posttoday

"เงินเดือน+อาชีพในบัตรประชาชน"...ละเมิดสิทธิ-ไร้ประโยชน์?

13 ธันวาคม 2558

แนวคิด "ระบุเงินเดือน+อาชีพ"ลงในบัตรประชาชนของนายกฯ กำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

คล้อยหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ระบุว่า ปี 2560 เตรียมเสนอให้มีการระบุอาชีพและรายได้ลงในบัตรประชาชน โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลจะได้ใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมว่าต้องช่วยใคร อย่างไร ใครที่ต้องเสียภาษี ใครที่ไม่ต้องเสียภาษี

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็ดังกระหึ่มตามมาทันที

บ้างมองว่ามีอีกมากมายหลายวิธีที่จะตรวจสอบเรื่องอาชีพและรายได้ของประชาชน บ้างมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อีกจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าการระบุตัวเลขเงินเดือนลงในบัตรประชาชน เป็นการแบ่งชนชั้น อาจได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ทั้งยังสุ่มเสี่ยงถูกนำไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ฟังความเห็นจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วย นัยนา เตียประเสริฐ พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง บอกว่า เรื่องอาชีพและรายได้ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเปิดเผย

"แนวคิดนี้ถือว่าละเมิดสิทธิประชาชนนะ เรื่องอาชีพและรายได้ถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเปิดเผยกันมั่วซั่ว ถ้าจะให้มองในแง่ร้าย เวลานำบัตรประชาชนไปใช้ ถ้าเกิดโจรมิจฉาชีพเห็นจะรู้หมดว่าคนนี้มีฐานะร่ำรวย บ้านอยู่เลขที่นั้นเลขที่นี้ เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอาชญากรรมอีก หรือหน่วยงานบางแห่ง หรือห้างร้าน ถ้าเห็นว่าคนนี้เงินเดือนน้อย อีกคนเงินเดือนเยอะ อาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้"

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ตั้งข้อสังเกตว่า ไอเดียนี้ของนายกฯถือเป็นเรื่องแปลก เพราะเท่าที่ทราบประเทศอื่นทั่วโลกไม่มีใครเขาทำกัน ที่สำคัญนายกฯไม่มีเหตุผลแน่ชัดเพียงพอที่จะตอบคำถามประชาชนได้ว่าทำไปเพื่ออะไร

"ประเด็นแรก รายได้กับงบประมาณรัฐที่ทุ่มไปกับคน ไม่เกี่ยวกัน คนที่มีรายได้มากก็ต้องเสียภาษีให้รัฐมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าใครมีรายได้มาก เสียภาษีมาก จะได้รับการดูแลที่ดีมากตามไปด้วย การดูแลของรัฐจึงไม่เกี่ยวกับรายได้ ไม่เกี่ยวกับภาษีที่คุณจ่ายไป คนจ่ายมากจะได้รับการดูแลเท่าคนที่จ่ายน้อย เพราะภาษีคือเงินที่เก็บจากรายได้ที่คุณได้จากแผ่นดินนี้ ขณะเดียวกัน รายได้เป็นเรื่องที่บอบบางมาก เป็นเรื่องส่วนตัวที่บอกว่าคนนั้นมีฐานะยากดีมีจนอย่างไร นำไปสู่การถูกกระทำ เช่น คนรวยก็อาจมีคนเข้ามาหาประโยชน์จากความรวย คนจนที่มีคนเข้ามาหาประโยชน์จากความจน การถามเรื่องรายได้ ตามมารยาทของสังคมทั่วโลกเขาไม่ถาม และถือกันว่าใครที่มาถามเป็นคนไร้มารยาทอย่างร้ายแรง"

นักกฎหมายรายนี้ บอกอีกว่า แนวคิดนี้เข้าข่าย "เลือกปฏิบัติโดยเหตุแห่งรายได้" ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

"ทุกคนไม่ว่าจะเงินเดือนมาก เงินเดือนน้อย หรือมีอาชีพอะไรก็ตามแต่ แม้กระทั่งไร้อาชีพก็ตาม  ล้วนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เรื่องของรายได้และอาชีพถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะตัว อยากจะเปิดเผยหรือไม่อยากเปิดเผยให้ใครก็ต้องแล้วแต่ความสมัครใจของเจ้าตัว คนอื่นไม่ควรจะรู้ ยกเว้นเจ้าตัวประสงค์จะบอก ซึ่งรัฐทั่วโลก รวมถึงรัฐไทยเองต้องมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ด้วย นอกจากไม่เผยแพร่แล้ว ยังต้องคุ้มครองด้วย เพื่อป้องกันมิให้คนอื่นนำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด อันจะส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลนั้น แต่สิ่งที่นายกฯทำนั้นสวนทางตรงกันข้ามเลย"

