posttoday

เปิดขุมทรัพย์ปิโตรเลียม

30 มิถุนายน 2558

หากกฎหมาย 2 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล กระทรวงพลังงานจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทันที

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐ โพสต์ทูเดย์

สิ้นเดือน ก.ค. 2558 จะครบกำหนด 3 เดือน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ชะลอการเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 และให้พิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514   ซึ่งขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังแก้ไข

หากกฎหมาย 2 ฉบับ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล กระทรวงพลังงานจะออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทันที

การเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 นี้ จะมีทั้งการแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) เหมือนพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย โดยนำแปลงสำรวจในอ่าวไทยบางแปลงมาเปิดให้เอกชนยื่นประมูลแข่งขันกันยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดให้กับรัฐ

ขณะที่แปลงสัมปทานบนบกและในอ่าวไทยส่วนที่เหลือ จะเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตภายใต้ระบบสัญญาสัมปทาน “ไทยแลนด์ทรีพลัส” ซึ่งก่อนหน้านี้ มีเอกชน 2-3 ราย สนใจขอสัมปทาน

ในขณะที่ สนช.กำลังพิจารณากฎหมายนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็กำลังเร่งกำหนดพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแต่ละแปลงว่า จะให้ใช้ระบบสัมปทานปิโตรเลียมหรือระบบพีเอสซี แต่ข้อมูลที่เด่นชัดที่สุดคือจะนำแปลงปิโตรเลียม 3 แปลงในพื้นที่อ่าวไทยมาใช้ระบบพีเอสซี คือ แปลง G3,G4,G6

หลายคนสงสัยว่าสมบัติปิโตรเลียมเป็นอย่างไร ข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุถึงทรัพยากรธรรรมชาติของไทยไว้น่าสนใจดังนี้

กลุ่มภาคเหนือและภาคกลาง 6 แปลง แต่ละแปลงเคยเป็นพื้นที่ได้เปิดสัมปทานไปแล้วแต่คืนพื้นที่กลับมาให้รัฐ และเป็นพื้นที่ที่ได้มีการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 2 มิติ มาแล้ว แต่ไม่เต็มพื้นที่ โดยมีอยู่ 2 แปลง ที่มีการเจาะสำรวจพิสูจน์ไปแล้ว แต่ไม่พบปิโตรเลียม คือ แปลง L3/55 และ L5/55

แปลง L3/55 มีพื้นที่ 197 ตารางกิโลเมตร เคยเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของแปลง L17/48 (รอบที่ 19) มีการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 2 มิติ ไปแล้วประมาณ 240 กิโลเมตร และเจาะหลุมแม่สอด-1 ไม่พบปิโตรเลียม ถ้าผู้ร่วมประมูลชนะได้สิทธิสำรวจในแปลงนี้จะต้องรับเงื่อนไขขั้นต่ำ คือ ทำการเจาะสำรวจอย่างน้อย 1 หลุม ภายใน 3 ปี ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำ 90 ล้านบาท

แปลง L5/55 พื้นที่ 980 ตารางกิโลเมตร เคยเป็นส่วนหนึ่งของแปลง S1 (รอบที่ 6) มีการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 2 มิติ กว่า 700 กิโลเมตร และเจาะหลุมบึงบัวเอ-1 ไม่พบปิโตรเลียม จึงคืนพื้นที่กลับมาให้รัฐ ถ้าผู้ร่วมประมูลชนะได้สิทธิสำรวจในแปลงนี้ จะต้องรับเงื่อนไขขั้นต่ำ คือ ทำการเจาะสำรวจอย่างน้อย 1 หลุม ภายใน 3 ปี ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำ 90 ล้านบาท

ภาคอีสานจำนวน 11 แปลง มีเพียง 3 แปลง (L6/55 7/55 8/55) ที่เคยมีการเจาะสำรวจ แปลงที่เหลือยังไม่มีการเจาะสำรวจ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเจาะค่อนข้างสูง อย่างต่ำ 250 ล้านบาท/หลุม หรือมากกว่านั้น และมีอยู่ 5 แปลง (L11/55 13/55 15/55 16/55 17/55) ที่เคยประกาศเชิญชวนไปแล้วใน 3 รอบหลัง แต่ไม่มีใครสนใจ

แปลง L7/55 พื้นที่ 972 ตารางกิโลเมตร เคยเปิดให้สัมปทานไปแล้วหลายรอบ เจาะสำรวจไปแล้ว 3 หลุม ปี 2526 บริษัท เอสโซ่ อุดรธานี เจาะหลุมศรีธาตุ-1 ไม่พบปิโตรเลียม ปี 2541 บริษัท เครน เอ็นเนอยี่ เจาะหลุมศรีธาตุ-2 ไม่พบปิโตรเลียม และปี 2552 บริษัท อปีโก โคราช เจาะหลุมศรีธาตุ-3 ไม่พบปิโตรเลียมเช่นกัน จึงคืนกลับมาให้รัฐ ถ้าผู้ร่วมประมูลชนะได้สิทธิสำรวจจะใช้เงื่อนไขขั้นต่ำ คือ ทำการเจาะสำรวจอย่างน้อย 1 หลุม ภายใน 3 ปี ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำ 150 ล้านบาท

ขุมทรัพย์ในอ่าวไทย 5 แปลง เป็นแปลงที่มีความน่าสนใจ โดยมี 3 แปลง (G2/55 4/55 5/55) เป็นแปลงที่มีศักยภาพปิโตรเลียมเนื่องจากเคยมีการเจาะพิสูจน์พบปิโตรเลียมแล้ว แต่ไม่สามารถพัฒนาได้เนื่องจากเป็นแหล่งขนาดเล็ก ต้องใช้เงินลงทุนสูงประมาณ 200-300 ล้านบาท

แปลง G1/55 A B เคยเป็นส่วนหนึ่งของแปลงในรอบที่ 13 18 และ 19 เคยมีการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน แบบ 2 มิติ ประมาณ 185 กิโลเมตร แต่ยังไม่เคยเจาะสำรวจเพื่อพิสูจน์

แปลง G2/55 พื้นที่ประมาณ 435 ตารางกิโลเมตร เคยเป็นส่วนหนึ่งของแปลง B8/32 ที่ประมูล ไปในรอบที่ 13 มีการเจาะสำรวจ 3 หลุม พบปิโตรเลียมทั้ง 3 หลุม แต่ไม่สามารถผลิตได้

เช่นเดียวกับแปลง G4/55 และ G5/55 ถ้าผู้ร่วมประมูลชนะได้สิทธิสำรวจใน 3 แปลงนี้ จะต้องใช้เงื่อนไขขั้นต่ำ ต้องเจาะสำรวจอย่างน้อย 2 หลุม ภายใน 3 ปี ต้องมีแผนพัฒนาชัดเจน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนขั้นต่ำกว่า 300-400 ล้านบาท

นี่คือขุมทรัพย์ที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในประเทศ