posttoday

"ภาพสยองบนซองบุหรี่" เลิกสูบได้จริงหรือแค่ชวนอ้วก?

06 เมษายน 2558

ภาพอันน่าสยดสยองบนซองบุหรี่ จะช่วยลดปริมาณนักสูบได้จริงหรือไม่ วันนี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจน

โดย...นรินทร์ ใจหวัง

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้ภาพคำเตือนพิษภัยบนซองบุหรี่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วยขนาด 85% ของพื้นที่ซองบุหรี่ ประกอบด้วยภาพเส้นเลือดในสมองแตก ภาพมะเร็งปาก มะเร็งปอด ภาพเด็กทารกนอนหายใจรวยรินถูกสายยางระโยงระยางเนื่องจากสูดรับพิษควันบุหรี่ และอีกหลายต่อหลายภาพ ทำให้ประเทศไทยแซงหน้าทุกประเทศไปเป็นที่เรียบร้อย

ล่าสุดเพิ่งมีการออกนโยบายเปลี่ยนภาพและข้อความบางส่วนให้ "โดดเด่นสะดุดตา" มากกว่าเดิม เพื่อกระตุ้นเหล่าบรรดาสิงห์อมควันอีกครั้ง คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนนักสูบลงได้จริงหรือ

เพิ่มพื้นที่ใหญ่ขึ้น=การสื่อสารที่ดีกว่า?

ทพญ. ศิริวรรณ ทิพยรังสฤษฏ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) อธิบายว่า จากการเพิ่มเนื้อที่คำเตือนบนซองบุหรี่จาก 55% เป็น 85% แม้ยังไม่มีการวิจัยทั้งในและนอกประเทศมายืนยัน แต่สำหรับข้อมูลการวิจัยการเพิ่มเนื้อที่คำเตือนบนซองยาสูบจาก 50% เป็น 55 % ก่อนหน้านี้พบว่าสามารถทำให้คนรับรู้พิษภัยของยาสูบเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกอยากเลิกสูบมากขึ้น ทว่ายังไม่มีการสรุปว่าเห็นภาพชัดเจนว่าเลิกได้จริงหรือไม่เท่านั้น การเพิ่มเนื้อที่เท่ากับการสื่อสารที่ดีกว่า ซึ่งการเลิกบุหรี่นั้นยังคงต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆอีก เช่น การสนับสนุนของครอบครัว และปัญหาสุขภาพของผู้สูบเองด้วย

“การเพิ่มเนื้อที่คำเตือนบนซองบุหรี่มันเท่ากับเพิ่มการรับรู้ การอยากเลิก ประเด็นหลักคือเราได้สื่อสารมากขึ้น แต่การทำลักษณะนี้ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ อย่างน้อยทุก 2ปี เพื่อเป็นการกระตุ้น คล้ายกับว่านานๆเข้า คนก็จะชินไปเอง ภาพบางภาพเราจะยังคงไว้ แต่ข้อความข้างซองเราพบว่าหลายคนรู้สึกเฉยๆ เหมือนเขายังไม่รับรู้ถึงความรุนแรงมากนัก เราต้องทำการเปลี่ยนใหม่หมด”

ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ มองว่าแม้จะต้องเผชิญอุปสรรคจากการบรรดาบริษัทบุหรี่ต่างชาติยักษ์ใหญ่ไล่ฟ้องร้องประเด็นนี้อยู่ถึง 3 บริษัท แต่ศาลยังไม่ได้ตัดสินชี้ขาด ทั้งยังให้ไทยสามารถดำเนินการต่อได้ ตรงนี้ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีของไทย

“บริษัทบุหรี่มาฟ้องร้องว่าเราใช้อำนาจมากเกินไป ทำให้เขายุ่งยาก ต้องเปลี่ยนแท่นพิมพ์ ต้องจัดเรียงภาพทั้ง 10 แบบ ให้อยู่ในคอตตอนเดียวกัน ซึ่งศาลไทยมองว่าการทำแบบนี้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากกว่า จึงมีผลบังคับใช้ต่อไป บริษัทบุหรี่เขาก็ทำได้มาตลอด  ไม่เห็นเสียหาย คือถ้าคุณรู้สึกว่ายุ่งยากคุณก็ขึ้นราคาซิ แต่เขาก็ไม่ยอมขึ้นเอง”

ทพญ. ศิริวรรณ เชื่อว่า การขยายภาพจะยังคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะตัดสิน ซึ่งเป็นผลดีต่อคนไทยดีอยู่แล้ว ทว่าเรื่องสำคัญอีกประการที่ไทยสามารถทำได้เลยคือ จัดการเรื่องคำเตือนบนซองยาเส้นให้ชัดเจนขึ้นและการเพิ่มราคาสินค้าเหล่านี้ที่ต้องปรับขึ้นทั้งราคาที่ต่ำที่สุด ไม่ใช่ปรับแต่ราคาเฉลี่ย เพื่อลดอัตราคนเปลี่ยนจากบุหรี่ที่แพงขึ้นให้หันมาสูบยาเส้นแทน

