posttoday

"พรบ.บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง"...เพิ่มความมั่นคงให้ทรัพยากรทางทะเล

28 มิถุนายน 2558

รู้จักกับกฎหมายฉบับใหม่ที่จะเพิ่มศักยภาพในคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลให้ดียิ่งขึ้น

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

นับเป็นอีกเรื่องน่ายินดี เมื่อพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายใต้เป้าหมายหลักสำคัญ คือ สร้างความเข้าใจต่อชาวบ้านถึงศักยภาพและทรัพยากรที่พวกเขามี เพื่อคุ้มครอง ฟื้นฟู และเกิดความยั่งยืนทางทรัพยากร

เมื่อใดที่ธรรมชาติได้รับการคุ้มครอง เมื่อนั้นมนุษย์ย่อมได้รับการคุ้มครองตามไปด้วย

"พรบ.บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง"...เพิ่มความมั่นคงให้ทรัพยากรทางทะเล

เพิ่มความมั่นคงในทรัพยากรทางทะเล

จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จวบจนถึงปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้อาศัยกฎหมายของหน่วยงานอื่นในการกำกับดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การประมง หรือพ.ร.บ.กรมป่าไม้ กระทั่งปีนี้ รัฐบาลได้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558  เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านการลงมติ 3 วาระ และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ถามว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ฉบับนี้มีความสำคัญอย่างไร

ชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  อธิบายว่า ทรัพยากรทางทะเลของไทยกำลังประสบกับภาวะเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก  ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติและเกิดจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนที่มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์เหลืออยู่เพียง 1.52  ล้านไร่ การตายของสัตว์ทะเลหายาก  เช่น  เต่าทะเล โลมา พะยูน  ปัญหาแนวปะการังที่มีความสมบูรณ์เพียง 10-20 % ของทั้งหมด ขยะทะเลในรอบ  6  ปีที่มีสถิติสะสมสูงถึงกว่า  50  ตัน ตลอดจนผลกระทบจากการท่องเที่ยว  ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขและฟื้นฟู  โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากเหตุผลด้านความเสื่อมโทรมแล้ว การบริหารจัดการที่ยังไม่มีเอกภาพก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้คลอดออก

"ปัจจุบันการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่มีความเป็นเอกภาพ ขาดการบูรณาการและการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น ประกอบกับมีการบุกรุกหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสื่อมโทรม นอกจากนี้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีความครอบคลุม และไม่สามารถจัดการพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงเพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกอุทยาน จึงสมควรมีกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการฟื้นฟู บำรุงรักษา อนุรักษ์ และป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมกับความยั้งยืนของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างสมดุล

ทช.มีหน้าที่คุ้มครองทรัพยากร เพื่อให้เกิดการใช้อย่างยั้งยืน มุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยมีการตั้งคณะกรรมการทั้งในระดับระดับประเทศและจังหวัด มีผู้แทนจากระดับชุมชนเข้ามาเป็นกรรมการ เพื่อร่วมกันหารือและวางแผนก่อนประกาศเขตคุ้มครอง "อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว

"พรบ.บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง"...เพิ่มความมั่นคงให้ทรัพยากรทางทะเล ชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

6 จุดเด่นเพื่อการจัดการทะเลที่ยั่งยืน

วรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกว่า จุดเด่นของ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีอยู่ 6 ประการสำคัญ คือ

1.เป็นกฎหมายเชิงนโยบาย (Policy Law) และการบริหารจัดการ เพื่อประสานและเสริมประสิทธิภาพให้แก่การบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทั้งมีมาตรการคุ้มครองทรัพยากรควบคู่ไปด้วย

2.กำหนดหลักการ การบูรณาการ การใช้กฎหมาย โดยหน่วยราชการและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอดคล้องกับสภาพของระบบนิเวศของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันมีลักษณะที่เป็นระบบและเป็นองค์รวมไม่ได้แยกส่วนกัน

3.ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุนจาก ทช.

4.พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้ทช. เป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีคณะกรรมการนโยบายระดับชาติ และคณะกรรมการระดับจังหวัด ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากภาคประชาชน หรือชุมชนชายฝั่ง เข้ามามีส่วนร่วมในการบริการจัดการ

5.กำหนดให้มีมาตรการ และแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ชัดเจน และให้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และเข้าขั้นวิกฤตซึ่งการกำหนดมาตรการโดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี

6.กำหนดให้มีบทกำหนดโทษที่สูงขึ้นจากกฎหมายที่มีอยู่ เช่น กฎหมายว่าด้วยการประมง เป็นต้น เพื่อให้สามารถคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การจัดการเฉพาะหน้าต่อผู้ที่ไปใช้ประโยชน์ในทะเลหรือชายฝั่ง อย่างเช่น การก่อสร้างโรงแรมที่ทำให้เกิดตะกอน จนทำให้ทรัพยากรเสียหายอย่างร้ายแรง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้อำนาจทช.ไปแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาแก้ไขได้ แต่ถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่แก้ไข กรมก็สามารถจัดการได้เองเลย ขณะเดียวกัน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังสามารถไปก้าวล่วงกฎหมายเก่าได้ เช่นหากพบว่าพื้นที่ใดมีภัยคุกคามสูงจนเกิดเหตุการณ์วิกฤติ  ทช.สามารถนำเรื่องเข้าครม.และประกาศเขตคุ้มครองได้ โดยครอบคลุมไปถึงเขตอุทยานได้ด้วย”

"พรบ.บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง"...เพิ่มความมั่นคงให้ทรัพยากรทางทะเล

NEXT STATION ... เกาะยาวใหญ่ 

ไข่มุกงามแห่งอันดามันอย่างเกาะยาวใหญ่ จ.พังงา กำลังอยู่ในขั้นตอนของการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองตามพรบ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558  โดยอยู่ระหว่างการสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมพร้อมกับรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในชุมชน

จากการศึกษาระบบนิเวศน์ของเกาะยาวใหญ่โดยทช.พบว่า เป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความเชื่อมโยงตั้งแต่ป่าชายเลน แนวประการัง และแนวหญ้าทะเล มีสัตว์ทะเลหายากอยู่หลายชนิด เช่น โลมา พะยูน ซึ่งเหลืออยู่เพียง 260 ตัวในประเทศไทย ขณะเดียวกันชุมชนในพื้นที่ก็มีความหวงแหนในตัวทรัพยากรของพวกเขาอย่างมีเข้มแข็ง

"หลังทำการสำรวจและศึกษา ทช. จะร่วมหารือแบบแผนการบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมกับทางชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อความยั้งยืนของทรัพยากร ที่สำคัญคือไม่ทำให้ชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างถูกต้องเดือดร้อน"         

ภัยคุกคามของเกาะยาวใหญ่คือ ผลกระทบที่เกิดจากการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวและกลุ่มนายทุนนำมาซึ่งการเกิดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมากมาย ส่งผลให้ธรรมชาติเกิดความเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก

“พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะสามารถป้องกันภัยคุกคามตรงนี้  โดยสามารถออกมาตรการกำหนดข้อตกลงเรื่องการท่องเที่ยวได้ เช่น  การจอดเรือควรปฏิบัติอย่างไร การดำน้ำต้องปฏิบัติอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนแนวปะการังหรือทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรม ขณะที่ชาวบ้านก็ต้องเรียนรู้กระบวนการทำประมง ว่าพวกเขาสามารถใช้เครื่องมือชนิดใดได้บ้าง เพื่อไม่เป็นการทำลายแหล่งหญ้าทะเล”

อย่างไรก็ตาม คำว่า “พื้นที่คุ้มครอง”ยังคงสร้างความวิตกกังวลให้แก่ชาวบ้านอยู่ไม่น้อย

"คนไทย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน ชาวประมงหรือนักท่องเที่ยว เมื่อได้ยินคำว่าพื้นที่คุ้มครอง เขายังมีความรู้สึกว่าฝ่ายรัฐกำลังเข้ามาห้ามอีกแล้ว เราต้องแก้ไขความรู้สึกเหล่านั้นให้เขาเข้าใจว่า พื้นที่คุ้มครองคือ พื้นที่ที่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยที่ไม่กระทบกับวิถีชีวิตที่เขาเป็น ยกเว้นแต่ว่าสิ่งที่เขาทำนั้น ทำให้ทรัพยากรเกิดความเสียหายเสื่อมโทรม”ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว

ทั้งหมดนี้คือความคืบหน้าล่าสุดของพ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 เขี้ยวเล็บใหม่ที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้หน่วยงานที่บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

"พรบ.บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง"...เพิ่มความมั่นคงให้ทรัพยากรทางทะเล