posttoday

ชำแหละ "แชร์ลูกโซ่" ธุรกิจหลอกฟันเงิน

26 เมษายน 2558

แม้จะมีการเตือนให้ระวังการลงทุนลักษณะดังกล่าว แต่เหยื่อจำนวนไม่น้อยก็มักยอมเสี่ยงเพราะความโลภ

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

ปัญหาเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ หรือการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งที่ความเป็นจริงมีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยที่มีหน้าที่ปราบปรามเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้ปัญหาเหล่านี้ลดลง อีกทั้งยังมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย กลับเป็นช่องทางที่เอื้อต่อการกระทำความผิดในรูปแบบ “แชร์ลูกโซ่” ให้มีความหลากหลายซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยแต่ละรายสร้างความเสียหายให้กับประเทศรวมแล้วนับพันล้านบาท

ถือเป็นภัยร้ายที่กำลังทำลายระบบทางเศรษฐกิจของสังคมและประชาชนในทุกระดับ

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลด้านคดีของ
ดีเอสไอตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีคดีพิเศษเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ 99 คดี สอบสวนเสร็จสิ้นไปแล้ว 75 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 24 คดี อยู่ระหว่างการสืบสวนอีกกว่า 43 คดี เมื่อนำมาแยกลักษณะของการกระทำผิดอย่างกว้างๆ พบว่าแผนประทุษกรรมในการกระทำความผิดนั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตของมนุษย์

โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ประชาชนระดับรากหญ้า ส่วนใหญ่แชร์ลูกโซ่จะถูกแฝงตัวมาในรูปแบบการ “ฌาปนกิจสงเคราะห์” เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ในด้านพื้นฐานของชีวิตที่มีความต้องการให้ลูกหลานมีเงินเป็นทุนใช้จ่ายหลังเสียชีวิต โดยไม่ให้ส่งผลกระทบกับคนที่อยู่ข้างหลังได้รับความเดือดร้อน

กลุ่มที่ 2.ประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นคนระดับกลาง รูปแบบของแชร์ลูกโซ่จะมาในรูปของการชักชวนร่วมลงทุนในสินค้าหรือบริการต่างๆ ทั้งยังมีการแฝงรูปแบบของธุรกิจขายตรง เช่น แชร์น้ำมันหอมระเหย แชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์พวงมาลัย แชร์ลอตเตอรี่ เป็นต้น เนื่องจากผู้ลงทุนคาดหวังในผลกำไร และเป็นการลงทุนที่สะดวก ง่าย และไม่มีความซับซ้อน

กลุ่มที่ 3. ผู้มีเงินทุนและมีความรู้สูง คนร้ายจะพัฒนารูปแบบการลงทุนเป็นเรื่องการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การลงทุนเพื่อเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน หรือการชักชวนให้ลงทุนซื้อขายโลหะมีค่า เช่น ทองคำ หุ้น ค่าเงิน เนื่องจากเป็นรูปแบบการลงทุนที่ถูกต้อง และมีผลตอบแทนค่อนข้างสูงให้เห็นในต่างประเทศ ประชาชนจึงหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อได้โดยรู้ไม่ทันกลโกง

พ.ต.ต.วรณันให้ข้อสังเกตความแตกต่างระหว่าง “ธุรกิจการขายตรง” กับ “แชร์ลูกโซ่” ว่า “ธุรกิจการขายตรง” จะมีค่าธรรมเนียมในการเริ่มต้นธุรกิจใช้ทุนต่ำ ส่วนใหญ่เป็นค่าสมัครและคู่มือการดำเนินงานธุรกิจเท่านั้น มีการจำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิด มีคุณภาพสูง ยอดขายมาจากการขายสินค้า โดยรายได้และตำแหน่งในสายงานขึ้นอยู่กับการทำงานและยอดขายสินค้าและบริการ มีการจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และดำเนินการกิจการตามแผนธุรกิจที่แจ้งไว้ ส่วนเรื่องค่าตอบแทนสมเหตุสมผล มีสถานประกอบการที่มั่นคง

ส่วน “แชร์ลูกโซ่” มีค่า ธรรมเนียมสมัครใช้เงินลงทุนสูง ผู้สมัครต้องจ่ายค่าฝึกอบรมและบังคับซื้อสินค้าหรือบริการ ไม่สนใจการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ มีสินค้าบังหน้า คุณภาพต่ำ ไม่ระบุแหล่งที่มาชัดเจน จ้างผลิตโดยไม่มีโรงงานของตัวเอง โดยผลกำไรส่วนใหญ่มาจากค่าสมัครสมาชิก รายได้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกที่หามาได้ในสังกัด เรียกว่า Up Line ไม่สนใจยอดขาย เป็นการจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรงบังหน้ากับ สคบ. แต่ไม่ดำเนินการตามที่จดทะเบียน หรือไม่ได้มีการจดทะเบียนขออนุญาต อีกทั้งค่าตอบแทนมีอัตราสูงเกินความเป็นจริงด้วย สถานประกอบการ ไม่มั่นคงถาวร

การจะระงับยับยั้งปัญหาแชร์ลูกโซ่ให้มีประสิทธิภาพต้องดำเนินการโดยกลไกของรัฐ 2 ระดับ คือ 1.ระดับพื้นที่ มีองค์กรที่เกี่ยวข้องในกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาชัดเจน คือศูนย์ดำรงธรรมระดับจังหวัด อำเภอ ปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ใกล้ชิดกับปัญหามากที่สุด

2.ระดับส่วนกลาง  คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลไกดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกัน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นต้น ทั้งหมดจะช่วยกันทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่ในอนาคต 

มหากาพย์ "ธุรกิจหลอกฟันเงิน"

ปรากฏการณ์แชร์ลูกโซ่ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสร้างความเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง โดยมีประชาชนตกเป็นเหยื่อนับไม่ถ้วนและแพร่ระบาดไปทุกหย่อมหญ้าอย่างรวดเร็ว ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ไม่ได้เน้นขายของขายบริการ แต่เน้นการหาสมาชิกจำนวนมากๆ ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนจากประชาชนที่เป็นสมาชิก เนื่องจากได้ผลการจ่ายค่าตอบแทนที่สูงกว่าปกติ

คดีแชร์ลูกโซ่ที่มีผู้เสียหายมากที่สุดคือ คดีแชร์ลอตเตอรี่ ที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในจังหวัดต่างๆ รวม 13 แห่ง มีสัญญาซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกิดขึ้น 20 สัญญา คิดเป็นจำนวนสลากตามสัญญา 183,000 เล่มหรือ 18,300,000 ฉบับ ทั้งๆ ที่ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นนักการเมืองกับพวกที่ไปหลอกลวงสหกรณ์ต่างๆและประชาชน ไม่ได้รับโควตาสลากจากสำนักงานสลากกินแบ่ง
รัฐบาลเลยแต่ประการใดมีเพียงรายเดียวที่ได้รับโควตาสลากการกุศลจากสำนักงานสลากฯเพียงงวดละ 15 เล่ม เท่านั้น

“สหกรณ์ต่างๆ ต้องจ่ายเงินค่าจองซื้อสลากให้กับขบวนการหลอกลวงไปเป็นเงินทั้งสิ้น 7,556ล้านบาท โดยคดีนี้มีผู้เสียหายที่เข้ามาร้องทุกข์กว่า 1,500 รายมูลค่าความเสียหายมากกว่า8,000 ล้านบาท”

คดีแชร์ข้าวสาร เกิดขึ้นช่วงปี 2550 กระจายไปทั่วประเทศเจ้าหน้าที่ฟ้องดำเนินคดีกว่า 6 คดีมีผู้เสียหายรวม 2,100 ราย แต่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าผู้เสียหายจากแชร์ข้าวสารมีมากกว่า 5 หมื่นราย แต่มีกระบวนการขัดขวาง ข่มขู่ คุกคามผู้เสียหายที่จะเข้าพบพนักงาน
สอบสวน ประกอบกับผู้เสียหายบางรายเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคมในภาคธุรกิจ เกรงว่าจะส่งผลกระทบกับชื่อเสียงและธุรกิจของตน จึงไม่ประสงค์จะเข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี แชร์ข้าวสารสร้างความเสียหายกว่า 538 ล้านบาท มีผู้ถูกดำเนินคดี71 ราย

