posttoday

ตั้งเป้าผุด17เรือนจำเบา พัฒนานักโทษคืนสังคม

02 มกราคม 2559

รอบปีที่ผ่านมาคนมีชื่อเสียงจำนวนมากต้องถูกพันธนาการและเสียชีวิตอยู่ในเรือนจำ อย่างอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย

โดย...เอกชัย จั่นทอง

รอบปีที่ผ่านมาคนมีชื่อเสียงจำนวนมากต้องถูกพันธนาการและเสียชีวิตอยู่ในเรือนจำ อย่างอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยในคดีปล่อยสินเชื่อทุจริต 1 หมื่นล้านบาท หรือแม้แต่ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง ที่ต้องคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง มาตรา 112 ทำให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยปัญหาสภาพในเรือนจำที่แออัดไม่สอดรับกับจำนวนผู้ต้องขัง หรือว่ามีความผิดปกติด้านสุขภาวะภายในเรือนจำ

วิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เรือนจำไม่น้อยต้องแบกภาระอันหนักหนาจากจำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นตลอดทุกปี โดยเฉพาะปัจจุบันเป็นนักโทษค้ายาเสพติดกว่า 70% ต้องโทษอยู่ตามเรือนจำทั่วประเทศที่มีอยู่ 143 แห่ง ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเรือนจำเป็นโรงเรียนโจร เข้ามาเรียนรู้วิชาอาชญากรรมนิสัย มีตลาดหน้าเรือนจำ อีกทั้งยังมีการค้าขายสินค้าและอาหารแพงเอาเปรียบประชาชน และยังมองว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำทุจริต

ดังนั้น ถ้าไม่ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ก็จะต้องสร้างเรือนจำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรือนจำจะประสบปัญหาอย่างมาก โดยหลักแล้วต้องปล่อยคนออกไม่ใช่เอาเข้า

ตั้งเป้าผุด17เรือนจำเบา พัฒนานักโทษคืนสังคม วิทยา สุริยะวงค์

 

ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ต้องใช้งบประมาณบริหารงานต่อปีกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 60-70% ของงบกระทรวงยุติธรรมที่มีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หลัง รมว.ยุติธรรม เข้ามารับตำแหน่ง ได้ให้ความสำคัญกับกรมราชทัณฑ์ โดยพยายามปรับเปลี่ยนมิติการทำงานให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อตอบโจทย์ภาวะสังคม

ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ต้องดูแลนักโทษกว่า 3 แสนคน/ปี มีนักโทษหมุนเวียนเข้าออกทุกวันเฉลี่ยต่อปีประมาณ 5 แสนคน หรือเทียบกับประชากรไทยประมาณ 2% มีนักโทษในเรือนจำประมาณ 3 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นนักโทษนโยบายประมาณ 2 แสนคน ความหมายของนักโทษนโยบายคือ นักโทษที่ถูกจำคุกระหว่างรอศาลตัดสินคดี หรือคดียังไม่ถึงที่สุด ส่วนนักโทษอีกประมาณ 1 แสนคน เป็นคดีอาชญากรรมพื้นฐาน ลักวิ่ง ชิง ปล้น คดีอาญาอื่นๆ ที่สังคมไม่ต้องการ 

วิทยาวางแผนงานราชทัณฑ์ในปี 2559 ไว้อย่างน่าสนใจว่า การบริหารเรือนจำเมื่อก่อนแต่ละเรือนจำจะขังนักโทษแต่ละคดีของพื้นที่นั้นๆ หากนำมาวิเคราะห์จะสามารถจัดกลุ่มนักโทษได้ 1.เรือนจำฝ่ายรับตัว 2.เรือนจำฝ่ายควบคุม 3.เรือนจำเฉพาะทาง 4.ระบบความเตรียมพร้อมก่อนปล่อยตัว 5.กลไกคืนคนดีกลับสู่สังคม 

“แต่ไฮไลต์คือการมีเรือนจำเฉพาะทางสำหรับผู้ต้องขังที่ผ่านคุณสมบัติ และอยากฝึกหรือเรียนอาชีพเฉพาะทางซึ่งมี 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการศึกษา 2.กีฬา 3.ฝึกวิชาชีพช่างฝีมือ 4.ความสามารถพิเศษ 5.เกษตรกรรม 6.รับจ้างแรงงาน และ 7.เตรียมพร้อมก่อนปล่อยผู้ต้องขังวัยหนุ่ม”

ตั้งเป้าผุด17เรือนจำเบา พัฒนานักโทษคืนสังคม

 

อธิบดีกรมราชทัณฑ์อธิบายแผนงานการพัฒนาเรือนจำในปีนี้ว่า กรมราชทัณฑ์เตรียมสร้างเรือนจำโครงสร้างเบา ระบบเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย สำหรับรูปแบบการก่อสร้างกรมราชทัณฑ์จะใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาต่อกันด้วยความสูงประมาณ 2-3 ชั้น การก่อสร้างคล้ายกับค่ายทหารมีการทำรั้วลวดหนามล้อม แต่อาจไม่แน่นหนาเท่าเรือนจำถาวรปกติ จำนวน 17 เรือนจำทัณฑสถานที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับ โดยแต่ละแห่งสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 500-1,000 คน

สำหรับกลุ่มผู้ต้องขังเป้าหมายจะต้องมีคุณสมบัติที่สามารถเข้ามาอยู่ในเรือนจำนี้ได้นั้น ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษครั้งล่าสุด เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการ โดยนักโทษกลุ่มนี้จะได้รับการอบรมพัฒนาด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านอาชีพโดยร่วมมือกับภาคสังคม ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์เตรียมพื้นที่ไว้แล้ว เป้าหมายเพื่อลดปัญหาคนล้นคุกในแต่ละเรือนจำ และเป็นการเตรียมพร้อมให้กับผู้ใกล้จะพ้นโทษได้เตรียมตัวก่อนกลับคืนสู่สังคม

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กฎหมายประเทศไทยนั้นมีกฎหมายอาญามาก ทำผิดอะไรก็ขังคุกอย่างเดียว โดยเฉพาะนักโทษคดีเสพยาเสพติด เลยส่งผลกระทบต่อกรมราชทัณฑ์ ทำให้เรือนจำแน่น กระทบกับงานทั้งหมดที่มี เช่น แต่ละเรือนจำสามารถจัดให้นักโทษทานอาหารได้มื้อละ 1,000 คน เพราะโรงอาหารมีพื้นที่จำกัด หากมีนักโทษ 4,000 คน ต้องจัดคิวเป็น 4 รอบ เพื่อให้นักโทษได้ทานอาหารครบทุกคน และวันหนึ่งรับประทานอาหาร 3 มื้อ เป็นต้น แต่ไม่ใช่คำอ้างของกรมราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ดูแลก็ต้องทำให้ดีที่สุด