posttoday

ตัดท่อน้ำเลี้ยงเอ็นจีโอใหญ่ ระวังผลักมิตรให้เป็นศัตรู

07 มกราคม 2559

ฟ้าผ่าเปรี้ยงลงกลางสสส.หลัง หน.คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เด้งคณะกรรมการ (บอร์ด) สสส. 7 ราย พ้นจากตำแหน่ง

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ฟ้าผ่าเปรี้ยงลงกลางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ช่วงค่ำของวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เด้งคณะกรรมการ (บอร์ด) สสส. 7 ราย พ้นจากตำแหน่ง

ทั้ง 7 รายที่ถูกล้างบาง เป็นบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ “ภาคประชาสังคม”

นั่นหมายความว่า บอร์ด สสส.ที่ยังอยู่ในตำแหน่งขณะนี้ เหลือเพียงตัวแทนจากหน่วยงานราชการเท่านั้น

คาดการณ์กันว่า สาเหตุที่ “บิ๊กตู่” ตัดสินใจลงดาบ เป็นผลมาจากรายงานประเมินการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน ปี 2557 ของกองทุน สสส.ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้จัดทำขึ้น

“การบริหารงานยังไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ มีความไม่โปร่งใสในการดำเนินงาน และขาดการรายงานและติดตามผลของโครงการที่ได้เงินสนับสนุน” ตอนหนึ่งของรายงาน ระบุ

รายงานระบุอีกว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด สสส.และผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกลั่นกรองทางวิชาการ ได้จัดตั้งมูลนิธิหลายแห่ง และได้เงินอุดหนุนโครงการจากกองทุน สสส.จนทำให้มีข้อร้องเรียนหรือกล่าวหาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมีการอนุมัติงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของ สสส.

“ผมไม่ได้ว่าผิดหรือถูก ก็ต้องตรวจสอบกันต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมย้ำว่าให้รอผลการตรวจสอบ อย่าเพิ่งตัดสินว่าใครผิดหรือถูก

แม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปว่าบอร์ด 7 ราย พัวพันกับข้อครหาจริงหรือไม่ หากแต่ผลพวงจากคำสั่ง คสช.ได้สร้างแรงกระเพื่อมแล้ว อย่างน้อย 2 ประเด็น

ประเด็นแรกคือ เกิดความกังวลขึ้นในกลุ่มภาคประชาสังคม (เอ็นจีโอ) ซึ่งรับทุนสนับสนุนจาก สสส. โดยเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้านโครงการพัฒนาต่างๆ ที่สร้างผลกระทบกับคนเล็กคนน้อย ซึ่งที่ผ่านมามักถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลมาโดยตลอด

แน่นอนว่าเมื่อไม่มีบอร์ดสัดส่วนภาคประชาสังคมทั้ง 7 รายอยู่ มีโอกาสสูงที่ท่อน้ำเลี้ยงของเอ็นจีโอจะอุดตัน รัฐบาลก็หมดเสี้ยนหนาม

ปฏิบัติการ “เด็ดหัว” ในครั้งนี้ จึงส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ประเด็นต่อมาคือ ขณะนี้ สสส.ยังไม่มี “ผู้จัดการกองทุน” เนื่องจาก ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ได้ชิงลาออกเพื่อเปิดทางให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) มาตรวจสอบ

ที่ผ่านมามีกระแสข่าวหนาหูเรื่องความพยายามผลักดัน “คนใกล้ชิด” นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เข้ามารับไม้ต่อจากผู้จัดการกองทุนรายเดิม แต่เมื่อบอร์ดทั้ง 7 ราย ไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว มีความเป็นไปได้สูงอีกเช่นกันที่แผนการข้างต้นจะล้มเหลว

แว่วมาว่า ในวันที่ 15 ม.ค.นี้ บอร์ด สสส.ยังคงเดินหน้าสรรหาผู้จัดการคนใหม่ต่อไป เพราะองค์ประชุมที่เหลืออยู่ครบถ้วนตามระเบียบ

คำสั่งโละบอร์ดทิ้งในครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่สุด สะท้อนว่า  พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้สนใจต่อเครือข่ายของ นพ.ประเวศ หรือ  “ระบอบประเวศ” ที่เป็นพี่ใหญ่ในเอ็นจีโอและวงการสาธารณสุขกับบทบาทนำ “ตระกูล ส.” และอยู่เบื้องหลังคอยสนับสนุนหลายรัฐบาล

นั่นทำให้อนุมานได้ว่าแนวทาง “ประชารัฐ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ สนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบร่วมกับเอกชนเพื่อให้ประชาชนจะพัฒนาตนเอง ตามที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ใกล้ชิดกับ นพ.ประเวศ วะสี ปลุกปั้นร่วมกับ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้ประชารัฐนำไปสู่การปฏิรูป อาจเป็นเพียงเปลือก เพราะแท้ที่จริงแล้วรัฐบาลอาจไม่ได้ให้ความสำคัญใดๆ ทั้งสิ้น

การลงดาบล้างบางบอร์ด สสส. จึงต้องจับตาปฏิกิริยาจาก “ตระกูล ส.” และเหล่าเอ็นจีโอ สาย นพ.ประเวศ ที่มีบทบาทกับม็อบ กปปส. ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่าจากนี้ยังให้การสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต่อหรือไม่ 

เมื่อผลักมิตรก็อาจกลายเป็นศัตรูโดยพลัน