แชร์หลอกลวงให้ประชาชนนำเงินไปลงทุนผ่านอินเทอร์เน็ตในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือเงินยูโร เงินปอนด์ และเงินสกุลอื่นๆ ซึ่งเป็นการหลอกลวงที่อันตรายเพราะประชาชนไม่มีโอกาสได้ทราบเลยว่าบริษัทดังกล่าวได้ประกอบธุรกิจจริงหรือไม่ โดยสืบสวนพบว่าไม่มีการทำธุรกิจใดๆเป็นเพียงการนำเงินลงทุนจากสมาชิกใหม่ไปจ่ายหมุนเวียนให้กับผู้ลงทุนรายเดิมเท่านั้น หรือที่เรียกกันว่า มันนี่เกม มีคดีเกิดขึ้นจำนวน 3 คดี มีผู้เสียหาย 320ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 80 ล้านบาท ส่วนผู้ต้องหาถูกจับกุมดำเนินคดี18 ราย

คดีแชร์ก๋วยเตี๋ยว อ้างการสร้างรถเพื่อขายก๋วยเตี๋ยวทั้งที่จริงไม่มีการขาย หรือทำรถขึ้นมาหลอกเพียงไม่กี่คัน เพื่อให้เห็นว่ามีการดำเนินกิจการ ชวนให้ประชาชนหลงเชื่อ มีประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อกว่า 1,054 ราย สร้างความเสียหายไว้กว่า 223 ล้านบาทสามารถตามจับกุมผู้กระทำผิดได้7 ราย

คดีแชร์ยางพารา ซึ่งเป็นลักษณะการหลอกให้ลงทุนเก็งกำไรราคายางในขณะนั้น เช่นราคาในขณะนี้ 80 บาท หากซื้อตอนนี้ในอนาคตจะสามารถขายราคาได้ 90 บาท ช่วงแรกผู้ร่วมลงทุนจะได้กำไรจากต้นทุนที่ลงไป จึงเป็นแรงดึงดูดใจให้เกิดการร่วมลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ คดีแชร์ยางพาราระบาดในพื้นที่ จ.ขอนแก่นและกระบี่ มีผู้ตกเป็นเหยื่อกว่า2,000 ราย มูลค่าความเสียหาย 440 ล้านบาท มีผู้ต้องหา 14 ราย

ล่าสุด คดีแชร์ลูกโซ่ยูฟัน ของบริษัท ยูฟัน นั้น หลังจากมีผู้สมัครเป็นสมาชิกแล้วก็จะได้รับเงินสกุล“ยูโทเคน” แทนจำนวนเงินที่นำมาลงทุน โดยเงินสกุลดังกล่าวบริษัทได้กำหนดขึ้นมา เพื่อใช้ซื้อ-ขายสินค้าระหว่างสมาชิกด้วยกัน และจะมีการซื้อ-ขายกันในระบบอีคอมเมิร์ซเท่านั้น โดยผู้ที่ถือเงินสกุลดังกล่าวไว้ บริษัทอ้างว่าสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดจริงในมูลค่าสูงกว่า ทำให้มีคนหลง
เชื่อไปลงทุนกับบริษัทกว่า 1.2 แสนราย มูลค่าความเสียหายกว่า3.8 หมื่นล้านบาท

พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีตผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษดีเอสไอ มือปราบแชร์ลูกโซ่ ระบุว่า รูปแบบของแชร์ลูกโซ่เน้นการหาสมาชิกเพิ่มเรื่อยๆ มีหัวหน้าทีมมีการให้โอนเงินเข้าไปร่วมลงทุนส่วนแผนการตลาดต่างๆ ก็จะมีค่าตอบแทนสูงเพื่อเป็นจุดดึงดูดคน และนั่นคือจุดอ่อนที่ประชาชนหลายคนต้องพลาดตกเป็นเหยื่อ

ส่วนใหญ่เกิดจาก “ความโลภ” กับผลตอบแทนที่สูงกว่าท้องตลาดจนเกินความเป็นจริง แม้จะมีการเตือนให้ระวังการลงทุนลักษณะดังกล่าว แต่ด้วยผลกำไรคนจำนวนไม่น้อยยอมเสี่ยงลงทุนกับเงินออมที่เก็บมาตลอดทั้งชีวิตสุดท้ายต้องสูญเปล่าเพราะผลตอบแทนล่อตาล่อใจ