posttoday

"หนี้ครู" ปัญหาอมตะคู่แม่พิมพ์ของชาติ

27 กันยายน 2558

ครูจำนวนหนึ่งมีความเชื่อผิดๆว่า ไม่ว่าจะมีหนี้สินมากมายเพียงไร ภาครัฐก็ต้องโดดลงมาช่วยแก้ปัญหา

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

กรณีที่มีการออกมาระบุถึง ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ "เอ็นพีแอล" จากครูที่กู้ยืมเงินจากธนาคารออมสิน จากโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.ค.พ.) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) มีหนังสือแจ้ง ธนาคารไม่อนุญาตให้หักเงินจากกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่ง เสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ของ ช.ค.พ. ทำให้ครูมีหนี้ ค้างชำระสะสมล่าสุด ณ วันที่ 31 ส.ค.ถึง  64,197 ราย คิดเป็นเป็นเงิน 5,388 ล้านบาท จากที่ร่วมโครงการกว่า 4.6 แสนราย ในวงเงินกู้รวมกว่า 4 แสนล้านบาท

ยังไม่นับรวมถึงหนี้นอกระบบ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ไม่สามารถรวบรวมตัวเลขที่แท้จริงได้ เรื่องนี้ สะท้อนถึงปัญหาหนี้ครูที่หยั่งรากลึกจนยากจะจินตนาการออกว่า จะจบลงอย่างไร...

วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุว่า เรื่องนี้ ขมวดเป็นปมปัญหาหลายชั้นจนยากที่จะแก้ไขได้ ประการแรก เริ่มจาก การอำนวยความสะดวกให้ครูกู้เงินได้อย่างน่าเหลือเชื่อ เช่น สามารถกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งมีอยู่ในทุกพื้นที่ที่ครูบรรจุ

"มีรูปแบบการกู้ให้เลือกอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกู้แบบฉุกเฉิน มีหลักทรัพย์หรือไม่มีหลักทรัพย์ ใช้เพียงการค้ำประกันของสมาชิกกันไปมา กู้จากสถาบันการเงินอื่นๆ กู้นอกระบบ หรือกู้แทนคนอื่นโดยใช้อาชีพครูเป็นหลักฐานในการค้ำประกัน หน่วยงานอย่าง สกสค. ก็ส่งเสริมให้กู้สารพัดวิธี ที่สำคัญ คือ สามารถหักเงินผ่อนชำระหนี้เงินกู้ก่อนได้รับเงินเดือน ให้โดยเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้จัดระบบเชื่อมโยงกับธนาคาร และหากเปรียบเทียบกับข้าราชการอื่นแล้ว พบว่าได้รับการอำนวยความสะดวกในการกู้ยืมน้อยกว่ามาก"วรากรณ์กล่าว

สาเหตุประการต่อมา คือ  ครูเป็นกลุ่มคนที่มีหน้ามีตาในสังคม ได้รับการยกย่องเป็นแม่พิมพ์ของชาติ สังคมไทยให้เกียรติ์อาชีพนี้ จนตัวครูเองติดอยู่กับภาพสถานะทางสังคมที่จะดูดีขึ้นได้ หากมีรถขับหรือมีสิ่งบ่งชี้ในรูปของทรัพย์สินให้เห็นชัดเจน ครูก็ต้องตอบสนองเรื่องนี้ ด้วยความเป็นหนี้ ครูสามารถออกบัตรเครดิตกี่ใบก็ได้ หากประวัติดี รวมถึงเป็นอาชีพที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของบริษัทผ่อนสินค้าทั้งหลายแล้ว ที่บางครั้ง ขอดูเพียงสลิปเงินเดือนก็ยอมให้ผ่อนชำระสินค้าได้

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แจกแจงอีกว่า ครูจำนวนหนึ่ง มีความเชื่อผิดๆ ว่า ไม่ว่าจะมีหนี้สินมากมายเพียงไร ภาครัฐก็ต้องโดดลงมาช่วยแก้ปัญหา เพราะมิฉะนั้น เด็กนักเรียนจะได้รับผลกระทบจากความเครียด ไม่มีสมาธิสอน เพราะต้องวิตกเรื่องหนี้สินที่ล้นพ้นตัว หลายรัฐบาลจึง ตั้งกองทุนช่วยแก้ไขหนี้สินครู แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะครูกลุ่มนี้จะยังกู้ยืมต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

นอกจากนี้ ยังพบด้วย ว่า มีครูจำนวนหนึ่ง ที่กู้ยืมไปลงทุนสร้างรายได้เสริม ขายตรง เก็งกำไรหุ้น เล่นหวยอย่างหนักมือ เก็งกำไรที่ดิน ฯลฯ แต่ต้องขาดทุนเพราะ ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนอย่างเพียงพอ

วรากรณ์ ระบุอีก ว่า แม้ปัจจุบัน ครูจะเป็นอาชีพที่มีเงินเดือนเฉลี่ย สูงกว่า 2. 5 หมื่นบาท ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงว่าอาชีพอื่น แต่ปัญหาหนี้ก็ยากที่จะหมดไป เนื่องจากหน่วยงานรัฐไม่มีข้อมูลเรื่องนี้เพียงพอที่จะจัดการปัญหาได้

"ปัญหาหนี้ครูนั้นมีเยอะ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไม่มีจำนวนตัวเลขหนี้ที่ชัดเจน หรือมีข้อมูลที่จำเป็นต่อการหามาตรการจัดการปัญหา อย่าง ครูที่เป็นหนี้อยู่เท่าใด ลักษณะของหนี้เป็นอย่างไรบ้าง อายุของหนี้ แหล่งหนี้ ยอดรวมทั้งหมดของหนี้ จึงไม่สามารถนำมาประเมินหาแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ และมีเรื่องน่าแปลกก็คือ มีครูหน่วยงานดูแลสวัสดิการ แต่กลับไม่เคยสนใจสำรวจสิ่งที่กล่าวมา มาก่อนเลย ไม่เคยมีใครสั่งให้ดำเนินการเรื่องนี้ได้ อาจจะคิดว่า ตัวเองมีหน้าที่ให้กู้อย่างเดียว และเมื่อไม่มีข้อมูลที่แท้จริง ว่าใครเดือดร้อนจริง จึงไม่รู้ ว่าจะช่วยใครก่อน จึงเป็นไปได้ยากที่จะแก้ปัญหานี้ให้หมดไป"วรากรณ์กล่าวทิ้งท้าย