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และอดีตประธานรัฐภาคกฏหมายบุหรี่โลก ปี 2550-2551 มองว่า ไทยไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ทำให้อาจมีสิทธิ์แพ้คดีได้ แต่โชคดีที่บริษัทบุหรี่ไม่ได้ฟ้องอนุญาโตตุลาการ แต่เลือกฟ้องศาลไทยแทน ซึ่งแม้ศาลไทยจะเลือกคุมครองคนไทยมากกว่า แต่คำตัดสินก็ยังไม่ชี้ขาดอย่างชัดเจน

“ยังไม่มีผลวิจัยจากประเทศใดว่า ถ้าเปลี่ยนภาพคำเตือนมาเป็น 85% จะช่วยลดนักสูบลงได้อย่างไร สำหรับประเทศอื่นที่ใกล้เคียงกับเราก็คือ อุรุกวัย 80 % ก็โดนบริษัทฟิลลิป มอร์ริสฟ้องไปแล้ว ยังลูกผีลูกคนอยู่เลย ทั้งที่เขาเล็กกว่าเราเสียด้วยซ้ำ บริษัทบุหรี่มีเงินมหาศาล สามารถจ้างนักฏหมายเก่งๆได้ เขามั่นใจว่าจะชนะถึงลงทุนฟ้องร้อง อุรุกวัยประเทศเล็กๆแบบนั้นเขายังเรียกค่าเสียหายกว่า 25 ล้านเหรียญแบบยังไม่เบ็ดเสร็จ ถ้าไทยเเพ้เราต้องเสียค่าชดใช้เป็นเงินมหาศาล นี่เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ซึ่งเราโชคดีที่ยังไม่โดนอนุญาโตตุลาการ เพราะเรายังไม่มีสัญญาการลงทุนระหว่างประเทศ ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเข้าร่วม เมื่อนั้นก็เข้าล็อกเขาเลย"

"ภาพสยองบนซองบุหรี่" เลิกสูบได้จริงหรือแค่ชวนอ้วก?

ขึ้นภาษี-ควบคุมโฆษณา-ห้ามสูบในที่สาธารณะ

ความคิดเห็นของมือปราบบุหรี่ผู้โด่งดัง นพ.หทัย ยืนยันว่ายาดี-ยาแรงที่ทั่วโลกสรุปแล้วว่าสามารถลดนักสูบลงได้จริงๆนั้น ได้แก่ 1.การขึ้นภาษีบุหรี่ 2.ปราบปรามการโฆษณาและส่งเสริมการขาย 3.กวดขันการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างเคร่งครัด ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐต้องปฏบัติอย่างเคร่งครัดจึงจะได้ผลจริง

ยาขนานเอก ทำให้คนสูบบุหรี่ลดลง คือ การขึ้นภาษีบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพ ราคาบุหรี่ที่สูงขึ้นกว่าเดิม 10 % จะลดนักสูบลงถึง 8% ได้ผลแน่สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาแบบเรา แต่ที่ผ่านมาเราทำไม่ได้ผล ทั้งที่ขึ้นมาหลายรอบ  เพราะว่าบริษัทบุหรี่ฉลาด เงินเยอะ สายป่านยาว เราขึ้นภาษีแต่เขาไม่ยอมขึ้นราคาตาม ยอมขาดกำไรไป เพราะฉะนั้นคนยังสูบเหมือนเดิม กระทรวงการคลังเอง ก็ไม่ได้สนใจจะเเก้ปัญหาตรงนี้ ยาขนานเอกจึงไม่ได้ผล

ยาขนานที่2 คือ การปราบปรามการโฆษณาแฝง การส่งเสริมการค้า ถ้าปราบได้หมด ประชาชนจะลดการสูบบุหรี่ลงได้ 7% อันนี้เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข  ที่ผ่านมาถือว่ายังไม่ได้ทำอย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ของที่มาวางขายในตลาด ซองใส่บุหรี่ มีตราเท่ๆ ต่างหู ที่ครอบโทรศัพท์ลาย Marlboro, Mild seven ,Camel  สิ่งเหล่านี้มีงานวิจัยบอกว่าไทยมีเยอะมาก มากกว่าประเทศอื่นที่เขากฏหมายล้าหลังกว่าเราซะอีก ทั้งที่เรามีกฏหมายดีมาก จริงๆจับได้เลย แต่การบังคับใช้กฏหมายของเราหย่อนยานมากๆ ยาขนานที่ 2 จึงใช้ไม่ได้

