posttoday

"ยกเลิกเกณฑ์ทหาร"...ล้าหลังหรือจำเป็น?

09 พฤศจิกายน 2558

มองต่างมุม "เกณฑ์ทหาร" ล้าหลังหรือจำเป็นต่อประเทศชาติ?

โดย...ศศิธร จำปาเทศ

ข่าวพลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกครูฝึกหน่วยฝึกทหารใหม่ลงโทษด้วยวิธีการซ้อมทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย จนกลายเป็นข่าวครึกโครมเมื่อปี 2555 กำลังได้รับความสนใจจากสังคม หลังถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งในโลกโซเชียล

พร้อมๆกันนั้นมีแคมเปญรณรงค์ผ่าน Change.org หัวข้อ "ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นรูปแบบสมัครใจ" เรียกร้องให้กระทรวงกลาโหมยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นการสมัคร โดยให้เหตุผลว่าเป็นความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน และการแสดงออกซึ่งความรักชาติ ขณะที่อีกแคมเปญคือ "ไม่เรียน รด.ก็ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร" เรียกร้องให้ผู้ที่ไม่ได้เข้าเรียนหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร หรือรด. ไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร พร้อมชี้ว่าประเทศไทยจะได้กองกำลังที่เข้มแข็งอย่างแท้จริงต่อไปในอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้ว่านาทีนี้กระแสเรียกร้องให้ "ยกเลิกเกณฑ์ทหาร" กำลังกระหึ่มขึ้่นมาอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

"ยกเลิกเกณฑ์ทหาร"...ล้าหลังหรือจำเป็น?

ขัดหลักมนุษยชน

แอดมินเพจเฟซบุ๊กชื่อ "ยกเลิกเกณฑ์ทหาร" ซึ่งรณรงค์ให้มีการยกเลิกการเกณฑ์ทหารมานานกว่า 5 ปี มองว่า การเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักมนุษยชน และคนเหล่านั้นยังเสียสิทธิ์ในการประกอบอาชีพอีกด้วย

การเกณฑ์ทหารขัดต่อหลักมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คล้ายกับการกักขังหน่วงเหนี่ยว เพราะเกิดจากการเป็นทหารอย่างไม่เต็มใจ  บางคนยังถูกทารุณกรรม ไม่สามารถติดต่อกับภายนอกได้ ถึงฟ้องร้องก็คงไม่เกิดผลอะไร ไม่แน่ว่าหากร้องเรียนอาจถูกลงโทษหนักกว่าเดิมก็ได้ อีกทั้งปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีนักเรียนชายชั้น ม.ปลายสมัครเข้าเรียน รด.กันจำนวนมาก เพราะไม่อยากเสี่ยงเป็นทหารเกณฑ์ บ้านเรายังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน มองการเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องเสียสละและรับใช้ชาติ แต่ลืมว่าอาชีพอื่นก็รับใช้ชาติได้เหมือนกัน เช่น นักกีฬาทีมชาติ ศิลปินเผยแพร่วัฒนธรรม ข้าราชการที่ทำงานอย่างเต็มที่ ซื่อสัตย์สุจริต คนที่มีจิตอาสาออกไปทำงานต่างๆเพื่อสังคม จริงๆแล้วเกณฑ์ทหารคือสิ่งดีงามนะ แต่การเกณฑ์ทหารในบ้านเรา ไม่ได้ใช้ในการปกครองประเทศอย่างแท้จริง"

แอดมินเพจยกเลิกเกณฑ์ทหาร ยังรณรงค์ให้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การเป็นทหารด้วยรูปแบบสมัครใจ โดยเปรียบเทียบกับประเทศที่มีศักยภาพทางกองทัพสูง เช่น สหรัฐอเมริกา หรือประเทศอังกฤษที่ไม่มีการเกณฑ์ทหาร เพราะคนที่เต็มใจจะทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าถูกบังคับ

