posttoday

หยั่งเสียงกมธ.รายคณะ ชี้ชะตารธน.ผ่านหรือร่วง

08 สิงหาคม 2558

สู่โค้งสุดท้ายของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ออกมาสมบูรณ์แบบ...

ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์
 
สู่โค้งสุดท้ายของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ออกมาสมบูรณ์แบบ ภายหลังสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ส่งความเห็นประกอบการพิจารณา ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อผ่านความเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป ท่ามกลางเสียงขู่ของสมาชิกถึงขั้นประกาศคว่ำร่าง หากรัฐธรรมนูญไม่ตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศในอนาคต

“สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง ให้ความเห็นว่า จากการติดตามการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ โดยเฉพาะในโครงสร้างหลักยังไม่ตรงตามที่เสนอไป แต่ประเด็นปลีกย่อย เช่น กลุ่มการเมือง ทาง กมธ.ยกร่างฯ ไม่เอาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเรื่องผู้สมัครยื่นสำเนาภาษี จาก 3 ปี เป็น 5 ปี ยังมีการตอบรับ

ส่วนในเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่มีอำนาจแจกใบแดง ทำให้ กกต.ต่อไปอำนาจน้อยกว่า กกต.ชุดแรกที่เคยทำให้นักการเมืองกลัว แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถทำได้ ต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาให้ใบแดง แต่จากประสบการณ์ คือ ศาลยกคำร้อง ใช้เวลานาน ไม่สามารถรับมือกับนักการเมืองโกงได้

จากการติดตามการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญถือว่าตอบโจทย์น้อยมาก ส่วนประเด็นเรื่องรัฐบาลผสมที่ กมธ.ยกร่างฯ ยืนกรานในเรื่องนี้ เชื่อว่าจะเกิดปัญหาแน่ในอนาคต บรรยากาศเก่าๆ จะกลับมา อย่าลืมว่ารัฐบาลผสมหลายพรรค ในอดีตของฝรั่งเศสเคยใช้รูปแบบดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดก็มีปัญหา และต้องมาร่างใหม่ภายหลังเพื่อให้ประเทศเดินหน้า และระบบนี้ก็เคยเจอปัญหา ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่น รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“เราเสนอไปแล้วเรื่องนี้ แต่ กมธ.ยกร่างฯ ยืนยันใช้ระบบดังกล่าว ผมยกตัวอย่างก่อนรัฐธรรมนูญปี 40 ก็ดูไม่จืด เราไม่ต้องไปนึกหรือมโน เพราะประเทศเคยมีบทเรียนกับระบบนี้มาแล้ว ฉะนั้นโครงสร้างการเมืองผสมมีจุดด้อยมากกว่าเด่น ขณะรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 กำหนดชัดเจนว่านายกฯ ต้องมาจาก สส. แต่รัฐธรรมนูญนี้นายกฯ ไม่เป็น สส.ก็ได้ จึงไม่เห็นรัฐธรรมนูญสะท้อนการปฏิรูป” สมบัติ ระบุ

ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง ยอมรับว่า เท่าที่ติดตามรัฐธรรมนูญฉบบนี้ไม่มีอะไรก้าวหน้า ไม่มีอะไรไปรับมือกับการโกงการเลือกตั้ง ถ้ามองในหลักประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญถือว่าล้าหลัง ทั้งนี้ ต้องรอดูฉบับสุดท้ายที่กำลังจะออกมาว่าเป็นอย่างไร ถึงตัดสินใจได้ว่าจะอย่างไรต่อไป

“ดิเรก ถึงฝั่ง” รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง ให้ความเห็นเช่นเดียวกันว่า ตามมารยาททางการเมืองยังไม่ควรวิจารณ์อะไรในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่เห็นร่างทั้งหมด อีกทั้งไม่รู้ว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้นำความเห็นที่ส่งให้ไปพิจารณาหรือไม่ เพราะมีหลายเรื่องสำคัญ จึงไม่ควรพูดขณะนี้ ต้องให้เวลา กมธ.ยกร่างฯ ทำงาน เนื่องจากยังมีเวลาเหลือ

 “หัวใจสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ เรื่องที่มาของนายกฯ และที่มาของ สส.และ สว. แต่เรายังไม่เห็นร่างทั้งหมด มีการแถลงข่าวก็ไม่เคลียร์ ดังนั้น จึงไม่อยากพูดอะไรไปจนกว่าจะเห็นทั้งหมด จึงจะตอบได้เมื่อถึงเวลานั้น” ดิเรก กล่าว

ด้าน“เสรี สุวรรณภานนท์” ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเสนอปรับลดจำนวนมาตราในร่างรัฐธรรมนูญ จาก 315 มาตรา เหลือ 100 มาตรา ยอมรับว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับมากเท่าที่ควร และจะทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ในเรื่องระบบการเมือง ซึ่งต้องมีตัวแทนประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล

เสรี อธิบายว่า แต่ระบบกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ตอบโจทย์ให้มีรัฐบาลเสียงข้างมาก เพราะให้มีหลายพรรคเข้าร่วม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งอาจทำให้รัฐบาลอ่อนแอและขาดเสถียรภาพ รวมถึงทิศทางของนายกฯ ให้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับเปิดให้มีนายกฯ คนนอกเข้าร่วม

“สำคัญในร่างต้องแก้ไขปัญหาเรื่องความขัดแย้ง ซึ่งมีเนื้อหาสาระมาก แต่กลับมีการใส่รายละเอียดอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ การจะเอารัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มาเทียบเคียงนั้นไม่ได้ เพราะในขณะนั้นมี ส.ส.ร.อยู่ แต่ปัจจุบันคือสภาปฏิรูป ซึ่งจะเป็นปัญหามาก” เสรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนวทางต้องมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบก็สามารถจัดการเลือกตั้งได้เลย ทำให้การแก้ปัญหาทุจริตไม่ชัดเจน อีกทั้งการให้มีศาลพิจารณาคดีเกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่กลับให้อุทธรณ์ในฎีกาได้ ดังนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งสถานการณ์เดิมๆ ก็กลับมา ทว่าต้องรอดูเนื้อหาทั้งหมด ถ้าหากไม่ตอบโจทย์ ก็เป็นไปได้ที่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

“ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์” ประธาน กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เสนอให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็น คือ 1.การบัญญัติหลักการเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์ชาติ” และ 2.การปรับถ้อยคำในหมวดการคลังและงบประมาณของรัฐ เช่น บัญญัติคำว่า “พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี” โดยยอมรับว่าเรื่องยุทธศาสตร์ มีการตอบรับเป็นไปที่ดีมาก

ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้บรรจุเรื่องนี้ให้อยู่ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ แต่ในส่วนเรื่องระบบงบประมาณที่ขอเปลี่ยนไป ก็ถือว่ามีการตอบรับดี เนื่องจาก กมธ.ได้ทำตามเสนอ โดยให้เป็นงบประมาณแบบคู่ขนาน คือ ภารกิจกับพื้นที่ ซึ่งเน้นงบประมาณในเชิงผลลัพธ์ ถือเป็นการตอบรับทางบวก

อย่างไรก็ตาม ส่วนอื่นยังไม่ทราบ เช่น เรื่องของกฎหมายลูกเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เพราะเพิ่งได้เสนอไป ทว่าส่วนตัวเชื่อว่าคงจะมีการปรับไม่เยอะ เนื่องจากเวลางวดเข้ามาทุกขณะ และเชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ คงอยู่ระหว่างการตรวจทานอีกรอบหนึ่ง