posttoday

"ส่วนแบ่งค่าปรับจราจร"... ยิ่งเลิกยิ่งรีดไถ?

08 ตุลาคม 2558

แนวคิด "ยกเลิกส่วนแบ่งค่าปรับจราจร" อาจเข้าข่ายเกาไม่ถูกที่้คัน-แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ 

เมื่อ 3.5 หมื่นรายชื่อของประชาชน นำโดย อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เข้ายื่นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อขอให้พิจารณายกเลิก “ด่านลอย” เพราะเล็งเห็นว่าไม่มีประโยชน์ และหากจะเป็นการตั้งด่าน ก็ขอให้เป็นด่านที่มุ่งหวังเพื่องานอาชญากรรม

วันนี้กลายเป็นความสำเร็จอย่างงดงาม หลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศให้ยกเลิกด่านลอยทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อย เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา

ทว่ายังมีข้อเสนอที่ไล่หลังมาติดๆ นั่นคือ แนวคิดการ"ยกเลิกการเแบ่งเปอร์เซ็นต์ของราคาค่าปรับใบสั่งจราจร" ที่อัตราเดิมอยู่ที่ 40% จะเข้ากระเป๋าของตำรวจ โดยขอให้ยกเลิกทิ้งอย่างถาวร ด้วยเหตุผลว่าเพื่อเรียกศรัทธาความเชื่อมั่นในตัวตำรวจกลับคืนมาสู่ประชาชน

คำถามอยู่ตรงที่ว่า แนวคิดดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ในสังคมไทย และหากเป็นจริงจะช่วยลดปัญหาการรีดไถได้จริงหรือ

ปนัดดา ชำนาญสุข ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติภัยทางถนน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มองว่า ชมรมช่วยเหลือเหยื่อฯ อาจจะไม่เข้าใจระบบของตำรวจจราจรที่ถ่องแท้

“ต้องไปมองจุดที่ว่าเงินค่าปรับของตำรวจจราจรนั้น ที่ถูกส่งไปยังท้องถิ่น หรือที่กรุงเทพมหานคร เงินจำนวนมหาศาลตรงนี้ถูกนำไปใช้อะไร แล้วเกิดประโยชน์หรือไม่ เพราะประชาชนไม่รู้ และเชื่อว่าชมรมช่วยเหลือเหยื่อฯ ก็ไม่รู้อย่างแท้จริง จึงมีข้อเสนอที่ผิดหลักเช่นนี้ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

ปนัดดา มองว่า เมื่อไม่เข้าใจจึงมีการเสนอความคิดในเชิงลบ จริงๆ แล้วส่วนแบ่งค่าปรับของตำรวจจราจรนั้นควรจะยังคงมีอยู่ เพื่อเป็นสิ่งจูงใจให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีระบบตรวจสอบที่ถูกต้องและเข้มงวด หากจะให้ยกเลิกส่วนแบ่งค่าปรับไปเลยนั้น ตำรวจจะต้องหันมารีดไถอย่างหนักหน่วงมากกว่านี้แน่นอน

“ถ้าเขาไม่มีส่วนแบ่ง ก็จะไม่ทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แล้วรถราบนท้องถนนก็จะมีปัญหามากขึ้น อีกทั้งหากไม่มีส่วนแบ่งการรีดไถก็จะยิ่งหนักหน่วง ไม่ได้เป็นการเรียกศรัทธาของประชาชนคืนมาแม้แต่น้อย ดังนั้นมันต้องแก้ให้ตรงจุด ต้องให้หัวหน้าจราจรแต่ละโรงพักเข้มงวด ตรวจสอบวินัยผู้ปฏิบัติอย่างจริงจัง การตั้งด่านลอยเองก็เช่นกัน ทุกวันนี้จากงานวิจัยพบว่าตำรวจส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบพฤติกรรมของตำรวจบางกลุ่มที่ตั้งด่านกันเองเพราะถือว่าผิดวินัยร้ายแรงด้วย ดังนั้นต้องทำจุดนี้ให้เข้มแข็ง ต้องเอาผิดให้ชัดเจน จะแก้ตรงจุดมากกว่าการไปยกเลิกส่วนแบ่ง”

นักวิชาการรายนี้เชื่อว่า ข้อเสนอดังกล่าวของชมรมช่วยเหลือเหยื่อฯ จะไม่ได้รับการตอบสนองจากตำรวจอย่างแน่นอน

อีกมุมจากฝั่งของตำรวจ พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจจราจร ที่ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของจราจรกรุงเทพฯ บอกถึงเรื่องนี้ว่า จะมีเงินหรือไม่มีเงินรางวัลส่วนแบ่ง ตำรวจก็ยังทำงานเหมือนเดิม เพราะเราไม่ใช่มีอาชีพตำรวจแต่คือตำรวจอาชีพ เพียงแต่ว่าตำรวจจราจรนั้นมีโอกาสเสี่ยงเจ็บป่วยจากปัญหาสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป ทั้งมลพิษ อากาศเพราะต้องยืนปฏิบัติงานในพื้นที่ สวัสดิการก็น้อยดังนั้นเงินส่วนนี้ก็จะนำมาใช้เพื่อดูแลตัวเองและจะได้ต่อยอดไปทำงานตามหน้าที่ต่อไป

“เรื่องส่วนแบ่งค่าปรับมันมองคนละมุม ผมถามว่าถ้าเราให้ข้าวเขากินอิ่ม เขาจะไปขอคนอื่นกินอีกหรือ เรื่องเงินส่วนแบ่งผมคิดว่าตำรวจจราจรไม่มีความเห็น หากนายเห็นว่าไม่ดีจะให้ยกเลิกก็ไม่มีปัญหาอะไร”

พ.ต.อ.เอกรักษ์ กล่าวอีกว่า แผนการปรับการตั้งด่านขณะนี้เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นแล้ว โดยเรานำข้อเสนอของชมรมช่วยเหลือเหยื่อฯ มาปรับใช้บางส่วนด้วย ก็เพื่อให้ประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนมากที่สุด ส่วนด่านแอบต่อไปจะไม่มีแล้ว แบบที่ว่าแอบซุ่มเดินรอบคันจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป จะมีเพียงด่านที่มีนายตำรวจควบคุมดูแลเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา หากใครฝ่าฝืนก็จะลงโทษอย่างเด็ดขาด

“ทั้งนี้ต้องอยู่ที่วินัยการใช้ถนนของประชาชนด้วย ถ้าเคารพกฎกันตำรวจก็ไม่ต้องกวดขันมาก แต่ถ้าไม่เคารพแล้วตำรวจไม่ดำเนินการ กรุงเทพฯก็คงจะสนุกนะ ผมมองว่าทุกฝ่ายต้องร่วมมือ และวันข้างหน้าผู้ใช้ถนนกับตำรวจอาจจะกลับมารักกันได้อีกครั้ง” พ.ต.อ.เอกรักษ์ ตั้งความหวัง