posttoday

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงเล่าเหตุการณ์ 24 มิ.ย. 2475

28 มิถุนายน 2558

หนังสือพระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7

โดย...ส.สต

หนังสือพระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เม.ย. 2528 กล่าวถึงพระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้าพระองค์นั้นโดยพิสดาร แต่คอลัมน์สยามอัศจรรย์ ขอนำบางส่วนจากตอนที่ว่าด้วยสมเด็จพระบรมราชินีกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตีพิมพ์ เพื่อรำลึกถึงวันที่ 24 มิ.ย. 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นพระราชดำรัสที่พระราชทานสัมภาษณ์แก่กรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย  

ขณะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในเช้าวันนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ กำลังทรงกอล์ฟอยู่กับพระราชสวามีและข้าราชบริพาร พระองค์ได้ทรงเล่าพระราชทานคณะกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2515 ตอนหนึ่งว่า

“เช้าวันนั้น รู้เรื่องกันที่สนามกอล์ฟนั่นแหละ” สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงเล่า พอเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว พระยาอิศราฯ เป็นคนไปกราบบังคมทูลให้ในหลวงทรงทราบ ในหลวงก็รับสั่งว่า ไม่เป็นไรหรอก เล่นกันต่อไปเถอะ แต่ฉันกลับก่อน จึงไม่ทราบเรื่องจนเสด็จฯ กลับมาก็รับสั่งกับฉันว่า “ว่าแล้วไหมล่ะ” ฉันทูลถามว่า “อะไร ใครว่าอะไรที่ไหนกัน” จึงรับสั่งให้ทราบว่า มีเรื่องยุ่งยาก ทางกรุงเทพฯ ยึดอำนาจและจับเจ้านายบางพระองค์ ระหว่างนั้นก็ทราบข่าวกระท่อนกระแท่นจากวิทยุ แต่ก็ไม่แน่ว่าอะไรเป็นอะไร มีเจ้านายอยู่กันหลายองค์ที่หัวหิน เช่น กรมสิงห์ (เสนาบดีกลาโหม)

ต่อมา ในหลวงก็ทรงได้รับโทรเลขมีความว่า ทางกรุงเทพฯ ได้ส่งเรือรบมาทูลเชิญเสด็จฯ กลับ ในหลวงก็รับสั่งว่า มาก็มาซิ หลังจากนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยงเศษ หลวงศุภชลาศัยก็มาถึง พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (สมุหราชองครักษ์) สั่งให้ปลดอาวุธเสียก่อนถึงจะให้เข้าเฝ้าฯ ทางวังไกลกังวลก็เตรียมพร้อมอยู่เหมือนกัน ทหารรักษาวังกองร้อยพิเศษไปตั้งปืนที่หน้าเขื่อนเสร็จแล้ว หลวงศุภฯ ก็ขึ้นมาข้างบน มาอ่านรายงานอะไรต่ออะไรก็จำไม่ได้แล้ว แต่มีความสำคัญว่า ทูลเชิญเสด็จฯ กลับโดยเรือหลวงสุโขทัย ในหลวงท่านรับสั่งว่า ไม่กลับหรอกเรือสุโขทัย พวกนั้นจึงกลับไป ระหว่างนั้นเราก็ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร บางคนก็กราบบังคมทูลว่าให้เสด็จฯ ออกไปข้างนอกเสียก่อนแล้วค่อยต่อรองกันทางนี้ ท่านรับสั่งว่า “ไม่ได้” ไม่อยากให้มีการรบพุ่งกัน เพราะจะเสียเลือดเนื้อประชาชนเปล่าๆ เจ้านายหลายองค์ก็ถูกจับตัวเป็นประกันอยู่ เพราะฉะนั้นจะยังไม่ทำอะไร แต่ก็รับสั่งว่าจะต้องมาปรึกษาฉันก่อนว่าจะไปหรือจะอยู่ เพราะฉันต้องไปกับท่าน...

ในบทความดังกล่าวเล่าถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถามความเห็นจากสมเด็จพระบรมราชินี ต่อมาทรงเล่าพระราชทาน ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ ผู้เคยเป็นราชเลขานุการในพระองค์ ขณะที่ทรงพระดำเนินเล่นในป่าที่เวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) มณฑลเซอร์เรย์ (Surrey) ประเทศอังกฤษ มีใจความว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัว ตรัสถามความเห็นจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ว่า “หญิงว่ายังไง” พระราชินีกราบบังคมทูลโดยไม่ลังเลในทำนองที่ว่า “เข้าไปตายก็ไม่เป็นไร ต้องมีศักดิ์ศรี มีสัจจะ”

ดังนั้น ในคืนของวันที่ 24 มิ.ย.นั้น ทั้งสองพระองค์กับข้าราชบริพารจึงเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ เมื่อรถไฟพระที่นั่งถึงสถานีสวนจิตรลดา เวลาประมาณ 01.00 น. สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ทรงเล่าถึงบรรยากาศในคืนนั้นว่า...แหม เงียบจริงๆ พอในหลวงเสด็จฯ จากรถไฟ มีราษฎรคนหนึ่งอยู่ที่สถานีกราบถวายบังคมแล้วก็ร้องไห้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นใคร อายุประมาณ 30 กว่าเห็นจะได้ ในหลวงไม่ได้รับสั่งอะไร เราก็กลับมากันที่วังนี่ ตลอดทางเงียบแล้วก็เศร้า เราผ่านพระที่นั่นอนันตสมาคมก็ไม่มีอะไร มาทราบเอาทีหลังว่า บนพระที่นั่งอนันตฯ เขาตั้งปืนไว้เต็มหมด เพราะรู้ว่าเราจะมาทางนั้น...

ในวันที่ 25 มิ.ย. พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะปฏิวัติก็ได้มาเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดย “...มีรถถังมาสัก 4-5 คันเห็นจะได้ จอดอยู่หน้าวัง” เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษในการที่ได้ล่วงละเมิดทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน

อีกสองวันต่อมา คือ วันที่ 27 มิ.ย. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงการปกครองและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งได้ประกาศใช้นับแต่วันที่ทรงลงพระปรมาภิไธย

จึงกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เป็นพระมหากษัตริย์ไทยและสมเด็จพระบรมราชินีพระองค์สุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีพระองค์แรกแห่งระบอบประชาธิปไตยของชาติไทย และทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่พระราชทานรัฐธรรมนูญทั้งฉบับชั่วคราวและฉบับถาวร วันที่ 10 ธ.ค. 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมทั้งทรงประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทย จำนวน 20 นาย โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรี