posttoday

"ภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือ" เสียงจากล่ามอาสาช่วยเหยื่อระเบิด

19 สิงหาคม 2558

เรื่องราวของอาสาสมัครชาวไทยที่ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาจีนให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดราชประสงค์

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด, ศศิธร จำปาเทศ

แม้เหตุระเบิดแยกราชประสงค์เมื่อช่วงค่ำวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมาจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างรุนแรง แต่ในอีกมุมเหตุดังกล่าวก็ได้ทำให้เห็นถึงน้ำใจของผู้คนที่หลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสายในการเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ

หนึ่งในนั้นคือบรรดาอาสาสมัครที่ทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาจีน ที่ช่วยเป็นผู้สื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับนักท่องเที่ยวจีนที่ได้รับบาดเจ็บรวมถึงญาติผู้เสียชีวิต

กฤตภาส ปัตตนเจริญกุล ล่ามอาสาสมัครชายวัย 68 ปี บอกด้วยสีหน้าแห่งความภาคภูมิว่าหลังเหตุการณ์เลวร้ายสิ้นสุดลง คิดว่าสิ่งที่คนไทยต้องทำก็คือการแสดงน้ำใจ

“ผมรู้สึกสลดใจอย่างมากกับเหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ เสียใจที่บ้านเมืองกำลังสงบสุข เเล้วทำไมถึงเกิดเหตุการณ์เลวร้ายเเบบนี้ขึ้นได้ แต่ผมก็ยังภูมิใจที่ได้เห็นน้ำใจคนไทยหลายๆ คนที่แสดงออกมาว่าเราทุกคนพร้อมจะช่วยเหลือกัน”

ปัจจุบันกฤตภาส กำลังเรียนอยู่ในโครงการฝึกอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์ทั่วไป ของมหาวิทยาลัยนเรศวร และเมื่อได้ยินประกาศรับสมัครล่ามอาสาเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ จึงตัดสินใจมาเป็นอาสาสมัครแบบไม่ลังเล

"น้ำใจคนไทยหลังเหตุการณ์เป็นเรื่องที่ผมประทับใจ เเละการมาที่นี่ของผมก็มาเพราะเหตุผลดังกล่าว ผมรู้ว่าคนเจ็บเขาอยากจะติดต่อญาติพี่น้องเป็นอย่างเเรกที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังต้องการความสบายใจ ซึ่งเราพยายามพูดคุยให้เขารู้สึกดี ไม่เคว้งคว้าง ไม่รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งหรือละเลยจากคนไทย"

เท่าที่ได้พูดคุยกับญาติผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต กฤตภาส  บอกว่า  แม้ทางญาติจะเสียใจอย่างรุนแรงกับการสูญเสียคนในครอบครัวไป แต่ทุกคนก็เข้าใจว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

“ผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชาวจีนครับ พวกเขาไม่ได้เรียกร้องหรือกล่าวโทษประเทศไทยเพราะต่างเข้าใจว่าเป็นเหตุสุดวิสัย”กฤตภาสกล่าว

กนกวรรณ กุลเกียรติประเสริฐ พนักงานบริษัทสาววัย 24 ปี ที่สละเวลาหลังเลิกงานมาร่วมเป็นล่ามอาสาสมัคร กล่าวว่า ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์เลวร้ายขนาดนี้เกิดขึ้นกลางเมืองหลวง และเมื่อเห็นความสูญเสียก็รู้สึกว่า ควรจะต้องทำอะไรสักอย่าง

“หลังสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราคิดว่าน่าจะช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งเราพูดจีนได้และมันเป็นภาษาเดียวกันกับผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่  งานนี้เราจะพยายามมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เขารู้สึกว่า เขายังมีเพื่อน มีคนที่พูดภาษาเดียวกันกับเขา เขาจะได้รู้สึกอุ่นใจและสบายใจ จนกว่าจะได้พบกับญาติ” 

กนกวรรณ  บอกว่า การสูญเสียคนในครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่มากไม่ว่าจะเป็นคนจีนหรือคนไทย ส่วนตัวหวังว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้โดยเร็ว

