหมายให้ธนาคารออมสิน และ ศธ. คิดหามาตรการแก้ไขหนี้สิน ธนาคารออมสินออกมาตรการช่วยเหลือครูโดยแบ่งลูกหนี้เป็น 4 กลุ่ม เพื่อให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม ได้แก่ ลูกหนี้ขั้นวิกฤต ลูกหนี้ใกล้วิกฤต ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 12 งวดติดต่อกัน และลูกหนี้ปกติ แต่ ย้ำว่าเรื่องนี้ครูต้องรับผิดชอบหนี้ตัวเอง รัฐบาลล้างหนี้ให้ไม่ได้ ท่าทีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงต่างจากรัฐบาลอื่นๆ โดยต้องติดตามกันต่อไป ว่าจะลงเอยอย่างไร

นอกปัญหาจากที่กล่าวมาแล้ว ดูเหมือนว่าอนาคตของการศึกษาไทยในรัฐบาลนี้ ยังฝากความหวังไว้ที่ สภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) อยู่ระหว่างดำเนินการปฏิรูป แก้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติที่เน้นเรื่องการกระจายอำนาจเป็นหลัก  ช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รมว.ศธ. ส่งสัญญาณถึงแนวคิดจะสลาย 5 องค์กรหลัก หรือ 5 แท่ง และแบ่งระบบโครงสร้างบริหารเป็นกรม คล้ายในอดีตก่อนเมื่อครั้งมี 14 องค์ชายหรือ 14 กรม ก่อนจะปรับโครงสร้าง ศธ.ครั้งใหญ่

แนวคิด "ซิงเกิลคอมมาน" มี "รมว.ศธ." ดูแลนโยบายในภาพรวม  แยกการทำงานของสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ออกเป็น 6 กรม 2 สำนัก คือ สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรมวิชาการ กรมการศึกษานอกโรงเรียน กรมการปฐมวัยและประถมศึกษา กรมการมัธยมศึกษา กรมการศึกษาพิเศษ และกรมอาชีวศึกษา เป็นแนวคิดที่แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมที่ ตำแหน่งปลัด ศธ.ไร้อำนาจในการสั่งการองค์กรหลักอื่นๆให้กลับมาเป็น เป็นผู้บริหารระดับสูง เพียงคนเดียว
ปิดท้ายด้วยกรณี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ต้องเป็นข่าวเพราะความขัดแย้งของกลุ่มผู้บริหาร ที่แบ่งฝ่ายออกเป็น 2 ขั้ว ที่เริ่มปมความขัดแย้งจาก โครงการจัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องฝึกบินจำลองเสมือนจริง แบบแอร์บัส เอ320มูลค่าประมาณ 350 ล้านบาท ที่มีการระบุพบความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท ปมทุจริตนี้เป็นศึกภายในที่มีการโต้แย้งกันจนเริ่มกลายเป็นข่าวดังออกไปนอกรั้ว

กรรมการสภากลุ่มหนึ่ง ร้องต่อสภามหาวิทยาลัย ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้และนำไปสู่การพักงาน ภราดาบัญชา แสงหิรัญ อธิการบดี เป็นการชั่วคราว ล่าสุดเมื่อ 30 ธ.ค. 2558 กลุ่มชายฉกรรจ์ 20 คน อ้างว่าเป็นคนของรักษการอธิการบดี งัดกุญแจประตูเอแบคเพื่อนำคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากศาลแพ่ง ลงวันที่ 4 ส.ค. 2558 ว่า ห้ามมิให้กลุ่มผู้บริหารชุดเก่าเข้าไปในพื้นที่มหาวิทยาลัย แต่ถูกชุดรักษาความปลอดภัยของผู้บริหารชุดเก่าฉีดถังดับเพลิงสกัด จนตำรวจและทหารต้องวางกำลังเพื่อป้องกันการปะทะ

คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)จะประชุมจะพิจารณาว่าต้องการให้ ศธ.เข้าไปควบคุมเอแบคหรือไม่โดยอำนาจทางกฎหมายที่จะนำไปใช้ควบคุมเอแบคได้ คือ มาตรา 86 ตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2550 กกอ.จะตั้งคณะกรรมการ 5 คน เพื่อไปดูแลเรื่องต่างๆ แทนบอร์ดของมหาวิทยาลัย

ศธ.ทราบถึงข้อจำกัดของการบริหารจัดการว่า หลายเรื่องต้องดำเนินการระยาวและต่อเนื่อง ไม่ใช่เรื่องการทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก

ขณะที่ปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จของ นโยบายการศึกษาจะได้ผลแค่ไหนนั้นบอกได้ชัดเจนที่สุดจากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาในทุกระดับชั้น