"การทำหน้าที่ปกป้องประเทศอย่างแท้จริง ควรเป็นหน้าที่ของทหารที่เต็มใจพร้อมอาสาเป็นทหาร จะทำให้มีความพร้อมน่าจะคุ้มค่าและช่วยลดภาษีของประชาชนได้ดีกว่าที่จะกวาดต้อนผู้ที่ไม่พร้อมทางด้านร่างกายจิตใจเข้าไปฝึก นอกจากไม่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว ยังสิ้นเปลืองเงินภาษีของคนในชาติ งบประมาณตรงนั้นสู้เอาเงินไปสนับสนุนกับผู้ที่เต็มใจและมีศักยภาพอยากเป็นทหารดีกว่าที่จะมาจ่ายเงินเดือนแบบหว่านแห เคยมีงานวิจัยว่างบประมาณทหารที่นำมาใช้กับทหารเกณฑ์มีความสิ้นเปลืองมากกว่าทหารที่ผ่านการสมัครด้วยความเต็มใจ นี่เป็นเรื่องที่สังคมน่าจะพิจารณา"

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแล้วกว่า 46 ประเทศ ประกอบด้วยแอลเบเนีย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บาฮามาส บังกลาเทศ เบลเยี่ยม เบลีซ ภูฏาน บอสเนียและเฮอร์เซโกวี บัลแกเรีย จีน โครเอเชีย จิบูตี เอลซัลวาดอร์ ฝรั่งเศส แกมเบีย เกรเนดา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี อินเดีย จาเมกา เลบานอน ลักเซมเบิร์ก มาซิโดเนีย มาเลเซีย มัลดีฟส์ มอลตา เนเธอแลนด์ นิวซีแลนด์ โปร์แลนด์ กาตาร์ โรมาเนีย รวันดา ซาอุดีอาระเบีย สโลวีเนีย สวาซิแลนด์ ไต้หวัน ตองกา ตริแดดและโตเบโก แอฟริกาใต้ สเปน สหราชอาณาจักร สหราชรัฐอเมริกา และวานูอาตู

"ยกเลิกเกณฑ์ทหาร"...ล้าหลังหรือจำเป็น?

เกณฑ์ทหารสำคัญไฉน

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกและโฆษก คสช. เผยว่า การที่ประเทศไทยยังไม่ยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร นั่นหมายความว่า กำลังพลสำรองยังมีความจำเป็น ยังมีความสำคัญที่จะต้องมีอยู่ ทั้งยังมีพ.ร.บ.เกณฑทหาร พ.ศ.2497 เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

กระแสให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นทัศนคติของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่อาจจะมีอคติอยู่กับตัวองค์กรมากกว่า ดูแล้วจุดเริ่มต้นน่าจะอยู่ในกลุ่มคนเดิมๆที่มีความคิดเห็นต่อต้านทุกรูปแบบอยู่แล้ว แต่อาจจะใช้เรื่องเกณฑ์ทหารมาใช้เท่านั้นเอง ปกติพฤติกรรมของกลุ่มคนนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เคารพกฎหมายอยู่แล้ว ผมว่าการทำแบบนี้ก็ไม่น่าเป็นไปตามกฎหมายอาจจะมีบางอย่างที่น่าจะเป็นการละเมิดกฎหมายด้วยซ้ำ”

โฆษกทหารบก อธิบายว่า การเกณฑ์ทหารเป็นการทำเพื่อสังคมส่วนรวม อาจไม่ใช่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน

"ต้องแยกแยะระหว่างกฎหมายกับกฎระเบียบ หลายสิ่งหลายหลายอย่างในสังคมเราโดยทั่วไปมันคงกฎกติกาที่จะเป็นกรอบอยู่ ยังมีข้อห้ามอีกหลายข้อในบ้านเราที่เกิดจากมุมมองที่ต่างกัน การเกณฑ์ทหารนอกจากจะปฏิบัติตนตามกฎหมายแล้วข้อดียังช่วยฝึกร่างกายและจิตใจให้เข้มแข็ง มีระเบียบวินัย สภาพแวดล้อมบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป กำลังพลก็ต้องทำงานตอบสนองให้กับสังคมที่มากขึ้นด้วย สมัยก่อนเรามีภารกิจป้องกันประเทศ แต่ปัจจุบันเรามีภารกิจรักษาความมั่นคงภายใน ตั้งแต่ดูแลเรื่องการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ ตามแนวชายแดน เรื่องยาเสพติด และเรื่องอื่นๆ พลทหารเหล่านั้นถือเป็นกำลังพลที่ต้องร่วมปฏิบัติงาน เป็นเจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้ร่วมงานกับนายทหารทุกคน นอกเหนือผ่านระบบความรู้ทางการทหารแล้ว เขาอาจจะได้หลายสิ่งหลายอย่างหรือประโยชน์ในทางอ้อมที่พาไปพัฒนาบ้านเมือง กลับไปพัฒนาสังคม ครอบครัวของตัวเองได้และมีระเบียบวินัยมากขึ้น"

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ บ้านเราก็รับสมัครทหารเกณฑ์อยู่แล้ว เพียงแต่สหรัฐอเมริกาอาจจะเป็นการรับสมัคร 100 % เปอร์เซนต์ และพลเมืองสหรัฐอาจมีความสำนึกเรื่องความรับผิดชอบ การเสียสละให้กับส่วนรวม หรืออาจมีความพร้อมมากกว่า ทำให้คนของเขาสมัครเข้ามาเป็นทหาร ซึ่งส่วนใหญ่กำลังพลก็สมัครเพียงพอ และอาจจะต้องตัดออกบางส่วนด้วยซ้ำ ขณะประเทศเราก็พัฒนาได้ดีที่สุดประมาณ 40% บางหน่วยมีผู้สมัครเกินความจำเป็นก็ต้องคัดเลือก และบางหน่วยไม่เต็มต้องรับเพิ่มก็จึงต้องมีระบบเกณฑ์ทหาร ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าประเทศไทยแทบไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกาเลย

"การสมัครทหารกองเกินที่ไม่เต็ม 100 % อาจมีเหตุผลความจำเป็นบางประการของแต่ละหน่วยของกองทัพที่ต้องการใช้กำลังพลต่างกัน แต่เมื่อผู้สมัครน้อย เราจึงมีความจำเป็นต้องบรรจุคนเพื่อให้เต็มอัตราที่ทางราชการกำหนด เพราะบางตำแหน่งคงไม่มีงบประมาณพอที่จะจัดจ้างคนที่มีอาชีพเป็นข้าราชการประจำได้ ก็ต้องใช้ระบบการหมุนเวียนกำลังพลซึ่งจะทำให้ผู้ที่เข้ามาหมุนเวียน ปัจจุบันกฎหมายเปิดโอกาสที่จะให้มีการสมัครอยู่แล้ว ยอดผู้สมัครก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตก็อาจมีผู้สมัครเต็ม 100 % เพราะยังมีผู้ที่จิตใจอาสา มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม คนเหล่านี้แสดงออกเยอะขึ้นมาเรื่อยๆ

ขณะนี้ยังไม่พบข้อมูลว่ามีความแตกระหว่างการเกณฑ์ทหารที่ประเทศเราใช้กับประเทศที่รับสมัครเต็มร้อยเปอร์เซนต์ว่าต่างกันอย่างไร เพราะกองทัพทั่วโลกจะมีมาตรฐานการฝึกที่ทำให้บุคคลที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนกองทัพสามารถปฏิบัติงานได้ในระดับเดียวกับมาตราฐานที่เท่าเทียมกัน ทหารเป็นองค์กรที่มีระบบการฝึกที่จะสามารถนำบุคคลที่ไม่มีความรู้เลยมาใช้เพื่องานทางการทหารได้ ซึ่งน่าจะเป็นกันเหมือนกองทัพทั่วโลก ประชาชนในบางประเทศจึงต้องผ่านระบบการเกณฑ์ทหารทั้งหมด จึงไม่จำเป็นต้องมีระบบคัดเลือก รด.เลย แต่ผู้ที่ฝึก รด.แล้วเราก็ถือว่าผ่านการเป็นทหารเหมือนกัน เพราะถือว่ามีความรู้ทางทหารพอที่สามารถเรียกใช้ได้เมื่อจำเป็น"

โฆษกทหารบก กล่าวต่อว่า กองทัพพยายามสนับสนุนให้มีการส่งเสริมการศึกษาให้กับพลทหารที่ไม่มีความรู้ให้เรียนในระดับที่สูงขึ้นโดยร่วมกับหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) ซึ่งพลทหารเองมีโอกาสสอบคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการเพื่อเป็นทหารประจำการหรือทหหารอาชีพ สามารถรับราชการจนถึงระดับยศนายสิบไปจนถึงขั้นนักเรียนนายร้อย

"ยกเลิกเกณฑ์ทหาร"...ล้าหลังหรือจำเป็น?

ปรับหลักสูตร เพิ่มศักยภาพ

นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ มองว่า ประเทศไทยมีประชากรที่มีการศึกษาสูงขึ้น ขั้นต่ำคือจบ ม.3 แต่ พรบ.เกณฑ์ทหาร พ.ศ.2497 ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นวิธีการที่มีมานานและระยะเวลาที่ใช้ฝึกก็นานมาก ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้เวลานานขนาดนั้น ถ้าปรับหลักสูตรให้ดีอาจใช้เวลาเพียง 6 เดือนหรือไม่เกิน 1 ปีที่จะเตรียมคนให้สามารถกลับมาฝึกและพร้อมปฏิบัติงานได้เลย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องฝึกรด.

“ในอนาคตอันใกล้ เราพอจะมองเห็นได้ว่าโอกาสที่เราจะทำสงครามกับต่างประเทศมันน้อยมาก เกือบจะไม่มีเลย แต่การมีกำลังพลสำรองมันไม่แปลก ปัญหาก็คือเราต้องคิดให้ดีๆว่าการมีกำลังพลสำรองที่การศึกษาสูงขึ้นจะต้องเตรียมคนเหล่านี้อย่างไร ทุกวันนี้กำลังพลสำรองเราเรียกเกณฑ์กลับเข้าไปใหม่ แล้วใช้เวลาฝึกนานมาก ที่นานมากไม่ใช่ทหารเกณฑ์เหล่านั้นมันโง่ แต่เพราะคุณสอนไม่ได้เรื่อง”

นักวิชาการรายนี้ระบุว่า หลายประเทศใช้เวลาประมาณ 6 เดือนแล้วปลด กองทัพประจำการลดขนาดลงให้เหลือนิดเดียว แต่อาจมีกำลังพลสำรองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถระดมได้อาจใช้เวลาเพียง 1-2 วัน เป็นต้น ดังนั้นต้องแยกระหว่าง รด.กับการเกณฑ์ทหาร แล้วคิดถึงเรื่องกำลังพลสำรองใหม่ว่าไม่ใช่กำลังสำรองที่เป็นทหารเกณฑ์มา 2 ปี อาจจะเป็นเพียง 6 เดือนเท่านั้นเพื่อรับการฝึกแล้วปลดออกเหมือนหลายประเทศ ส่วนประเทศที่บังคับให้ผู้ชายทุกคนต้องเป็นทหาร เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีสัญญาสงบศึกกับเกาหลีเหนือ ไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกับประเทศเราได้ เราต้องมองอนาคตอีกสิบปีข้างหน้า โดยตั้งคำถามว่าเราจะรบกับใคร ฉะนั้นถ้าเราคิดว่ามีกำลังกองทัพสำหรับป้องกันประเทศไม่ใช่เพื่อปราบประชาชน เราก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้วิธีเกณฑ์ทหาร หรือฝึกรด.ที่แสนจะโบราณแบบนี้"

ทั้งหมดนี้คือหลากหลายความเห็นต่อกรณี "ยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร" ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้.

"ยกเลิกเกณฑ์ทหาร"...ล้าหลังหรือจำเป็น?