posttoday

ม.44 รื้อประกันสังคม สกัด ‘เลือกตั้ง’ ขวางเพิ่มสิทธิ

13 พฤศจิกายน 2558

เม็ดเงินลงทุนมหาศาลราวๆ 1.3 ล้านล้านบาท หมุนเวียนอยู่ในกองทุนประกันสังคม

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

เม็ดเงินลงทุนมหาศาลราวๆ 1.3 ล้านล้านบาท หมุนเวียนอยู่ในกองทุนประกันสังคม

การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รื้อทิ้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ทั้งชุด พร้อมทั้งแต่งตั้งบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งแทน โดยให้มีผลผูกพัน 2 ปี กำลังถูกตั้งคำถาม

ที่ผ่านมา บอร์ด สปส.มีทั้งสิ้น 15 ราย จาก 3 ฝ่าย ได้แก่ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ฝ่ายละ 5 ราย กำหนดเงื่อนไขการลงสมัครรับเลือกตั้งและการใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ค่อนข้างจำกัด คือ ทุกคนต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงานก่อน

เฉพาะในส่วนของ “ลูกจ้าง” ผู้สมัครและผู้ใช้สิทธิต้องอยู่ในสหภาพแรงงาน หรือเป็นกรรมการสวัสดิการที่มีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 50 ราย และต้องพร้อมไปใช้สิทธิในพื้นที่ที่กำหนด เช่น ภาคกลาง มีเพียงกรุงเทพฯ และ จ.ลพบุรี เท่านั้น

ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมีมากกว่า 10 ล้านคน แต่อยู่ในสหภาพฯ ไม่เกิน 3 แสนคน นั่นหมายความว่าคนอีกกว่า 9.7 ล้านคน ไม่มีสิทธิเลือกตัวแทนบอร์ด สปส.ของตัวเอง

กระบวนการข้างต้นถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดหลายสิบปีว่าเป็นการปิดกั้นผู้ประกันตน เป็นกลไกที่ล้มเหลวเนื่องจากไม่สามารถหา “ตัวแทนที่แท้จริง” เข้ามาดำรงตำแหน่งได้ และยังส่งเสริมให้เกิดการผูกขาดตำแหน่งในคนกลุ่มเดียว

เป็นเหตุให้นักวิชาการด้านแรงงาน เครือข่ายผู้ประกันตนและผู้ใช้แรงงาน ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม

แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับประชาชนจะไม่ถูกนำมาใช้เป็นร่างหลัก แต่ที่สุดแล้วสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ได้ทำคลอด พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 ออกมา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา

มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม 2558 กำหนดสัดส่วนบอร์ด สปส.ใหม่ ประกอบด้วยฝ่ายละ 7 ราย รวมทั้งสิ้น 21 ราย

“ให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกําหนด”

โกวิท สัจจวิเศษ รักษาราชการแทนเลขาธิการ สปส. ให้รายละเอียดในอีก 2 วันถัดมาว่า กฎหมายลูกซึ่งจะออกมาเป็นระเบียบกระทรวงแรงงานนั้น ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน โดยจะใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง เช่นเดียวกับการเลือก สส. คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท

นั่นคือความคืบหน้าล่าสุด ก่อนที่ทั้งหมดจะถูก “คว่ำ” ด้วยอำนาจมาตรา 44 ในวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา

เหตุผลของ คสช.ตามที่ระบุในคำสั่งที่ 40/2558 คือได้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงสภาพปัญหาและข้อขัดข้องในการดำเนินการของระบบประกันสังคมและสำนักงานประกันสังคม ทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน อันส่งผลไปถึงความเสียหายต่อรัฐด้วย จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการปฏิรูประบบ

สุนี ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ปัญหาตามที่ระบุไว้ในคำสั่ง คสช.เกิดขึ้นมายาวนานแล้ว และเครือข่ายแรงงานทั้งในและนอกระบบก็ได้เคลื่อนไหวเพื่อให้แก้กฎหมายประกันสังคมมาโดยตลอด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดทำกฎหมายลูกเพื่อจัดการเลือกตั้งครั้งแรก แต่กลับถูกมาตรา 44 ระงับไว้ทั้งหมด

“คิดว่า คสช.ไม่เข้าใจว่า สาระสำคัญของการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งบอร์ด สปส.และการเลือกตั้งระดับชาติ เขามองว่าการเลือกตั้งจะสร้างปัญหา เลยตัดตอนการเลือกตั้งทิ้งทั้งหมด” สุนี ระบุ

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายรายนี้ บอกอีกว่า การเลือกตั้งบอร์ด สปส.จะก่อให้เกิดการตระหนักรู้ของผู้ประกันตนทั่วประเทศ มีการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์ และย่อมดีกว่าการแต่งตั้งโดย คสช.

สอดคล้องกับ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ที่ระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่า คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อดำเนินการในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการนำเงินไปลงทุน ที่ผ่านมามีความพยายามมาโดยตลอดแต่มักถูกคัดค้าน

แม้ว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ยังคงยืนยันว่า การใช้อำนาจมาตรา 44 เป็นไปเพื่อสร้างความโปร่งใส รักษาผลประโยชน์ของผู้ประกันตน และเป็นไปตามข้อเรียกร้องของแรงงาน หากแต่คำให้สัมภาษณ์ของ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กลับฉายภาพข้อเท็จจริงที่ชัดเจน

ในฐานประธานบอร์ด ม.ล.ปุณฑริก ยอมรับว่า ขณะนี้ยังไม่อยู่ในภาวะที่จะจัดการเลือกตั้งได้ เพราะต้องใช้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท และกฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมาก จนทำให้เกิดความกังวลเรื่องงบประมาณที่เพิ่มขึ้น

“ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน หรือการเรียกเก็บเงินสมทบมากขึ้นภายใต้คำสั่งมาตรา 44” ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุ