posttoday

รู้จัก "แมวเก้าชีวิต" ชื่อ "ณรงค์ สหเมธาพัฒน์"

06 สิงหาคม 2558

สปอตไลท์จับมาที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ หลังนายกฯลงนามคำสั่งย้ายกลับมานั่งทำงานที่สธ.

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

สปอตไลท์จับมาที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทันที ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามในคำสั่งย้าย นพ.ณรงค์ จากที่เคยถูกดองไปตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี นานกว่า 5 เดือน ให้กลับมาทำงานที่ สธ. ใน 2 เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ

นับว่าคุณหมอเป็น “แมวเก้าชีวิต” อย่างแท้จริง เพราะข้าราชการทั้งหมดที่อยู่ใน “กรุ” สำนักนายกรัฐมนตรี จากคำสั่งคสช.นั้น ส่วนใหญ่ถูกดองจนเกษียณอายุ ไม่มีใครได้กลับมายิ่งใหญ่ เหมือนคุณหมออีกแล้ว

นพ.ณรงค์ หรือชื่อเล่นว่า “หมอแก้ว” พื้นเพเป็นคน อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) รหัส 15 รุ่นเดียวกับ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน นพ.วัฒนา นาวาเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. รวมถึง นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการต่อสู้ร่วมกันตลอดเวลา

ประวัติก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางมูลนาก จ.พิจิตร ก่อนจะไปดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร สนิทสนมกันดีกับ “เสธ.ชาละวัน” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นเข้ามาดำรงตำแหน่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ

คุณหมอเข้ามาเป็นรองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระหว่างปี 2545-2550 ดูแล พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนสามารถผลักดันกฎหมายได้สำเร็จในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จน นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุขขณะนั้น เห็นผลงาน ผลักดันไปนั่งตำแหน่งผู้ตรวจราชการสธ. ขึ้นไลน์ซี 10

ช่วงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ นพ.ณรงค์ ได้รับการผลักดันให้เป็น รองปลัดสธ. และอธิบดีกรมสุขภาพจิต หลังจากนั้นเมื่อพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล โดยมี วิทยา บุรณศิริ เป็นรัฐมนตรี หมอณรงค์ ก็เป็น “ม้ามืด” ได้ดำรงตำแหน่งปลัดสธ.ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยข้อมูลจากชมรมแพทย์ชนบทภายหลังว่าในช่วงที่มีการแต่งตั้งปลัดสธ.นั้น นพ.ณรงค์ ได้เดินทางไปประชุมที่ฮ่องกงพอดิบพอดี

ปีแรกของการเป็นปลัดสธ. อยู่ในระดับที่ “ไม่โดดเด่น” เพราะถูกมองว่ารับใช้การเมืองโดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น กระทั่งเดือน พ.ย. ได้รับ “สัญญาณพิเศษ” เปลี่ยนข้างมาอยู่กับกปปส. จนได้รับ “นกหวีดทองคำ” จากมือสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.

เมื่อประกาศตัวเป็นเอกเทศจากฝ่ายการเมือง หมอณรงค์ชูธง 4 เรื่อง ได้แก่  1.พัฒนากลไก การสร้างเอกภาพในการกำหนด นโยบาย สาธารณสุขของประเทศ โดยเสนอให้มีบอร์ดสุขภาพระดับชาติ 2.ปฏิรูประบบบริการเป็นเขตสุขภาพ 3.ปฏิรูปการเงินการคลังด้านสุขภาพ และ4.สร้างระบบธรรมาภิบาล อย่างไรก็ตาม ถูกฝ่ายตรงข้ามมองว่าเป็นการดึงอำนาจ-งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้กลับมายังสธ.แทน

ภายหลังการยึดอำนาจ 22 พ.ค. ถูกจับตาในฐานะแคนดิเดต รมว.สาธารณสุข แต่รัฐบาลกลับเลือกฝ่ายตรงข้ามอย่างอดีตขุนพลของชมรมแพทย์ชนบท องค์กรตระกูลส. มาเป็นรัฐมนตรี – ทีมงานรัฐมนตรี แทน หลังแนวคิดการทำงานไม่ตรงกัน และไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐมนตรี นพ.ณรงค์ จึงถูกเสนอให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่สำนักนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม เกิดความเคลื่อนไหวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังมีการย้าย นพ.ณรงค์ เพราะหลังจากนั้นราว 2 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีคำสั่งให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก่อนที่ สปสช.จะถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากหน่วยงานอย่าง ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.)

น่าสนใจก็ตรงที่ ประธานศอตช. ชื่อ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม และประธานคตร. ชื่อ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยทั้งสองเป็นเพื่อนร่วมรุ่น วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่น 51  กับ นพ.ณรงค์ และยังเป็น “ก๊วนกอล์ฟ” เดียวกันอีกด้วย

หลังจาก นพ.วินัย ถูกย้ายก็มีการโหมโรงเรื่อง นพ.ณรงค์ เตรียม “คัมแบ๊ก” อย่างต่อเนื่อง โดยมีกระแสการปรับคณะรัฐมนตรีส่วนของ รมว.สธ.อยู่ด้วย เพราะเชื่อว่าดุลอำนาจภายในจะเปลี่ยน และกลุ่มแพทย์ชนบทนั้นไม่ได้ “ขลัง” เหมือนเดิมแล้ว

เพราะนายกรัฐมนตรี หันไปฟังเสียงของกลุ่ม นพ.ณรงค์ รวมถึงเสียงของ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติมากกว่า

จนในที่สุดเสียงลือเสียงเล่าอ้างก็เป็นจริง เมื่อนายกรัฐมนตรีเซ็นคำสั่งย้าย นพ.ณรงค์ กลับมาเมื่อ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา

แม้นพ.ณรงค์จะได้รับตำแหน่งคืนแล้ว แต่เชื่อว่าศึกในกระทรวงหมอ จะยังคงลากยาวต่อไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น