posttoday

5 จุดเสี่ยง "นักปั่น" โดนปล้น ใครก็ตกเป็นเหยื่อได้

04 สิงหาคม 2558

ตามการวิเคราะห์สถิติอาชญา กรรม โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาลพบ 5 พื้นที่เสี่ยงเกิดเหตุร้าย

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ความหนักอกหนักใจของ “นักปั่น” นอกจากเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว ยังต้องคอยระแวดระวังอาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทาง กรณีล่าสุดที่อันธพาลเจ้าถิ่นใช้ดาบไล่ฟันนักปั่นพร้อมกรรโชกทรัพย์ นำมาซึ่งความเดือดเนื้อร้อนใจของเหล่าสิงห์สองล้อ

ตามการวิเคราะห์สถิติอาชญา กรรม โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พบ 5 พื้นที่เสี่ยงเกิดเหตุร้าย ประกอบด้วย

1.ถนนอักษะพุทธมณฑลสาย 4
2.ซอยถนนกรุงเก่ารัตนโกสินทร์
3.เลียบทางด่วนรามอินทรา 4.ถนนพระราม
4 ช่วงตัดผ่านเข้าสู่ถนนสุขุมวิท
5.ใต้สะพานกลับรถด้านหลังสนามบินสุวรรณภูมิ เชื่อมต่อถนนบางนา-ตราด

พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ รามสูต รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) รับผิดชอบงานป้องกันปราบปราม บอกว่า ไม่ว่าจุดใดก็มีความเสี่ยง ไม่ใช่เฉพาะจุดเสี่ยงตามที่มีการแจ้งเตือนไปเท่านั้น

สำหรับวิธีการเอาตัวรอด หากเกิดเหตุที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ แล้ว ก็ต้องยอมปล่อยทรัพย์สินไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องจดจำรูปพรรณสัณฐานของคนร้ายเอาไว้ให้ได้มากที่สุด และรีบโทรศัพท์แจ้งตำรวจเพื่อให้สกัดจับทันที

พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ ให้คำแนะนำนักปั่นอีกว่า ก่อนอื่นต้องคิดว่าทรัพย์สินของเราที่นำออกไปปั่นจักรยานนั้น สิ่งใดที่มีความจำเป็นจริงๆ อย่าพกทรัพย์สินติดตัวมากจนเกินไป เพราะอาจจะเป็นเป้าให้มิจฉาชีพมาก่อเหตุได้

นอกจากนี้ ในการปั่นจักรยานยามค่ำคืนควรจะมีเพื่อนปั่นไปเป็นกลุ่ม เพราะหากเกิดเหตุอะไรขึ้นจะได้ช่วยเหลือกันได้อย่างทันท่วงที หรือเวลาที่ปั่นตามทางก็ไม่ควรจะทิ้งห่างจากกลุ่มมากนัก

“หากเป็นสุภาพสตรีที่ต้องการมาจับกลุ่มปั่นจักรยานยามค่ำคืน หากมีรถยนต์ก็ควรจะนำจักรยานใส่รถยนต์มาจุดนัดพบจะดีที่สุด และเมื่อขากลับก็ให้ขับรถยนต์กลับพร้อมจักรยานที่บรรทุกไว้ จะปลอดภัยกว่า หรือควรจะมีเพื่อนปั่นไปด้วยกันจนถึงทางที่คิดว่าคุ้นเคยและปลอดภัยดีแล้วจึงปลีกตัว” พล.ต.ต.ฉันทวิทย์ ย้ำเพื่อความปลอดภัย

ด้าน ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย วิพากษ์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความล้มเหลวของสังคม เพราะต้นตอของปัญหาไม่ได้เกิดจากกลุ่มนักปั่นเป็นสาเหตุ แต่เกิดจากความไม่ปลอดภัยในสังคมที่หน่วยงานเกี่ยวข้องควรเข้ามาจัดการ

ธงชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาข้างต้นอาจเป็นเพราะสังคมมีความเข้าใจร่วมกันว่าคนปั่นจักรยานจะต้องใช้อุปกรณ์ราคาแพง ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่ออกมาปั่นจักรยานก็ไม่ได้พกทรัพย์สินอะไรมามากมาย แม้แต่ตัวจักรยานเองก็มีหลายราคา

“ความคิดข้างต้นทำให้โจรคิดต่อไปว่าจักรยานต้องมีราคาแน่ๆ เลยปล้นเพื่อเอาไปขายต่อ นั่นทำให้คนปั่นจักรยานทุกคนกลายมาเป็นเป้าได้หมด”ธงชัย ระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเหตุการณ์อาชญากรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จำเป็นต้องรณรงค์ให้มีคนออกมาปั่นจักรยานกันต่อไป แต่เหนืออื่นใดก็ต้องควบคู่ไปกับการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนผู้มาปั่นจักรยานด้วย ไม่ใช่พร่ำๆ ชวนกันออกไปปั่นเพื่อลดมลภาวะ เพื่อเป็นทางเลือกของการเดินทาง แต่ถนนหนทางและความปลอดภัยยังไม่มี

“หากต้องออกมาปั่นกันตอนกลางคืนให้มาเป็นกลุ่มกลับเป็นกลุ่มจะดีที่สุด”ธงชัย กล่าว

นั่นเพราะคงยากที่จะคาดหวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดูแลดังนั้นทางออกเดียวคือเราต้องดูแลกันเอง