ยาขนานที่ 3 การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ยังมีคนฝ่าฝืนอยู่เยอะมาก การปราบปรามก็น้อยมากเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้จริงจัง การควบคุมของไทยเราอ่อนเเอจนไม่รู้จะพูดอย่างไร เป็นเรื่องหน้าเศร้ามาก ถ้าเราควบคุมเรื่องนี้ได้ ผลคือสามารถลดผู้สูบลงอีก 7% ขณะที่ประเทศออสเตรเลีย สิงคโปร์ เขาทำได้ และลดคนสูบลงไปแล้วเหลืออยู่ประมาณ 15 % แต่ภาพรวมของเราทั้งเพศชายหญิง คือประมาณ 19 % เลย ลองคิดดูว่า ถ้าเราทำได้จริงจังทั้ง 3 ข้อ จะลดผู้สูบลงไปได้เยอะ

ไม่ต้องพูดอะไรมาก อย่างในรัฐสภา ใครลองไปเข้าห้องน้ำสิ เหม็นบุหรี่ เพราะคนเข้าไปดูดบุหรี่ในห้องน้ำ แล้วก็ขยี้ๆ เศษลงพื้่น ขนาดเป็นสถานที่สำคัญของประเทศนะ แต่กลับทำผิดเอง นี่เป็นความจริงที่เกิดขึ้น ผมขอแนะว่าเมื่อเจ้าหน้าที่จะเข้าไปจับกุมตามไนค์คลับ ผับ หรือภัตตาคารที่ไม่ยอมควบคุมการสูบบุหรี่ ควรมีนักข่าวไปด้วย เหมือนสมัยที่ผมรับราชการอยู่ เพราะนักข่าวเขาจะเอาไปเขียนสื่อข่าวออกไป สถานที่อื่นๆ เมื่อเห็นข่าวก็จะพลอยเกรงกลัวไปด้วย ต้องจับและประกาศเผยแผ่ข่าวสำคัญมากครับ” มือปราบบุหรี่ทิ้งท้ายอย่างมีนัยสำคัญ

คำสารภาพจากสิงห์อมควัน

แม้จะยังไม่มีผลวิจัยออกมาชี้ชัดว่า เมื่อนักสูบเห็นภาพสยดสยองบนซองื่มีขนาดใหญ่ได้อย่างชัดเจนนั้น จะช่วยลดอัตรานักสูบลงได้จริงหรือไม่ แต่สำหรับ เยาวดี สายพันธ์ อีกหนึ่งในผู้สูบบุหรี่ ยอมรับว่าไม่ชื่นชอบภาพที่อยู่บนซองมากนัก ทำให้ทุกครั้งที่ซื้อบุหรี่ใหม่จะคอยภาวนาให้คนขายหยิบซองที่ภาพดูสยองน้อยที่สุด เช่น ภาพคนนอนตายตัวซีด

“ไม่ชอบภาพเลย แต่คนสูบยังไงเขาก็สูบ เพราะเขาติดมันแล้ว บางครั้งเราก็ใช้วิธีซื้อแบบซองอ่อนแล้วเอามาใส่ซองบุหรี่แบบแข็งที่ซื้อจากเมืองนอก เช่น ซองบุหรี่ที่ญี่ปุ่น จะไม่มีภาพแบบนี้เลย แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆก็พยายามไม่มองภาพบนซองแทน แต่เชื่อมั้ย ช่วงแรกที่บุหรี่ขึ้นราคา คิดว่าจะไม่ซื้อแล้ว บางยี่ห้อซองละ 92 บาท ถือว่าแพงมากนะ เราหยุดไปพักหนึ่งแต่ก็กลับมาสูบต่อ”

บอม นักเรียนอาชีวศึกษาวัย 17 ปี นักสูบหน้าใหม่ ยอมรับว่า ถ้าบุหรี่จะเพิ่มราคาขึ้นก็คงต้องลดจำนวนการสูบจากวันละซองเป็นวันละครึ่งซองแทน

“บุหรี่ที่ผมสูบซองละ 40 บาท ถ้าขึ้นราคาเป็น 50บาท ก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน อาจจะไม่เลิก แต่ลดจำนวนสูบเอา ถ้าวันไหนไม่ค่อยอยากดูดเท่าไหร่ ก็ซื้อแบ่งขายแค่ 10 บาทก็พอ เรื่องภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ตอนแรกก็รู้สึกว่ามันน่ากลัวนะ แต่ก็ไม่ค่อยได้สนใจ ยิ่งคำเตือนข้างซองแทบไม่ได้อ่านเลยด้วยซ้ำ เหมือนมันไม่ค่อยมีผลกับการอยากเลิกบุหรี่เท่าไหร่  ของแบบนี้มันขึ้นอยู่กับตัวเรามากกว่า อีกอย่างมันเริ่มชินๆตาไปแล้วด้วย”

ถึงแม้จะไม่มีผลวิจัยใดใดรองรับว่าคำเตือนบนซองบุหรี่จะช่วยลดปริมาณนักสูบได้ แต่เชื่อว่าทุกคนก็ทราบแก่ใจดีโดยไม่ต้องคอยให้ใครเตือนว่า การเลิกสูบบุหรี่นั้นอยู่ที่ใจเราล้วนๆ

ภาพจาก โพสต์ทูเดย์, ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)