posttoday

พลิกปูม15 ปีคดีฉาว ธัมมชโย

02 มีนาคม 2558

เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่สถานะของพระธัมมชโยถูกตั้งคำถามบนฐานความเคลือบแคลงของสังคม

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

2 ใน 5 ฉบับของพระลิขิต สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งร่างขึ้นเมื่อปี 2542 ย้ำถึงสถานะของพระธัมมชโย ว่าเข้าข่าย “อาบัติปาราชิก” แล้ว

“เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ” ความตอนหนึ่งตามพระลิขิตฉบับที่ 2

“การโกงสมบัติผู้อื่นตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไป คือประมาณไม่ถึง 300 บาทในปัจจุบัน ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิกฐานผิดพระธรรมวินัย ... ที่ประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรก็เพื่อเตือนให้รู้ทั่วกันว่า ผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั้นไม่ใชพระในพุทธศาสนา เป็นเพียงผู้นำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง เป็นพระปลอม” ความตอนหนึ่งตามพระลิขิตฉบับที่ 3

เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่สถานะของพระธัมมชโยถูกตั้งคำถามบนฐานความเคลือบแคลงของสังคม ทั้งพฤติกรรมที่หมิ่นเหม่ต่อพระธรรมวินัย การปฏิบัติตัว หลักคำสอน หรือแม้แต่ความโอ่อ่าร่ำรวยของวัดพระธรรมกาย

พระธัมมชโยเดิมชื่อ ไชยบูลย์ สุทธิผล เป็นบุตรของจรรยงค์ และจุรี สุทธิผล เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 22 เม.ย. 2487 เวลา 18.00 น. ณ คุ้งน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

จุดสำคัญที่ทำให้ชีวิตไชยบูลย์พลิกผัน คือการเข้าไปเป็นศิษย์เรียนการปฏิบัติธรรมกับแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ขณะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ และได้รับการถ่ายทอดวิชาธรรมกายอีกทอดจากแม่ชีทองสุก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี ก็เข้าอุปสมบทที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อปี 2512 โดยมีพระเทพวรเวที ปัจจุบันคือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์  (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ธมฺมชโย” แปลว่า “ผู้ชนะโดยธรรม”

ในปีนั้นพระธัมมชโยได้รับการบริจาคที่ดิน 196 ไร่ จาก วรณี สุนทรเวช จึงตั้งเป้าที่จะสร้างวัดและหาเงิน 100 ล้านบาท เป็นทุนสำหรับปฏิบัติธรรมโดยจะไม่เรี่ยไรบุญอีก

ปี 2513 ที่ดินผืนดังกล่าวถูกพัฒนาเป็นสำนักสงฆ์ตามระเบียบการสร้างวัด โดยให้ชื่อว่า “ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม” จากนั้นตั้งเป็น “วัดวรณีธรรมกายาราม” ในปี 2520 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระธรรมกาย” ในปี 2524 และในปีนั้นเองวัดก็สามารถระดมเงินได้ตามเป้า 100 ล้านบาท

หลังจากนั้น พระธัมมชโยก็ผลิตโครงการบุญขึ้นมากมาย อาทิ การสร้างธุดงคสถาน กว้านซื้อที่ดินรอบวัด 2,000 ไร่ การสร้างโครงการมหาธรรมกายแห่งโลก ให้ธรรมกายกลายเป็นศูนย์ศาสนาพุทธในประเทศไทย และเป็นศูนย์กลางแห่งโลกโดยก่อกำเนิดโครงการสร้างมหาปทุมเจดีย์ขึ้นมาก่อนที่จะล้มพับไป และสุดท้ายก็คือกลายเป็นโครงการสร้างมหาธรรมกายเจดีย์

จากนั้นไม่นานวัดพระธรรมกายเริ่มเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวมากมาย มีทั้งคดีทางโลกและคดีทางธรรม

คดีทางธรรม ธัมมชโยถูกร้องว่าต้องอาบัติปาราชิกเพราะอวดอุตริมนุสธรรมบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการสอนว่านิพพานมีตัวตน คนที่ทำบุญมากจะได้เข้าใกล้พระนิพพาน รวมถึงการประกาศกร้าวว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ผิด