สุรพงษ์มองว่า หากผลักดันแนวคิดดังกล่าวกันจริงๆ ต้องเจอกระแสต่อต้านอย่างแน่นอน

รัฐบาลแจงหวังช่วยคนรายได้น้อย ยืนยันไม่ละเมิดสิทธิ

ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า ที่ผ่านมา มาตรการช่วยเหลือประชาชนในการลดภาระค่าครองชีพยังลงไปไม่ถูกกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง เช่น นโยบายรถเมล์และรถไฟฟรีที่ใครก็สามารถใช้บริการได้หมด เป็นต้น ดังนั้นการทำฐานข้อมูลที่มีการระบุรายได้และอาชีพลงในบัตรประชาชนจะเป็นการแสดงตัวช่วยให้นโยบายการลดภาระค่าครองชีพลงไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมดเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมระบบภาษี ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากให้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษีไม่ใช่การรีดภาษี แต่อยากให้ประชาชนอยู่ในระบบภาษีที่เหมาะสมตามลำดับรายได้ของแต่ละบุคคล เพื่อนำเงินมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

"แนวคิดนี้ยังช่วยเอื้อประโยชน์ในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพราะที่ผ่านมามีปัญหาการตรวจสอบที่ยากเพราะต้องผ่านหลายหน่วยงาน จึงทำให้มีความผิดพลาดเงินช่วยเหลือที่จ่ายไปไม่ตรงตัวบุคคล ส่วนการที่มีบางฝ่ายกังวลว่านโยบายบัตรประชาชนแบบระบุอาชีพและรายได้จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ขอยืนยันว่าการแสดงข้อมูลมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนที่จะนำไปช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอยากถามผู้ที่ตั้งข้อสังเกตว่ามีวิธีแก้ปัญหาแบบอื่นหรือไม่ อย่าเพียงตั้งข้อสังเกต แต่ต้องมีข้อเสนอแนะด้วยเพื่อไม่ให้ประเทศเกิดความสับสนและขอให้มองที่เจตนารมณ์ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วย"

ย้อนรอยบัตรประชาชนของไทย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการประกาศใช้ พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 จนถึงวันนี้มีบัตรประจำตัวประชาชนใช้กันมาแล้ว 5 รุ่น ด้วยกัน ประกอบด้วย

บัตรรุ่นที่ 1 เป็นบัตรที่ทำด้วยกระดาษ มีลักษณะคล้ายบัตรยืมหนังสือของห้องสมุด พับเป็น 4 ตอน มี 8 หน้า

บัตรรุ่นที่ 2 เป็นบัตรที่ทำด้วยกระดาษทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดพกพา มีรูปถ่ายขาว-ดำของผู้ถือบัตร รายการผู้ถือบัตรพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด เคลือบด้วยพลาสติกใส

บัตรรุ่นที่ 3 เป็นบัตรที่ทำด้วยกระดาษ คล้ายบัตรรุ่นที่ 2 ต่างกันคือรูปถ่ายผู้ถือบัตรเป็นรูปสี รายการผู้ถือบัตรพิมพ์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ และเคลือบด้วยวัสดุป้องกันการปลอมแปลงชนิดพิเศษ

บัตรรุ่นที่ 4 เป็นบัตรที่ทำด้วยพลาสติก มีลักษณะคล้ายบัตรเครดิต มีแถบแม่เหล็กสำหรับบันทึกข้อมูล รายการเพิ่มเติมในบัตรรุ่นนี้ คือ การลงหมู่โลหิตและศาสนาลงในบัตร

บัตรรุ่นที่ 5 บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) เกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะให้ประชาชนมีบัตรเพียงใบเดียวใช้แทนบัตรทุกประเภทที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ

คงต้องรอดูกันว่า ไอเดียบัตรประชาชนแบบใหม่ที่รัฐบาลเสนอนั้นจะเกิดขึ้นจริงไหม หรืออาจเจอกระแสคัดค้านจากประชาชนจนทำให้ต้องพับโครงการเก็บไปในที่สุด.