ขณะที่ บุญชัย วรกิจพรสิน วัย 53 ปี อีกหนึ่งล่ามอาสาสมัคร กล่าวว่า ด้วยความที่มีเชื้อสายจีน และมีเพื่อนชาวจีนมากมาย จึงรู้สึกว่า “ผู้ประสบเหตุคือเพื่อนที่เราจะไม่ทอดทิ้ง”

“ทราบข่าวความต้องการอาสาสมัครล่ามภาษาจีนกลางเพื่อช่วยเหลือเหยื่อบาดเจ็บจากระเบิดผ่านทางโซเซียลมีเดีย ที่มีการแชร์ผ่านเฟซบุ๊กตั้งแต่คืนเกิดเหตุ  เราก็อยากจะใช้ความสามารถทางภาษาที่มีอยู่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บบ้าง”

บุญชัย เห็นว่าทุกคนบนโลกต้องการเพื่อนที่คอยดูแลกันและกัน ยิ่งเมื่อต้องตกอยู่ในสภาพความเจ็บป่วย ยิ่งต้องการคนดูแล

“แค่มีคนที่พูดภาษาเดียวกัน มาดูแลกัน ผมว่าเขารู้สึกอุ่นใจขึ้นมากแล้วนะ ที่สำคัญผู้บาดเจ็บเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไหว้พระแต่ต้องมาประสบเหตุการณ์ แต่การแสดงออกแบบนี้ทำให้เขาเห็นได้ว่าเมืองไทยยังมีสิ่งที่ดี ซึ่งส่วนใหญ่คนต่างประเทศจะมองอยู่แล้วว่าเมืองไทยมีพระมหากษัตริย์ที่เสียสละและมีน้ำใจ ซึ่งเป็นผลผลิตอันเป็นเอกลักษณ์ที่คนไทยควรจะแสดงออก”

บุญชัย กล่าวอีกว่า การมีส่วนร่วมของคนไทยด้วยการแชร์ความต้องการอาสาสมัคร หรือ แชร์ความช่วยเหลือต่างๆ นานา ทางโซเชียลมีเดีย เป็นการแสดงพลังความมีน้ำใจของคนไทย เพื่อให้ชาวโลกได้รู้ว่า เราจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่

วิโรจน์ สิตประเสริฐนันท์ นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย บอกว่า มัคคุเทศก์ มักเป็นผู้ที่มีจิตบริการ ยิ่งเมื่อไหร่ที่รู้ว่านักท่องเที่ยวเกิดปัญหาด้วยแล้ว ทุกคนพร้อมอาสาช่วยเหลือและให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ทางการเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การก่อการร้าย หรืออื่นๆ ทางสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทยมักไปช่วยเหลืออยู่เสมอ

“ความสำคัญของล่ามหรือมัคคุเทศก์ก็คือ ช่วยสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวกหรือให้ความช่วยเหลือกับนักท่องเที่ยวที่ประสบเคราะห์กรรมต่างๆ ระหว่างมาเที่ยวเมืองไทย เพื่อให้การสื่อสารประสบความสำเร็จและเป็นไปด้วยความเข้าใจ ขณะเดียวกันยังทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอุ่นใจ ที่มีคนเข้าใจในสิ่งที่เขาพูด เพราะหลายครั้ง เขาเพียงแค่อยากระบาย  เพื่อลดความอึดอัดหรือความเป็นทุกข์ที่เขาหรือเธอได้ประสบพบเจอมา”วิโรจน์กล่าว

วิโรจน์กล่าวว่า ขนาดเราเป็นคนไทย หากเจ็บป่วยไม่มีใครมาเยี่ยมเยียน เรายังอึดอัดเลย แล้วถ้าคุณมากจากต่างแดนไม่มีใครมาคุยกับคุณ คิดดูจะรู้สึกขนาดไหน

และนี่คือการตอบสนองต่อเหตุการณ์เลวร้าย ด้วยน้ำจิต น้ำใจ อันน่านับถือของคนไทย …