นอกจากนี้ ยังพบพฤติกรรมที่เข้าข่ายอุตสาหกรรมผลิตบุญ ไม่ว่าจะเป็นการโน้มน้าวให้บริจาคเงินทำบุญ หากไม่มีก็มีกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการทำบุญ สามารถผ่อนจ่ายเป็นรายเดือนได้ การทำบุญมากจะร่ำรวย การทำบุญสามารถรักษาโรคร้ายได้ หรือการอวดอ้างเรื่องราวปาฏิหาริย์ เช่น สามารถเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ หรือแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ผู้ก่อตั้งวัดพระธรรมกายที่สามารถเหาะไปปัดระเบิดปรมาณูจากประเทศไทยไปตกยังประเทศญี่ปุ่นได้

กระนั้นการดำเนินการเรื่องพระธรรมวินัยกับพระธัมมชโยก็เป็นที่ยุติ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2549 เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีในฐานะผู้พิจารณาในขณะนั้น ได้ตรวจสอบลักษณะของผู้กล่าวหา คือสมพร เทพสิทธา และมีความเห็นว่ามีความบกพร่อง จึงมีคำสั่งไม่รับคำกล่าวหานั้นและได้คืนตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายให้พระธัมมชโยดังเดิม

คดีทางโลก  มีผู้ร้องเรียนให้ดำเนินคดีกับพระธัมมชโยหลายข้อหา

ปมของเรื่องเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2541 ในโครงการก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ ระดมทุนด้วยการขายพระธรรมกายประจำตัว 1 ล้านองค์ สนนราคาองค์ละ 1-3 หมื่นบาท รวมเงินที่วัดพระธรรมกายได้รับไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้วัดพระธรรมกายยังมีความเกี่ยวพันกับธุรกิจจัดซื้อที่ดินอีกหลายสิบบริษัท พบว่ามีลูกศิษย์และคนใกล้ชิดพระธัมมชโยเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการ

กำไรจากการประกอบการถูกนำไปต่อยอดด้วยการกว้านซื้อที่ดินรอบวัดอีกกว่า 2,000 ไร่ รวมทั้งยังมีการซื้อที่ดินใน จ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ เตรียมพร้อมสำหรับการเปิดกิจการเหมืองทองคำ โดยที่น่าเคลือบแคลงที่สุดคือที่ดินเหล่านั้นล้วนแต่ปรากฏชื่อของคนใกล้ชิดพระธัมมชโยเป็นเจ้าของ

ในปีเดียวกัน พระอดิศักดิ์ วิริสโก อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย ได้กล่าวหาพระธัมมชโยว่ายักยอกทรัพย์และที่ดินที่ญาติโยมบริจาคให้กับวัดไปเป็นของตัวเอง กระทั่งกรมที่ดินเข้ามาตรวจสอบและพบว่าพระธัมมชโยมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินกว่า 400 แปลง รวมพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ในพื้นที่ จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และเชียงใหม่

มหาเถรสมาคม (มส.) รับลูกด้วยการเข้าตรวจสอบและได้ข้อสรุปว่าเป็นจริงตามที่ถูกกล่าวหา จึงมีมติให้วัดพระธรรมกายยุติการเรี่ยไรเงินนอกวัด  ก่อนที่กรมการศาสนาได้เข้าแจ้งความกับกองปราบปราม มีพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้องพระธัมมชโย รวมระยะเวลาร่วม 7 ปี จากปี 2542-2549 หลายฝ่ายมองว่าพระธัมมชโยไม่น่าจะรอด แต่ที่สุดแล้วคดีก็พลิกมีการถอนคำฟ้องในวันที่ 21 ส.ค. 2549 

ด้วยเหตุผลว่า พระธัมมชโยได้คืนทั้งที่ดินและเงินจำนวน 959.3 ล้านบาท ให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว!!

“การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชครบถ้วนทุกประการแล้ว ... หากดำเนินคดีกับจำเลยต่อไปอาจก่อให้เกิดความแตกแยกในศาสนจักรและไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ถอนฟ้องคดีนี้” อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ในขณะนั้นอธิบายเหตุผล

เป็นการถอนฟ้องในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับวัดพระธรรมกาย ทั้งจากแกนนำพรรคไทยรักไทยและเครือข่ายบริวารรัฐบาลยุคนั้น

ผ่านมา 9 ปี มีการเรียกร้องให้รื้อฟื้นคดีพระธัมมชโยยักยอกทรัพย์ใหม่อีกครั้ง...