posttoday

เปิดปูม 22 สปช.สายคสช. ขอปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

06 สิงหาคม 2558

ในที่สุดก็มาตามนัดสำหรับการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้สปช. ตั้งคำถามประชามติ ปฏิรูป2ปีก่อนเลือกตั้ง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุดก็มาตามนัดสำหรับการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งคำถามประชามติ ว่า “เห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนการเลือกตั้งหรือไม่” โดยมีสมาชิก สปช.ลงชื่อยื่นเรื่องให้กับ “เทียนฉาย กีระนันทน์” ประธาน สปช.แล้วจำนวน 22 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่ใกล้ชิดกับแกนนำ คสช.

ทั้งนี้กลุ่มดังกล่าวได้อธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องมีการทำประชามติดังกล่าวไว้ 2 เหตุผล คือ 1.คณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. สำรวจความเห็นประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง เป็นผู้ดำเนินการสำรวจพบว่า 75.75%  เห็นควรว่าควรปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

2.เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2558 มีประชาชนพร้อมรายชื่อผู้สนับสนุนจำนวน 5 หมื่นรายชื่อ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและประธาน สปช. เพื่อขอให้มีการทำประชามติให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง

“หากเห็นชอบให้มีการปฏิรูปประเทศอีก 2 ปีก่อนจัดการเลือกตั้ง มีผลให้ต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นดังนี้ บทเฉพาะกาลมาตรา 277 (1) นับจากวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อครบกำหนด 2 ปี ให้ดำเนินการเลือกตั้ง สส.ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งในระหว่าง 2 ปีที่ต้องดำเนินการปฏิรูปประเทศนั้นให้มีการตรา พ.ร.บ.ที่จำเป็นซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จทั้งหมด” สาระสำคัญในญัตติฉบับนี้

สำหรับ สปช.ที่ร่วมลงชื่อมีทั้งหมด 22 คน ประกอบด้วย 1.ไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อดีตแกนนำกลุ่ม 40 สว. 2.พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 เตรียมทหารรุ่นที่ 12 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 3.อมร วาณิชวิวัฒน์ ปัจจุบันเป็น กมธ.ปฏิรูปการเมือง ถือเป็นสมาชิก สปช.คนแรกๆ ที่ออกมาเปิดโปงการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพในสภา

4.ศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์ สมาชิก สปช.ระนอง เคยเป็นอดีต สว.ระนอง เมื่อปี 2557 5.พล.ร.อ.สุรินทร์ เริงอารมณ์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เตรียมทหารรุ่นที่ 6 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม 6.คุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน เคยผ่านหลักสูตรวิทยาการธุรกิจและอุตสาหกรรมรุ่นที่ 1 (วธอ.) รุ่นเดียวกับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก 7.มนูญ ศิริวรรณ เป็นผู้ยื่นคำขอแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะ กมธ.ยกร่างฯ เพื่อให้กำหนดการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญ

8.ชูชาติ อินสว่าง สมาชิก สปช.สุพรรณบุรี 9.โกเมศ แดงทองดี สมาชิก สปช.ราชบุรี อดีต ผวจ.ราชบุรี 10.สมเดช นิลพันธุ์ สมาชิก สปช.นครปฐมและ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 11.สุพร สุวรรณโชติ สมาชิก สปช.สมุทรสงคราม 12.เปรื่อง จันดา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ 13.ชาลี ตั้งจีรวงษ์ สมาชิก สปช.สิงห์บุรี เคยร่วมเวทีของ กปปส. 14.เอกราช ช่างเหลา สมาชิก สปช.ขอนแก่น เคยตั้งฉายาให้กับร่างรัฐธรรมนูญว่า “ฉบับสับขาหลอก”

15.พล.อ.วรวิทย์ พรรณสมัย อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย 16.สยุมพร ลิ่มไทย อดีต ผวจ.เพชรบุรี 17.วิชัย ด่านรุ่งโรจน์ อดีต สว.พิจิตร ปี 2557 และอดีตรองนายก อบจ.พิจิตร 18.ดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยาน
แห่งชาติ

19.เจริญศักดิ์ ศาลากิจ อดีตที่ปรึกษา รมช.เกษตรและสหกรณ์ 20.พล.ร.อ. อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ หนึ่งใน สปช.ที่สนับสนุนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 21.พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และ 22.วรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สื่อมวลชนอาวุโส

ในขณะที่ “อลงกรณ์ พลบุตร” เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงหลังประชุมว่า เบื้องต้นได้กำหนดให้วันที่ 7 ก.ย. เป็นวันลงมติลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับกำหนดประเด็นคำถามเพิ่มเติมที่ใช้สำหรับการทำประชามติ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ยืนยันว่า ทุกอย่างยังยึดตามโรดแมป ส่วนที่มีการไปโยงว่าการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการต่ออายุให้กับรัฐบาลนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ย้อนถามว่า “ทำไมผมจะต้องต่อล่ะและไม่เกี่ยวว่าจะเพื่อให้มีเวลาในการไปทำเรื่องการปฏิรูป ร่างรัฐธรรมนูญถ้าไม่ผ่านก็คือไม่ผ่าน ถ้าผ่านผมก็ต้องไปตามเวลาของผม ผมก็บอกแล้วว่า ผมไม่ได้อยากอยู่นานๆ ผมอยากทำงานให้เสร็จ”

ทั้งหมดนี้จะชัดเจนในอีกไม่นาน