posttoday

เช็กลิสต์โครงการฉาว กทม. คนกรุงข้องใจใช้งบบาน

06 มกราคม 2559

กลายเป็นเรื่องร้อนฉ่า เมื่อ "วิลาศ" อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาถล่มการบริหารราชการ ของกทม.ส่อแววทุจริตไม่โปร่งใสหลายโครงการ ซึ่งทั้งหมดถูกส่งให้ ป.ป.ช. แล้ว

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นเรื่องร้อนฉ่า เมื่อ วิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาถล่มการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่อแววทุจริตไม่โปร่งใสหลายโครงการ ซึ่งทั้งหมดถูกส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว

ที่ดูจะคาใจคนกรุงมากที่สุดหนีไม่พ้น “โครงการกรุงเทพแสงสีแห่งความสุข” งบประมาณ 39 ล้านบาท ซึ่งมีข้อเคลือบแคลงหลายประเด็น ทั้งการเปิดประมูลงานรวดเร็วผิดปกติ และบริษัทที่ชนะการประมูลกลับเป็นบริษัททัวร์ จนเกิดข้อครหาเรื่องล็อกสเปกฮั๊วประมูล

เป็นเหตุให้ อมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม. เจ้าของไอเดียประดับไฟแอลอีดี ต้องออกมาชี้แจงว่า การใช้งบประมาณ 39 ล้านบาท เพื่อจัดงานระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 2558-31 ม.ค.นี้ เป็นสิ่งที่คุ้มค่า คาดว่ามีประชาชนเข้าร่วมงานประมาณ 4 แสนราย เฉลี่ยแล้วเท่ากับรายละ 100 บาท ขณะที่ประชาชนถ่ายรูป อัพโซเชียลมีเดีย 1 ภาพ มีมูลค่า 20 บาท ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 1 ล้านภาพแล้ว

นอกจากโครงการประดับไฟแล้ว ก่อนหน้านี้ กทม.ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักในเรื่อง “กล้องวงจรปิด” (ซีซีทีวี) ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เคยใช้เป็นนโยบายหลักในการหาเสียง โดยประกาศจะติดตั้งกล้อง 5 หมื่นตัวทั่วกรุง

แม้ว่าขณะนี้จะติดตั้งแล้วเสร็จไปแล้วถึง 4.7 หมื่นตัว แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือมีบางส่วนยังไม่พร้อมใช้งาน เพราะต้องรอให้การไฟฟ้านครหลวงต่อสายไฟเข้ากล้องก่อน หนำซ้ำกล้องของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังถูก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชำแหละภายหลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดราชประสงค์ว่า คุณภาพต่ำเพราะใช้เทคโนโลยีเก่าล้าสมัย

ตามคำอธิบายของ กทม. ข้อมูลจากกล้องซีซีทีวีจะถูกส่งตรงเข้าไปเก็บบันทึกไว้ใน “ฮาร์ดดิสก์มูลค่า 8 แสนบาท” ซึ่งเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไอที และสังคมออนไลน์ร่วมกันตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีทางเลยที่ฮาร์ดดิสก์ของ กทม.จะมีราคาแพงเกินเหตุเช่นนี้

ยังมีอีกหลายโครงการที่เกิดขึ้นในปี 2558 และถูกตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็น “โครงการจัดซื้อแท่งยางล้มลุกกั้นเส้นแบ่งจราจร” ของสำนักการจราจรและขนส่ง ที่จัดซื้อมาจากสหรัฐด้วยราคาแท่งละ 3,200 บาท ซึ่งสังคมสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่เลือกผลิตภัณฑ์ราคาถูกในประเทศ ที่มีราคาเพียงแท่งละ 500-800 บาท

ที่สำคัญ พบว่า แท่งล้มลุกสัญชาติอเมริกันในหลายพื้นที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ล้มพับระเนระนาด ทั้งที่สเปกระบุไว้ถึงมาตรฐานว่าผ่านการทดสอบชนกระแทก 3 แสนครั้ง ก็ยังไหว

ถัดมาคือเป็นโครงการที่รับกับกระแสสังคม คือ “โครงการขีดเส้นทางปั่นจักรยานรอบเกาะรัตน โกสินทร์” กระตุ้นให้คนกรุงลดการใช้รถยนต์ โดย กทม.ตั้งเป้าลดมลพิษทางอากาศส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม

แม้จะเป็นเรื่องดี แต่เสียงสะท้อนจากนักปั่นจักรยานเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ทางจักรยานใช้ไม่ได้จริง เพราะ กทม.ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องรถยนต์จอดกีดขวางทาง รถจักรยานยนต์รุกล้ำเข้ามาใช้ รวมถึงปัญหาฝาท่อที่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุด

ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งใจเนรมิตเส้นทางปั่นจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กม. ตั้งแต่สะพานพระราม 7-สะพานปิ่นเกล้า มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมือง โดยมอบหมายให้ กทม.รับผิดชอบออกแบบสถานที่

ความเป็นไปได้ที่ กทม.ออกแบบ คือ การลงเสาคอนกรีตไปในแม่น้ำรองรับน้ำหนักของถนนขนาดกว้างถึง 20 เมตร แต่สุดท้ายถูกนักสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านชุมชนใกล้เคียงคัดค้านอย่างหนัก เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสถาปัตยกรรมโบราณ จนทำให้การออกแบบถนนลดลงเหลือขนาดเพียง 5-12 เมตร

ปิดท้ายด้วย โครงการจัดซื้อเปียโน จำนวน 400 หลัง และอุปกรณ์เครื่องดนตรีให้โรงเรียนในสังกัด กทม. โดยใช้งบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาท งานนี้ส่อแววไม่คุ้มค่าเพราะหลายโรงเรียนไม่มีครูที่มีความรู้ด้านดนตรีเฉพาะทาง จึงกลายเป็นการซื้อเครื่องดนตรีทั้งที่ไม่มีผู้สอนให้กับนักเรียน

ทั้งหมดคือข้อเคลือบแคลงที่เกิดขึ้นกับ กทม.ในยุค ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์